ดุลยภาพดุลยพินิจ : แรงงานประมงทะเลปัญหาของชาติ

เมื่อปลายเดือนธันวาปีที่แล้ว มีการประท้วงกระทรวงแรงงานคัดค้านการลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ.2007 (C188)

ความจริงเรื่องนี้รัฐบาลได้เกริ่นไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2560 และเคยมีการประท้วงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งครั้งนั้นนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยก็ออกมาสนับสนุนรัฐบาลในเรื่อง C188 นี้

คงต้องย้อนกลับไปดูว่าทำไมรัฐบาลจึงจำเป็นต้องรับอนุสัญญา 188 ทั้งๆ ที่เกรงใจนายจ้างนายทุนอยู่เสมอ

ถ้านายจ้างเรือประมงไม่ลืม ธุรกิจประมงทะเลประสบปัญหาสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก การขาดแคลนแรงงานเรือประมง (ตั้งแต่ปี 2532 ที่ไต้ฝุ่นเกย์มาเยือนภาคใต้มีแรงงานเรือประมงเสียชีวิตจำนวนมากและทิ้งงานไปหางานอื่นทำ และที่สำคัญคืองานประมงทะเลเป็นหนักมาก ตากแดดตากฝน กินนอนไม่เป็นเวลา เสี่ยงอันตรายทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์ด้วย มิหนำซ้ำรายได้ก็ต่ำและไม่แน่นอน) ประการที่สอง คือ ปัญหาใบเหลืองจาก EU เมื่อเดือนเมษายน 2558 เรื่อง IUU (Illegal, unreported and unregulated) Fishing- การทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุมและปัญหาที่สาม คือการถูกจัดอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ไปอยู่ Tier 3 เมื่อปี 2557

Advertisement

ถ้าจะว่าไป ปัญหาทั้ง 3 ก็เป็นปัญหาของนายจ้างล้วนๆ

ในด้านปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้พยายามแก้ปัญหา

เกาถูกที่คันบ้าง ไม่ถูกที่บ้างแต่ก็พยายามเกาแล้ว

จะมีที่ถูกที่คันมากๆ ก็ C188 นี่แหละ แต่จะทำได้แค่ไหนยังไม่รู้

ในด้านการแก้ปัญหา IUU Fishing EU กับปัญหา Tier 3 ซึ่งเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ รัฐบาลก็ทำควบคู่กันไปแม้จะโดน Tier 3 ก่อน

ชาวประมงทะเลคงทราบกันดีว่า IUU fishing เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีปริมาณลดลง และทำให้ผู้ที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมายต้องเสียเปรียบ อีกทั้งยังทำลายระบบนิเวศและทำให้ชุมชนชายฝั่งอ่อนแอลง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั่วโลกที่มาจาก IUU Fishing มีปริมาณสูงถึง 11-26 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 15% ของปริมาณผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ EU ในฐานะผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของโลกจึงตั้งกฎระเบียบนี้ขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2011 เพื่อป้องกัน ขจัด และขัดขวาง IUU Fishing ให้หมดสิ้นไป ซึ่งกฎระเบียบ IUU ครอบคลุมถึงเรือประมงในทุกสัญชาติ ทุกประเภท และทุกน่านน้ำที่มีการเดินเรือทั้งจากและไปยัง EU และจำแนกประเทศที่เกี่ยวข้องออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับ IUU Fishing กลุ่มประเทศที่ได้รับ “ใบเหลือง” ตักเตือนให้มีการปรับปรุงแก้ไข และกลุ่มประเทศที่ได้รับ “ใบแดง” ซึ่งจะโดนคว่ำบาตรการส่งสินค้าประมงเข้า EU

ที่จริงรัฐบาลไทยก็ได้ทำสารพัดอย่างเพื่อปลดใบเหลืองและป้องกันใบแดง และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาใน 6 ด้านที่สำคัญ เช่น

ด้านกฎหมาย มีการกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และได้กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง กำหนดมาตรการควบคุม เฝ้าระวัง ทั้งเรือประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ ตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) การติดระบบติดตามเรือ VMS (Vessel Monitoring System) รวมไปถึงการจัดระเบียบท่าเทียบเรือ

ด้านการจัดการกองเรือ มีความชัดเจนของกองเรือประมง รวมทั้งเรือจม เรือหาย หรือขายไปต่างประเทศ ปัจจุบันมีความชัดเจนของสถานะจำนวนเรือประมงที่แน่นอน ทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์

ด้านการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง (Monitoring, Control and Surveillance: MCS) มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมง (Fisheries Monitoring Center: FMC) และ PIPO 32 ศูนย์

ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ปัจจุบันมีการจดทะเบียนท่าเทียบเรือทั้งหมด 1,063 ท่า เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการและจัดระบบทุกท่าเทียบเรือ โดยต้องผ่านการตรวจสุขอนามัยและมีเอกสารการกำกับการซื้อขายด้วย

ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ได้เพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย และศาลอาญาได้ตั้งคณะผู้พิพากษาคดีประมงแยกเป็นการเฉพาะ รวมทั้งกำหนดเวลาพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ด้านแรงงาน ได้ดำเนินการการปรับปรุง พ.ร.ก.บริหารแรงงานต่างด้าว การเข้าเป็นภาคีต่างๆ ภายในปี 2561 เช่น C188 ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ C29 (แรงงานบังคับ) และ C98 (ส่งเสริมการเจรจา ต่อรอง) และมีการวางระบบตรวจสอบแรงงานที่ศูนย์ PIPO อย่างชัดเจน

จนป่านนี้ ยังเอาไม่อยู่ ปลดใบเหลืองไม่ได้

ต้องพึ่งอนุสัญญา 188 – ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ.2007

กระทรวงแรงงานชี้แจงว่า “การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ.2007 กระทรวงแรงงานมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างหลักประกันการทำงานบนเรือประมงให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่าซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานอย่างเหมาะสมตามหลักปฏิบัติสากล” และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 รมต.กระทรวงแรงงานได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า “การรับรอง C188 จะเป็นแรงดึงดูดใจให้แรงงานประมงไทยมั่นใจยิ่งขึ้นว่าจะได้รับการดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนทำให้นายจ้างและลูกจ้างในภาคประมงมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการทำงานและการจ้างงานที่ตรงกัน ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่าจะไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์” นอกจากนั้นท่านยังบอกแล้วว่าจะไม่กระทบชาวประมงพื้นบ้านเพราะจะใช้บังคับเฉพาะเรือพาณิชย์ของไทยที่เป็นเรือต่อใหม่ขนาด 300 ตันกรอสขึ้นไป และขนาดความยาวเรือ 26.5 เมตรขึ้นไป รวมทั้งไม่ได้เร่งรัดให้ต้องดำเนินการทันทีทันใด

ในอีกฟากหนึ่ง มีฝ่ายที่คัดค้านซึ่งเป็นนายจ้าง เจ้าของเรือประมงพาณิชย์และตัวแทนสมาคมการประมง โดยให้เหตุผล อาทิ “มาตรการบังคับอนุสัญญา C188 ในส่วนโครงสร้างเรือที่รับไม่ได้ เขาบังคับว่าในเรือ 1 ลำ ถ้ามีลูกจ้าง 4 คน ต้องมีส้วม 1 ห้อง หมายความว่าบนเรือถ้ามีลูกจ้าง 30 คน คุณจะต้องมีส้วมบนเรือกี่ห้อง ที่สำคัญ…คุณยังต้องมีห้องนอน ห้องสันทนาการ ห้องกินข้าว สรุปว่าเรือลำนี้เป็นเรือประมงหาปลา หรือว่าเรือนำเที่ยว ถ้ามีห้องตามกฎกติกาที่ว่านี้ คิดสิ…คิดสิ…แล้วจะเอาพื้นที่ไหนจับปลา?”

“ปกติเรือประมงบ้านเรามี 3 ชั้น แต่ชั้นหนึ่งเราสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร แต่ถ้ารับอนุสัญญา C188 ความสูงจะต้องได้ 190 เซนติเมตร ต่อหนึ่งชั้น…ถ้า 3 ชั้นความสูงของเรือเราจะอยู่ที่เท่าไหร่ สูงขึ้นอีกเท่าตัว…สมดุลตัวเรือส่วนที่อยู่ด้านล่างกับด้านบนไม่สมดุลกัน ก็สู้คลื่นลมลำบาก ออกทำประมงไม่ได้เลย”

“วันนี้รัฐระบุว่าจะบังคับเฉพาะเรือใหม่ ไม่ได้บังคับเรือเก่า แต่เรากลัวกันว่าจะเป็นการเลี่ยงบาลี”

ประเด็นเรือเก่าเรือใหม่ ผู้ค้านบอกว่า ไม่ว่าจะเรือเก่าเรือใหม่ ถ้าหากจะต้องซ่อมแซมก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรฐานหรือเปล่า “และในท้ายที่สุด…(เรือเก่า)ก็ต้องเข้าสู่มาตรฐาน C188 อยู่ดี”

“กฎหมายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เรื่องแรงงานก็มีกฎหมายอยู่หลายข้อที่ควบคุมเราอยู่แล้ว ถ้าเอา C188 เข้ามาเสริมไปอีก… ประมงพาณิชย์สัญชาติไทยจะตายหมด”

“อีกทั้งตาม C188 การทำประมงเพื่อการค้าหมายถึงการทำประมงทุกรูปแบบ รวมทั้งการประมงในแม่น้ำและลำคลอง ยกเว้นการประมงเพื่อยังชีพ ก็หมายความว่า…การประมงที่ไม่ได้ทำเพื่อค้าขาย”

“ถามว่าถ้ารับแล้ว ก็จะออกมาเป็นกฎหมายลูก กฎหมายหลาน ต่อไปเรื่อยๆ อีกแบบเดียวกันกับ พ.ร.ก.ประมงที่เป็นอยู่ก็จะหนักกว่านี้ คลุมกรอบปฏิบัติอีกชั้นหนึ่ง เรากลัวว่าจะตายด้วยกันทั้งหมด ทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน…และชาวประมงรุ่นลูกรุ่นหลานจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร”

ครับ ยังมีคำถามอีกมากมาย แต่บางประเด็นก็ดูเหมือนจะเกิดจากความไม่เข้าใจและความไม่ไว้ใจภาครัฐจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร

ก็ต้องทำความเข้าใจกัน

ทางออกคงต้องเดินทางสายกลางตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

หย่อนเกินไปก้อไม่ดี ตึงเกินไปก็ไม่ดี

ซึ่งที่จริงรัฐบาลก็พยายามเดินสายกลางโดยได้บอกตั้งแต่ต้นดังกล่าวแล้วว่า ไม่ใช้กับประมงพื้นบ้าน หรือประมงชายฝั่ง (ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส) แต่ใช้กับเรือพาณิชย์ใหญ่ขนาด 300 ตันกรอสขึ้นไป ความยาวเกิน 26.5 เมตร และต่อใหม่เท่านั้น เมื่อไม่ได้ใช้กับเรือประมงพื้นบ้านและเรือขนาดเล็กก็จะมีเรือที่รอดตะแกรงไปถึงร้อยละ 62 (15,600 ลำ) (ดูในตาราง)

คงต้องทำความเข้าใจกันอีกรอบ ยังพอมีเวลา?

เพราะตามกติกานั้น เมื่อให้สัตยาบันแล้วต้องรออีก 1 ปีจึงจะมีผลบังคับใช้ แต่หากลงนามไปแล้วจะยกเลิกไม่ได้จนกว่าจะครบ 10 ปี ถ้าเกรงว่าจะบังคับใช้ไม่ได้ ทางออกคือการให้สัตยาบันแบบมีเงื่อนไขหรือข้อสงวนซึ่งเป็นสิทธิของรัฐสมาชิกและสามารถขอยกเลิกเงื่อนไขเมื่อใดก็ได้ ซึ่งรัฐบาลก็ทำแล้วเช่นเงื่อนไขบังคับใช้เฉพาะเรือที่ต่อใหม่ 300 ตันกรอสขึ้นไป และมีความยาวเรือเกิน 26.5 เมตร

อย่าลืม หลังจากการให้สัตยาบัน ประเทศต้องออกกฎหมาย ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติภายในประเทศให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญา และต้องขจัดอุปสรรคในการปฏิบัติตามอนุสัญญา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎหมายหรือแนวปฏิบัติภายในประเทศที่ขัดกับอนุสัญญา

ยังมีงานอีกมาก

ปัญหาประมงทะเลเป็นปัญหาของชาติครับ ทุกฝ่ายจึงดวรช่วยกันแก้ไข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image