บริหารอย่างมิตร… : โดย เฉลิมพล พลมุข

มนุษย์หรือคน และสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีความเป็นอยู่รวมกันเป็นหมู่มากโดยธรรมชาติแล้ว การแบ่งหน้าที่ของกันและกันในการทำกิจการนั้น หรือความถนัดชอบแต่ละประเภทของงานรวมถึงการคัดเลือกจัดสรรความเป็นผู้นำของกลุ่ม คณะในกิจการต่างๆ จึงมีในความจำเป็นและธรรมชาติในการจัดการบริหารเพื่อให้กลุ่ม บุคคล องค์กรนั้นอยู่รอดท่ามกลางปัญหาอุปสรรค โดยถือว่าศาสตร์และศิลปะของการบริหารมีส่วนสำคัญยิ่ง

ในโอกาสสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าอวยพรขอพรกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ กรุงเทพมหานคร คำพูดตอนหนึ่งของการให้พรที่ว่า…

“ขอบคุณนายกฯและพวกเราทุกคนที่มาให้พรในวันปีใหม่ คิดว่าสิ่งสำคัญที่บ้านเมืองไปได้ราบรื่นในการบริหารของนายกฯ และรัฐบาลชุดนี้เนื่องจากเราเป็นมิตรกัน นายกฯรวมถึง พล.อ.ประวิตร เป็นมิตรกับตน ทั้งหมดเป็นมิตรกันถือเป็นสิ่งสำคัญ และคิดว่าหากนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นแก่ความเป็นมิตร ทุกอย่างจะไปได้ราบรื่นและสวยงาม โดยทุกคนเห็นต่างกันได้ แต่ต้องเป็นมิตรกันก็จะดีมาก ทั้งนี้ขอให้นายกฯเห็นว่าแม้ฝ่ายค้านเห็นต่าง ก็เห็นต่างกันอย่างเป็นมิตร อย่าเห็นต่างเป็นศัตรูกัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์…

ขอให้นายกฯจำคำนี้ไว้ว่า จะเห็นต่างกับฝ่ายค้านก็โอเค เพราะเห็นต่างกันอยู่แล้ว แต่ต้องเห็นต่างกันอย่างมิตร ผมอยากให้นายกฯทำเป็นตัวอย่างว่า ถึงผมเห็นต่างกับคุณ ผมก็เป็นเพื่อนกับคุณ คงจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ขอฝากนายกฯอาจจะจำไปใช้ตามที่ผมพูดก็ได้ เพราะผมเคยใช้มาแล้วได้ผลดีมาก ทั้งนี้ ขอชมเชยนายกฯที่บริหารประเทศมาด้วยความโลดโผนและความมุ่งมั่นที่ทำให้ชาติบ้านเมืองของเรามีความสงบสุข คนไทยจะได้หายยากจนไปบ้าง เป็นการกระทำที่ได้บุญได้กุศลและเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำประเทศ…” (มติชนรายวัน 29 ธันวาคม 2561 หน้า 10)

Advertisement

การให้พรของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่มีอายุเกือบร้อยปีที่ร่างกาย จิตใจที่ยังคงหนักแน่นแข็งแรง เสมือนการเตือนสติและร้องขอถึงหลักการในการบริหารประเทศที่ได้มีประสบการณ์ดังกล่าวมาก่อน ซึ่งพอจะมองเห็นถึงสภาพของปัญหาสังคมไทยในขณะนี้ที่ถูกรุมเร้าด้วยสภาพต่างๆ รอบด้านทั้งในประเทศเองและนานาชาติ สิ่งหนึ่งที่หัวหน้า คสช.เคยให้คำมั่นสัญญาที่ว่า จะเดินหน้าประเทศไทย ปฏิรูปประเทศ การปรองดอง รวมถึงขจัดความยากจนในหมู่ประชาชนคนไทยที่ยังคงสภาพพบเห็นถึงตัวเลขในบัตรคนจนที่ได้รับเงินจากภาษีของเราท่านทั้งหลาย

ในคำสอนของศาสนาพุทธได้กล่าวถึงมิตรหรือบุคคลที่เราท่านจักต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วยในหลักการดังกล่าวไว้ที่น่าสนใจ ผู้เขียนใคร่ขอนำประเภทของมิตรก็จะมีทั้งมิตรแท้และมิตรเทียม เราท่านที่ได้คบหาสมาคมกันอยู่รอบตัวจะรับรู้รับทราบได้อย่างไรว่า ใคร บุคคลใด เป็นคนประเภทใด…

มิตรแท้ หรือกัลยาณมิตร หรือเพื่อนที่แท้จริง จะมีพฤติกรรมที่เราท่านพอจะเห็นได้ก็คือ มีความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นที่พึ่งพาได้เมื่อคราวที่ต้องการขอความช่วยเหลือ เก็บรักษาความลับของเพื่อนได้เป็นอย่างดี ยินดีในความเจริญรุ่งเรืองของเพื่อน ช่วยเตือนสติเพื่อนมิให้กระทำความผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย รวมถึงแนะนำเพื่อนให้ทำแต่สิ่งดีงามเพื่อประโยชน์ตนและประเทศชาติ…

Advertisement

มิตรเทียม ก็จะเป็นบุคคลที่คบเพื่อนเพื่อมีเจตนาหวังเอาทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ ใช้คำพูดที่เสมือนประจบสอพลอ เอาอกเอาใจ หรือพูดกระทำในสิ่งที่มิได้ขัดใจเพื่อนของตน หรือเมื่อเพื่อนเดือดร้อนที่มิได้ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมายต้องการความช่วยเหลือก็จะปฏิเสธหรือไม่ได้ให้ความสนใจ หรือเป็นบุคคลที่คบแล้วก็จะนำทั้งความทุกข์ใจและความเดือดร้อนเข้ามาสู่ตนและสังคมภาพรวม

การบริหารงานหรือการจัดการที่เป็นหน่วยงาน องค์กร โดยเฉพาะการบริหารประเทศที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับคนหรือบุคคลต่างๆ ซึ่งมีนิสัยใจคอ พฤติกรรมความประพฤติ อาจจะรวมถึงหลักการ ความคิด ความเชื่อ ความรู้ที่มีความแตกต่างกันให้เป็นไปในทางเดียวกันมิใช่เรื่องธรรมดา สิ่งหนึ่งที่ประธานองคมนตรีได้กล่าวไว้ก็จะมีนัยยะถึงการบริหารความขัดแย้ง หรือทำให้เกิดขึ้นของความปรองดองในคนไทยด้วยกัน ด้วยมองเป้าประสงค์หลักถึงความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ จักใช้ศาสตร์และศิลป์ใดในขณะนี้…

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ประธานองคมนตรีได้กล่าวถึงนักการเมืองที่เป็นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ต้องเห็นถึงความเป็นมิตร ในรัฐบาลของ คสช.ด้วยรูปแบบการบริหารก็มิได้มีฝ่ายค้านเสมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ด้วยนัยยะบางอย่างของฝ่ายค้านเสมือนว่ายังมีคน บุคคล กลุ่มคนต่างๆ ที่เห็นต่างจากรัฐบาล คสช.อยู่ในหลากหลายบริบท ซึ่งเราท่านได้พบเห็นถึงความคิดเห็นที่ต่าง การแสดงออกของการทำกิจกรรมทางการเมือง อาจจะรวมถึงนักการเมืองบางคนที่ต้องคดีความหรือต้องโทษที่ต้องหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ที่รัฐบาลหรือผู้นำของรัฐบาลจักใช้กลวิธีใดที่จะทำให้คนที่เห็นต่างกลับกลายมาเป็นมิตร…

ศาสตร์ของการบริหารหนึ่งที่เราท่านรับรู้กันเป็นอย่างดี นั่นก็คือการบริหารคน เงิน งาน เวลา เป้าหมายความสำเร็จของกิจการงานนั้นๆ ที่สำคัญยิ่งก็คือการบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management) หรือวิธีการแบบสันติวิธีที่อาจจะพบเห็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ข้อเท็จจริงหนึ่งตั้งแต่อดีตกาลของคนหรือมนุษย์ในเวลานานมาแล้ว การฆ่ากัน ทำร้ายกันทางร่างกาย จิตใจ ด้วยกำลังร่างกาย อาวุธ การแบ่งกลุ่ม สี ขั้ว ความเห็น ความเชื่อต่าง อุดมการณ์ที่ต่างกันก็เกิดขึ้นในโลกนี้มาเป็นเวลานานแล้ว

และสภาพดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปตราบที่มนุษย์เรายังมีกิเลสและอวิชชา…

สังคมไทยเราก็มีความขัดแย้งหรือพฤติกรรมที่ไปด้วยกันไม่ได้อยู่ในหลากหลายบริบท ในระดับของกระบวนการความยุติธรรมก็ถูกต้องคำถามที่อาจจะมิได้คำตอบ อาทิ อะไรคือความยุติธรรม ความยุติธรรมมีจริงหรือไม่ ในรอบหนึ่งปีมีทั้งคนไทยเราและชาวต่างชาติต้องอยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม หรือได้รับการตัดสินโทษจากศาลถึงการจองจำในการต้องโทษ ซึ่งมีสถิติของผู้ที่อยู่ในเรือนจำหรือทัณฑสถานทั่วประเทศในตัวเลขที่มากกว่า 350,000 คน ขณะที่สถานที่ดังกล่าวรองรับผู้ต้องขังได้ในตัวเลข 122,000 คน หมายถึงในขณะนี้มีนักโทษถูกจองจำอยู่ในสถานที่ดังกล่าวมีความแออัดและพบปัญหาในพฤติกรรมของนักโทษบางรายในการปีนหลบหนีจากเรือนจำโดนระบบไฟฟ้าชอร์ตจนกระทั่งถึงแก่ความตายเมื่อเร็ววันมานี้

ทางออกของปัญหาดังกล่าวก็คือ ต้องการกฎหมายร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ…. โดยให้มีการแก้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีผู้ต้องโทษที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเพื่อต่อสู้คดีความ (คนจนเท่านั้นที่ติดคุก) อยู่ในสถานที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก (มติชนรายวัน 29 ธันวาคม 2561 หน้า 15)

สภาพปัญหาของความขัดแย้ง หรือปัญหาด้านการบริหารจัดการองค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งของเอกชนและรัฐในเวลานี้ยังคงมีอยู่ในสภาพของข้อเท็จจริงโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ถูกเรียกร้องจากประชาชน องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ รัฐบาลที่นำโดยหัวหน้า คสช.ในการบริหารงานที่ผ่านมา เราท่านได้พบเห็นถึงปัญหารอบด้าน ทั้งการใช้อารมณ์และวาจาบางประเภทต่อสื่อที่อาจจะถูกตั้งคำถามที่ว่า ผู้นำที่จะนำพาประเทศชาติไปเพื่อเดินหน้าในอนาคต ควรจะมีท่าทีในการพูดจาหรือมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นไรในการปรากฏภาพต่อสื่อสาธารณะ…

ความเห็นต่างหนึ่งก็คือ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์หรือนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคในการนำเสนอต่อประชาชน ที่คาดว่านักการเมืองในพรรคของตนจะได้ใจจากประชาชนเพื่อเป็นตัวแทนของเขาเหล่านั้นเข้าไปบริหารจัดการในระดับประเทศ ในวันเวลานี้เราท่านต่างได้พบเห็นถึงนักการเมืองบางคน พรรคการเมืองบางพรรคได้นำเสนอกุศโลบายของตนและพรรคด้วยมีแผ่นใบปลิว รถโฆษณา หรือเข้าพบปะผู้คนด้วยวาทะการพูดในการชักจูงมวลชนเหล่านั้นเพื่อขอคะแนนเสียงให้กับกลุ่มตนและมีความคิดเห็นที่ต่างกับรัฐบาล คสช.

เขาเหล่านั้นถือว่าเป็นศัตรูหรือเห็นต่างจากกลุ่มตนที่จักต้องผลักไสให้อยู่กันคนละขั้วฝ่ายหรือไม่…

หลักการบริหารที่จะทำให้ศัตรูบางคนกลับกลายมาเป็นมิตรซึ่งมีหลักคุณธรรมระดับพื้นฐานของชาวพุทธอยู่ 7 ประการคือ (1) ปิโย ปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นที่ผู้คนอยากจะเข้าคบหาหรืออยากเข้าไปปรึกษาหารือ มีพลังดึงดูดที่ทำให้ผู้ที่คบหาด้วยมีความสบายใจ (2) ครุ มีนิสัยใจคอหรือพฤติกรรมที่มีความหนักแน่นในหลักการ อุดมการณ์ สิ่งที่ถูกต้องทั้งศีลธรรมและกฎหมาย รวมถึงความหนักแน่นต่อสิ่งเร้าที่จะทำให้ตนเองและสมาชิกออกนอกลู่ทาง (3) ภาวนีโย กระทำตนให้เป็นที่น่ายกย่อง สรรเสริญ หรือแสดงระบบความคิดเห็นของตนที่มีสติ ภูมิปัญญา ความรู้ และวุฒิภาวะที่น่าชื่นชม (4) วตฺตา จ รู้จักการพูดจาว่าเรื่องใดควรพูดหรือมิควรพูด หรือเป็นที่ปรึกษาที่ดี (5) วจนกฺขโม มีความอดทนต่อการซักถาม การวิพากษ์วิจารณ์ ข้อเสนอแนะฟังได้ไม่เบื่อ ไม่มีอารมณ์ฉุนเฉียวโมโห (6) คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา ชี้แจงเรื่องสลับซับซ้อน ซ่อนเร้นที่ไม่คลุมเครือให้ความกระจ่างชัดเจนได้ต่อสาธารณชน (7) โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่พูดจาหรือนำเรื่องที่เหลวไหล ไร้สาระ หรือสิ่งที่จะทำให้ประชาชนได้รับความไม่สบายใจเป็นทุกข์…

ในหลักคุณธรรมดังกล่าวผู้เขียนได้นำมาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หลักการดังกล่าวเสมือนหลักการของธรรมชาติของมนุษย์หรือคนแต่ละประเภทที่มีพฤติกรรมที่มีความแตกต่างกัน หากการปรับหรือแก้พฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้มนุษย์หรือคนได้อยู่กันอย่างสันติในสังคมที่ให้สภาพของปัญหาต่างๆ ทุเลาลงหรือหมดไปก็เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ที่อาจจะเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ปัญหาความขัดแย้งในระดับอุดมการณ์และวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายของชีวิตในสมัยนั้น พระพุทธองค์ก็ได้เผชิญพร้อมทั้งวิธีการแก้ปัญหา ทั้งกรณีพระเทวทัต พระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย พระญาติที่ขัดแย้งกันเรื่องน้ำในการนำเข้าที่ทำนา หรือแม้กระทั่งปัญหาบางอย่างที่มีผู้นำเข้าไปถามพระพุทธองค์ที่ว่า มนุษย์ตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ โลก จักรวาล ปัญหาหลากหลายปัญหายังคงมีมาถึงแม้ปัจจุบัน

การบริหารคนจากมิตรให้กลายเป็นศัตรูหรือคู่ขัดแย้งตรงกันข้ามมิต้องใช้กลอุบายที่แยบคาย แต่หากว่าการบริหารศัตรูให้มาเป็นมิตรที่ช่วยกันพัฒนาชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง ช่วยแก้ปัญหาบริหารความขัดแย้งที่ได้มีประสบการณ์มาก่อนแล้วปรับใช้ ถือว่าจักต้องให้ทั้งศาสตร์และศิลปะ อาจจะรวมถึงการบริหารจัดการด้านสภาพของจิตวิทยาในระดับสูง เนื่องด้วยมนุษย์หรือคนในโลกนี้เสมือนบัวสี่เหล่านั้นแล…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image