เรามิใช่ศัตรูต่อกัน : โดย กล้า สมุทวณิช

เรื่องที่อยากเล่านี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อผมตัดสินใจปิด Facebook ส่วนตัวที่ใช้มาเกือบ 9 ปีลงไปด้วยเหตุผลมากมาย จากนั้นก็เปิดบัญชีใหม่ด้วยชื่อเดิม และเริ่มต้น Friends list ด้วยกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันในแวดวงนักเขียน นักวิชาการ และผู้สนใจทางการเมืองไม่กี่คนเท่านั้น

แต่จากนั้นก็ใช้นโยบายว่า ใครขอเป็น Friend มาจะกดรับหมด หากไม่ค่อยโอเคค่อยลบกันไป ด้วยเหตุนี้โครงสร้างของ Friends list จึงเปลี่ยนไปจากบัญชีเดิมเกือบหมด ประกอบกับช่วงหลังผมเริ่มให้ความสนใจเรื่องราวของวงการอื่นๆ และความสนใจนั้นก็ดึงดูดคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จักให้เข้ามาเพิ่มเป็น Friends กันใน Facebook มากขึ้น มิตรสหายหน้าใหม่ของผม บางคนเป็นนักธุรกิจทั้งรายใหญ่รายย่อย ผู้สนใจการออกกำลังกาย ผู้ติดตาม Podcast ของผมและท่านอื่นๆ ที่มีความสนใจในเรื่องของหนังสือและการพัฒนาตัวเอง

เรียกว่า 70% ของ Friends list ของผมเปลี่ยนไปจากเดิมแบบแทบจะเป็นคนละกลุ่มกันเลย

ที่ต้องเล่าเกริ่นยืดยาวนี้ เพื่อจะเข้าเรื่องว่า ผมมี Friend ใหม่ท่านหนึ่ง เป็นนักธุรกิจขนาดกลางที่ผมไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวมาก่อน และนึกไม่ออกว่าท่านติดตามผมมาจากช่องทางไหน เมื่อเช็กดู Mutual friends ก็พบว่ามีคนรู้จักร่วมกันก็แต่นักเขียนและ Podcaster สายพัฒนาตัวเองและธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่สายวิชาการ การเมือง หรือวรรณกรรม

Advertisement

สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก คือเมื่อปลายปี ที่มีประเด็นเรื่องมือมืดปล่อยคลิปส่วนตัวของมิตรสหายอีกท่านหนึ่งที่ผมเรียกเธอว่าครูโบว์ (และเคยเขียนถึงเธอไว้ในคอลัมน์นี้ครั้งหนึ่ง) หรือที่คนทั่วไปรู้จักเธอในชื่อของโบว์ คนอยากเลือกตั้ง ณัฏฐา มหัทธนา

การเล่นสกปรกด้วยประเด็นทางเพศที่เชื่อว่าเป็นอาวุธหวังผลทางการเมืองนั้นกลับส่งผลให้คนทั่วไปแสดงความเห็นใจคุณโบว์อย่างล้นหลาม หลายคนเข้าไปคอมเมนต์ในหน้า Facebook ส่วนตัวของเธอเพื่อให้กำลังใจ

แต่คนที่ทำให้ผมแปลกใจมาก คือ มิตรสหายหน้าใหม่ที่เป็นนักธุรกิจส่วนตัวท่านที่เล่าให้ฟังก่อนหน้านั้น อย่างที่บอก ท่านไม่มีเพื่อนร่วมกับผมมากนัก ยิ่งเพื่อนสาย “ประชาธิปไตย” นั้นก็ไม่มีเลย แต่คุณท่านนั้นก็ไปทิ้งข้อความให้กำลังใจคุณโบว์ไว้สั้นๆ ด้วยประโยคเดียว ขอให้คุณโบว์สู้ๆ

Advertisement

เรื่องนี้ทำให้ผมสังเกตมิตรสหายหน้าใหม่ของผมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มี Friends เชิงการเมืองร่วมกับผมเลย ว่าเวลามีปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้แสดงออกอย่างไรในโลกโซเชียล

การแถลงข่าวความบริสุทธิ์ผุดผ่องของท่านผู้สวมใส่นาฬิกาหรูนับสิบกว่าเรือนเมื่อปลายปีของ ป.ป.ช. ผมได้สังเกตเห็นว่า Friends กลุ่มดังกล่าวของผม ออกมาแสดงความไม่พอใจทั้งทางตรงทางอ้อม ใครที่ชอบโพสต์แสดงความเห็นก็ใช้การเขียนข้อความระบายความไม่พอใจสั้นบ้างยาวบ้าง ท่านไหนที่นิยมแนวแชร์ข้อความ ก็แชร์ภาพล้อเลียน ป.ป.ช. และผู้สวมนาฬิกา เรียกว่าเป็นฉันทามติร่วมกัน

การขึ้นเงินเดือนให้ศาลและองค์กรอิสระ แถมย้อนหลังไปสี่ห้าปี ก็ทำให้หลายคนที่ไม่เคยเห็นโพสต์เรื่องการเมืองหรืออะไรแนวนี้เลย แชร์ข่าวและความเห็นที่ผมไม่คิดว่าจะได้เห็น

ข่าวการ “เลื่อน” การเลือกตั้งออกไปอีกที่ส่งผลให้แฮชแท็ก #เลื่อนแม่มึงสิ ขึ้นอันดับหนึ่งในเทรนของโลกโซเชียล ผมก็ได้เห็นมิตรสหายใหม่ๆ ของผมกลุ่มนั้นร่วมขึ้นแฮชแท็กดังกล่าวด้วย หรือบางคนที่อาจจะตะขิดตะขวงกับคำที่ออกจะแรงตรงไปบ้าง ก็ใช้คำอ้อมๆ แต่อ่านก็เข้าใจได้ว่าพวกเขาและเธอไม่พอใจกับการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง ไม่ว่าเหตุผลที่ฝ่ายผู้รับผิดชอบนั้นให้มาจะฟังขึ้นหรือไม่

และมองให้ไกลออกไป เราได้เห็น Page ใน Facebook มากมายที่ไม่ใช่ Page การเมืองหรือล้อประเด็นสังคม ก็มาร่วมกันเล่นมุขและประเด็นที่ว่าด้วยการ “เลื่อน” กันมากขึ้น

ทั้งหมดนี้พอจะแสดงให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “ฉันทามติ” ได้ว่า ประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศนี้เฝ้ารอคอยการเลือกตั้ง และเชื่อว่าสิ่งนี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ที่แม้ว่าผู้ทรงอำนาจอยู่ในปัจจุบันจะได้เปรียบนานาสารพัด แต่การเลือกตั้งก็เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ จะถึงขนาดไล่พ้นจากอำนาจได้หรือไม่นั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยถ้าจะนั่งอยู่ต่อไป ก็จะต้องอยู่บนความรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การอยู่ในอำนาจด้วยวิธีถืออาวุธไว้ในมือแต่ปากพร่ำพูดว่าทำเพื่อชาติบ้านเมือง

ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ความรู้สึกว่าผู้ถืออำนาจนั้นกำลังเพลี่ยงพล้ำและไม่มั่นใจว่าตัวจะกระชับอำนาจไว้อยู่มือหรือไม่ ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ากำลังถูกโกงหรือเอาเปรียบโดยการประวิงเวลาเพื่อหมายว่าจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนอีกครั้ง

การแสดงออกถึงความไม่พอใจว่าจะเลื่อนชะลอการเลือกตั้งออกไปจึงกระจายไปในโลกบนหน้าจอ และกระหึ่มไปในวงสนทนาของผู้คน

ข้อสังเกตที่กล่าวมาซึ่งผมได้พบจากมิตรสหายที่มาเป็น Friends กันในบัญชีใหม่นี้ ช่วยให้น้ำหนักสมมุติฐานบางอย่าง ที่ทำให้รู้สึกมีความหวังว่าประเทศนี้ยังมีอนาคต และเราผู้เสียเปรียบจะยังไม่พ่ายแพ้ได้ง่ายจนเกินไป

เพราะความอยุติธรรมฉ้อฉลนั้น เมื่อมันมากทวีถึงระดับหนึ่ง ผู้คนที่มีจิตใจเป็นธรรมเยี่ยงวิญญูชนตามปกตินั้นก็สามารถเห็นได้ตรงกันทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาจะยืนอยู่ฝั่งไหนหรือสวมเสื้อสีอะไร

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เขียนไว้ใน Facebook ส่วนตัวของเขาในโอกาสที่ระลึกครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน ว่า “ประชาชนฝักฝ่ายต่างๆ จึงมิใช่ ‘ศัตรู’ กัน แต่เผด็จการต่างหากที่เป็น ‘ศัตรู’ ของประชาชน”

แน่นอนว่าหลายท่านที่อ่านความเห็นของปิยบุตรข้างต้น หรือแม้แต่อ่านคอลัมน์นี้มาถึงตรงนี้ อาจจะรู้สึกว่า เอาอีกแล้วหรือ ให้ “ปรองดอง” ให้ “จับมือ” กับพวกผู้คนที่ร่วมกันทำลายประชาธิปไตยและหนุนส่งให้เกิดรัฐประหารและนำพาประเทศมาสู่ระบอบนี้หรือ

คนกลุ่มที่ล้มล้างรัฐบาลที่มาโดยชอบตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หนำซ้ำยังร่วมกับพวกอันธพาลทางการเมืองขัดขวางการเลือกตั้ง ลิดรอนแย่งชิงสิทธิและอนาคตของลูกหลานพวกเราไป นำพาประเทศเราถอยหลังเข้าคลองลงไปเรื่อยๆ จากระบอบและกลุ่มอำนาจที่มีความล้าหลังแช่แข็ง

หรือกล่าวแบบตรงไปตรงมา คือ “พวกสลิ่ม” นี้หรือที่ไม่ใช่ศัตรูของเรา ?

ในขณะที่คนอีกสีอีกฝั่ง กลุ่มที่คนกลุ่มแรกเรียกว่า “สลิ่ม” เขาก็มองพวกเราเป็นพวก “ทาสนายทุนการเมือง” พวกบ้าประชาธิปไตยเสียงข้างมาก เป็น “ลิเบอร่าน” ที่หวังโค่นล้มเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ให้ประเทศไทยที่เขาเคยรู้จักนั้นไม่มีอยู่อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อ อาจเป็นความเชื่อที่ซื่อใบ้ไร้เดียงสา แต่ผมก็เชื่อว่า ไม่มีใครลุกขึ้นเดินเป่านกหวีดไปตามถนน เพื่อหวังจะให้ประเทศชาติบ้านเมืองพังทลายฉิบหายลง จนลูกหลานพวกเราและพวกเขาอยู่กันไปในประเทศที่ล้าหลังล้มเหลวไร้อนาคต

อันนี้หมายถึงเฉพาะประชาชนพลเมืองที่เป็นมวลชน ไม่ใช่ฝ่ายแกนนำหรือกลุ่มอันธพาลการเมืองที่มีเป้าหมายและความปรารถนาประโยชน์ทางการเมืองซ่อนเร้นของตนตั้งแต่ต้น และอาศัยความสุจริตของคนกลุ่มนี้เป็นขุมอำนาจ

ใช่หรือไม่ที่ผู้คนธรรมดาเหล่านั้น คนธรรมดาที่บางคนอาจจะเป็นญาติมิตรของท่าน เขาลุกขึ้นมาแสดงออกต่อสู้ทางการเมืองด้วยความเชื่อที่ว่านั่นเป็นทางที่จะทำให้ประเทศชาติไม่ตกสู่ภาวะเสียหายลงไปเช่นภาพในจินตนาการนั้น เพียงแต่ในสายตาของพวกเขา ฝ่ายที่จะนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น คือพวกนักการเมืองฉ้อฉล (ซึ่งเราก็ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่ามีอยู่จริง) นายทุนทางการเมืองที่เข้ามาหว่านโปรยเงินทองที่มาจากภาษีของพวกเราเอง แล้วอาศัยความนิยมของประชาชนเป็นเคียวเกี่ยวเก็บผลประโยชน์มากกว่าหลายเท่านั้นกลับไป

ผู้คนที่เชื่อว่าการเลือกตั้งในขณะนั้นอาจจะยังไม่ใช่คำตอบ หากไม่สามารถให้ความมั่นใจว่าจะป้องกันการเลื่อนไหลไปสู่การแสวงอำนาจมิชอบดังกล่าวได้

ผู้คนเหล่านั้นอาจจะเชื่อว่า ขั้วอำนาจดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ เช่นเครือข่ายขุนศึก อำมาตย์ และข้าราชการนั้น จะชั่วดีอย่างไรก็น่าจะรักชาติรักประเทศตามที่ตัวได้ปฏิญาณไว้ ไม่หาประโยชน์โภชน์ผลจนเกินงาม หรือคนพวกนั้นน่าจะมีความรู้ความสามารถที่แท้จริงยิ่งกว่าใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาโดยเพียงเพราะมีคนนิยมชมชอบจำนวนมาก

เวลาของประเทศที่สาบสูญทิ้งขว้างไปร่วมห้าปีนี้ คงพิสูจน์ให้พวกเขาได้เข้าใจแล้วว่า จากพฤติการณ์ของผู้ครองอำนาจอยู่ ความไม่ชอบมาพากล ลูบหน้าปะจมูก ความหน้าไหว้หลังหลอก กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจและกระบวนยุติธรรมแบบมองหน้าคู่ความก่อน ก็เป็นบทเรียนให้พวกเขาได้เข้าใจแล้วว่าไม่ว่าจะมีเกียรติน่าเชื่อถือหรืออ้างว่ารักชาติบ้านเมืองอย่างไร แต่อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบนั้นก็ฉ้อฉลได้เสมอโดยไม่เกี่ยวกับที่มาหรือพื้นเพ

ความปรารถนาดีและรักชาติบ้านเมืองของพวกเขานั้นมีจริงและเป็นของจริง เพียงแต่มันส่งผลในทางตรงข้ามเพราะ “ความเชื่อ” โดยสุจริตของพวกเขา และพวกเขาก็น่าจะยอมรับในความผิดพลาดนั้นแล้วในหัวใจ ยามที่เห็นข่าวสารบ้านเมือง ในตอนที่เห็นยอดขายผลประกอบการ ในตอนที่เห็นความเสื่อมถอยของการบังคับใช้กฎหมาย เพียงแต่เขาอาจจะไม่ได้ออกมาสารภาพผิดต่อคุณเท่านั้นเอง

การแสดงออกเล็กใหญ่ของพวกเขาที่แสดงต่อความฉ้อฉลบิดเบือนของตัวตนและพฤติการณ์ของผู้ใช้อำนาจรัฐ ต่อคำพูดสับปลับของผู้เคยมีเกียรติน่าเคารพ นั้นไม่ใช่การฟอกขาวหรือลบเลือนความผิด หากมันคือ “ก้าวต่อไป” ของพวกเขา ที่จะเรียกคืนประเทศชาติและอนาคตของลูกหลานพวกเรากลับคืนมา

ผมไม่ได้พูดถึงการปรองดองยกโทษหรือความเป็นมิตร แต่ขอให้ท่านทั้งหลายมองสิ่งนี้อย่างเข้าใจ

เข้าใจแม้ไม่เห็นด้วย เข้าใจแม้จะยังโกรธแค้น เข้าใจแม้ว่าท่านจะเป็นคนหนึ่งที่ถูกละเมิดสิทธิปิดกั้นไม่ให้เข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นั่นก็เพราะการจะเอาชนะผู้มีอำนาจผู้กุมความได้เปรียบในทุกๆ ทาง ทั้งโครงสร้างของอำนาจและกลไกทางกฎหมายได้ ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ฉันทามติ” จากมหาชนจำนวนที่มีนัยสำคัญยิ่ง

ฉันทามติของผู้คนที่แม้จะเลือกพรรคการเมืองคนละพรรคกัน แต่ก็เป็นกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามหรืออย่างน้อยก็ไม่มีท่าทีว่าจะไปเข้าร่วมกับผู้ทรงอำนาจกลุ่มปัจจุบัน

ฉันทามตินั้นจะทำให้พรรคการเมืองที่ยังมีทีท่าไม่ชัดเจนนั้น “ไม่กล้าเบี้ยว” เข้าไปร่วมหัวจมท้ายกับกลุ่มพรรคที่จัดตั้งชัดเจนว่าเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

ฉันทามติที่จะเหนี่ยวรั้งบรรดาสมาชิกวุฒิสภา ที่บางคนบางฝ่ายเชื่อว่าเป็น “คะแนนฟรี” เพราะพี่ตั้งของพี่มากับมือนั้น ไม่กล้าที่จะทำอะไรสวนกระแสฉันทามติมหาชนนั้น ตราบใดที่เขายังต้องยืนเดินอาศัย และมีลูกมีหลานที่ต้องอยู่ในประเทศนี้ต่อไป

มหาฉันทามตินั้นจะก่อตัวขึ้นได้ภายใต้ศรัทธาและความเชื่อของเราทั้งหลายที่ว่า ประชาชนทั้งหลายมิใช่ศัตรูกันเอง แต่เป็นเผด็จการต่างหาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image