ไทยพบพม่า : ที่มาของกองกำลังติดอาวุธในพม่ากรณีของกะเหรี่ยง

กองกำลังของชาวมอญในพม่าตอนล่างมิได้มีความเข้มแข็ง จำนวนทหาร และพลวัตเท่ากับกองทัพของกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) นอกจากนี้ ชาวพม่ายังมีทัศนคติต่อชาวมอญที่แตกต่างออกไปจากกะเหรี่ยง อาจเป็นเพราะชาวมอญส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และมีวัฒนธรรมร่วมกับชาวพม่า ในปัจจุบัน มีชาวมอญที่อาศัยอยู่ในพม่าและประเทศไทยราว 1 ล้านคน เช่นเดียวกับกรณีของกะเหรี่ยง ความขัดแย้งระหว่างชาวมอญกับกองทัพพม่าเกิดขึ้นหลังพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 (พ.ศ.2488) และความพยายามของกองทัพพม่าที่จะปกป้องอัตลักษณ์และฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และการสร้างชาติสมัยใหม่ที่มีชาวพม่าเป็นผู้นำ

ขบวนการชาตินิยมมอญ ที่เป็นทั้งขบวนการทางการเมืองและทางวัฒนธรรม และต้องการชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวมอญแตกต่างจากของพม่า เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1945 เมื่อมีการก่อตั้ง United Mon Association (UMA) ขึ้นโดย นาย โป โช (Nai Po Cho) อาจารย์สอนภาษาอังกฤษชาวมอญที่นับถือศาสนาคริสต์ ความเคลื่อนไหวของชาวมอญในยุคแรกคือการฟื้นฟูอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของชาวมอญ นาย โป โช เป็นคนแรกที่กำหนดวันชาติของชาวมอญ (เป็นวันที่ชาวมอญเชื่อกันว่าเป็นวันที่เมืองพะโค เมืองหลวงของชาวมอญ ก่อตั้งขึ้นมา) ในช่วงแรกนี้ ขบวนการชาตินิยมมอญยังไม่มีการใช้กำลังทางทหาร และยังไม่ได้มีการนำแนวคิดแยกตัว (separatist movement) เข้ามาปลุกกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมของชาวมอญ

นักการเมืองและนักชาตินิยมมอญมีความแตกต่างกับนักชาตินิยมกะเหรี่ยง เพราะไม่ได้มีความขัดแย้งกับออง ซาน และพรรค AFPFL อันเป็นพรรคชาตินิยมที่ถือเสียงข้างมากในเวลานั้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และชาวมอญยังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนขบวนการชาตินิยมพม่าด้วย แต่ก่อนพม่าได้รับเอกราชไม่นาน นักการเมืองมอญเริ่มแตกแยกกับฝั่ง AFPFL เพราะรู้สึกว่าการเมืองพม่าถูกกุมอำนาจโดยคนพม่า และนโยบายของ AFPFL มีเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนพม่าเท่านั้น นอกจากนี้ ชาวมอญและชาวยะไข่ยังไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมปางหลวง เพื่อกำหนดอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าหลังพม่าได้รับเอกราชอีกด้วย หลังจากนี้ นักชาตินิยมมอญก็จะหันมาเรียกร้องให้มีการแยกดินแดนมอญออกจากการปกครองของชาวพม่า แม้นักการเมืองมอญอีกหลายคนจะยังทำงานกับ AFPFL อยู่ต่อไป

กลุ่มชาตินิยมมอญที่เรียกร้องเอกราชแยกจาก UMA ของนาย โป โช ไปตั้งองค์กรของตนในนาม MUF (Mon United Front) และ MNDO (Mon National Defence Organisation) ที่มีแนวทางการใช้กำลังทางทหารต่อสู้กับพม่าเพื่อเอกราชของชาวมอญอย่างชัดเจน MNDO ได้รับแรงบันดาลใจจากกองกำลัง KNDO ของชาวกะเหรี่ยง ในทศวรรษ 1950 ระหว่างที่อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มแบ่งแยกดินแดน อันประกอบไปด้วยกองกำลังของมอญ กะเหรี่ยง ปะโอ (Pa-O) และกองกำลังของชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ จะสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐบาลพม่า จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลายาวนานที่สุดสงครามหนึ่งของโลก ชาวมอญจะมีขบวนการชาตินิยมอีกหลายกลุ่มที่ผุดขึ้นมาหลังพม่าได้รับเอกราช ได้แก่ MPSG (Mon People’s Solidarity Group) ที่ต่อมาจะกลายเป็น MPF (Mon People’s Front) ขบวนการชาตินิยมมอญที่เน้นการใช้กำลังทางการทหารที่เข้มแข็งที่สุดในทศวรรษ 1950

Advertisement

กองกำลังมอญเริ่มขาดเอกภาพในปลายทศวรรษ 1950 เมื่อนักชาตินิยมมอญลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลของอู นุ เมื่ออู นุ ให้คำมั่นกับชาวมอญและชาวยะไข่ว่าจะผลักดันให้มีรัฐมอญและรัฐยะไข่ที่เป็นอิสระให้จงได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเน วิน เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำในรัฐบาลรักษาการในปี 1958 (พ.ศ.2501) ตามมาด้วยรัฐประหารในปี 1962 (พ.ศ.2505) และได้ล้มล้างข้อตกลงสงบศึกที่อู นุ ทำไว้กับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ชาวมอญก็จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับกองทัพพม่าอีกครั้ง และตั้งพรรค The New Mon State Party (NMSP) ขึ้น ภายใต้การนำของนาย ฉ่วย จิน (Nai Shwe Kyin) โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการตั้งรัฐเอกราชของชาวมอญ หรือที่เรียกว่า “Monland” NMSP มีกองกำลังของตนเองในนาม Mon National Liberation Army (MNLA) จะทำสงครามกับกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง และเป็นพันธมิตรที่สำคัญของกองทัพกะเหรี่ยง KNU ในปี 1976 (พ.ศ.2519) KNU และกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพม่าตอนล่างอีกบางส่วนร่วมกันก่อตั้ง NDF หรือ National Democratic Front ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับขบวนการเรียกร้องเอกราชของชนกลุ่มน้อย เป้าหมายดั้งเดิมของ NDF คือการเรียกร้องรัฐอิสระให้ชนกลุ่มน้อย แต่ต่อมาจะลดข้อเรียกร้องลงเป็นเพียงการได้รับสิทธิปกครองตนเองบางส่วนภายใต้ระบบสหพันธรัฐ แต่ข้อเรียกร้องของ NDF ได้รับการปฏิเสธจากเน วิน เพราะเน วิน มองว่าปรัชญาที่สำคัญที่สุดของกองทัพยังเป็นการป้องกันไม่ให้สหภาพพม่าแตกสลาย และจะทำทุกวิถีทางมิให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกเป็นอิสระ

ความขัดแย้งระหว่างกองทัพมอญกับกองทัพพม่ายังมีอยู่ต่อไปตลอดทศวรรษ 1960-1980 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นหลังรัฐบาลและกองทัพพม่าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในปี 1988 (พ.ศ.2531) ความรุนแรงในครั้งนั้นเป็นเหตุให้เน วิน ประกาศลาออก นักศึกษานับหมื่นคนหนีการปราบปรามของกองทัพพม่าและเข้าไปอาศัยอยู่ตามเขตชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง มอญ กะเหรี่ยงแดง และกะฉิ่นควบคุม อยุ่ NDF ร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าอีกราว 20 กลุ่มรวมตัวกันตั้ง Democratic Alliance of Burma (DAB) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่สามารถสร้างความกังวลใจให้กับกองทัพพม่าได้ DAB กลายเป็น NCUB (National Council of the Union of Burma) ในปี 1992 (พ.ศ.2535) และ Ethnic Nationalities Council (ENC) ในปี 2001 (พ.ศ.2544) และลดระดับการใช้กำลังทางการทหารตอบโต้กองทัพพม่าลง และเตรียมพร้อมเข้าสู่การเจรจาระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลพม่า และพรรค NLD พรรค NMSP ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าในกลางปี 1995 (พ.ศ.2538) และอีกครั้งในปี 2012 (พ.ศ.2555)

แม้กองกำลังของชาวมอญจะมิได้มีพละกำลังมากที่สุด แต่ก็เป็นหนึ่งในกองกำลังที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามายาวนานที่สุด การต่อสู้ระหว่างมอญกับพม่าชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าไม่ได้เป็นความขัดแย้งทางศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้ทรัพยากร ลัทธิชาตินิยมที่ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วทุกหนระแหง และความพยายามรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไว้ ซึ่งยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่ามีความซับซ้อนและไม่มีวี่แววว่าจะจบง่ายๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image