ย้อนเวลา‘เสียของ’ปฏิรูปประเทศ : ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม

การทำรัฐประหารในประเทศไทยช่วงหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เห็นว่ามีกลุ่มคน 2 กลุ่มที่มีทั้งเห็นด้วยและต่อต้านไม่เห็นด้วย และกลุ่มที่ต่อต้านไม่เห็นด้วยมองว่า การทำรัฐประหารเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยและบ้านเมืองจะถอยหลังเข้าคลอง นานาประเทศขาดความเชื่อมั่นและการยอมรับ

ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วย ก็มีความคาดหวังว่าจะได้มีส่วนกำจัดนักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้องออกไป โดยเฉพาะความคาดหวังให้มีการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และที่สำคัญจะได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มสีต่างๆ ที่อาจจะนำไปสู่ความรุ่นแรง จึงควรให้ทหารเข้ามาจัดระเบียบสังคมใหม่ เป็นต้น

อย่างการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลุ่มที่เห็นด้วยค่อนข้างจะมีความหวังว่าจะเป็นทางออกให้กับประเทศเพราะการเมืองมีความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มชัดเจน สังคมจึงอยากเห็นการรัฐประหารนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ซึ่งเราจะเห็นเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และเห็นว่าในช่วงแรก (2557-2558) ได้เห็นเจตนาความมุ่งมั่นในการใช้อำนาจปฏิบัติการกับกลุ่มอิทธิพลต่างๆ เช่น การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ บุกรุกชายหาด และจัดการกับกลุ่มผลประโยชน์ในชุมชนท้องถิ่นเพื่อจัดระเบียบสังคมใหม่ซึ่งเป็นไปด้วยดี

อีกประการหนึ่ง การเดินหน้าปฏิรูปประเทศโดยใช้กลไกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเมืองและความปรองดอง และการปฏิรูปท้องถิ่น รวมทั้งการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น เมื่อดูแนวทางและท่าทีในช่วงเริ่มต้น ก็ดูว่าเป็นไปด้วยดี ซึ่งเป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดี แต่ผลสุดท้ายการปฏิรูปประเทศก็ไม่ได้เกิดผลอะไรในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจนถึงบัดนี้ (2561) ได้เพียงแผ่นกระดาษรายงานเอกสาร (Paper Work) ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในการปฏิรูปที่เป็นชิ้นเป็นอัน

Advertisement

ทั้งๆ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกลไก เครื่องมือ สนับสนุนรัฐบาลและสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไว้อย่างพร้อมเพรียงที่สุด ทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ (ออกกฎหมาย) และทั้ง สปช.และ สปท. ที่รัฐบาลเลือกเข้ามาเป็นมันสมองช่วยคิดเสนอแนะการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ซึ่งถือเป็นต้นทุน แต่ที่น่าเสียดายว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่าๆ รัฐบาลไม่ได้ใช้กลไกเหล่านี้เพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เห็นผลแต่อย่างใด

ทั้งๆ ที่หากย้อนเวลากลับไปได้ใหม่ เราเห็นว่ามีหลายอย่างที่ต้องทำ แต่ไม่ได้ทำ ทั้งๆ ที่การรัฐประหารครั้งนี้ได้ชูเรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเห็นว่าต้องทำและต้องกล้าตัดสินใจที่จะทำตามที่ทุกฝ่ายตั้งความหวัง

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่า การรัฐประหารและการปฏิรูปประเทศที่ลงทุนลงแรงไปมากก็เกิดอาการ “การปฏิรูปประเทศเสียของ” ในหลายๆ ประการ

Advertisement

ผมไม่แน่ใจนักว่า “การปฏิรูปการเมือง” รัฐบาลต้องการทำอะไรและได้ทำอะไร ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ได้เสนออะไรและรัฐบาลได้นำสิ่งที่เสนอไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมีอะไรบ้าง โดยถึงขณะนี้ผมไม่แน่ใจนักว่าคนไทยได้รับรู้กันหรือไม่ว่า เรามีการปฏิรูปการเมืองอย่างไร จะเริ่มโดยการส่งเสริมพลเมืองของเราให้มีคุณภาพในการมีส่วนร่วมกันสร้างชาติบ้านเมือง หรือจะต้องเริ่มที่การออกแบบรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในประเด็นทั้งสองข้างต้นนี้ ถือว่ายังไม่ชัดเจน

และการออกแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เห็นว่ามีปัญหามากที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญได้ถูกมองว่า ออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของโครงสร้างการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และการออกแบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพื่อบริหารประเทศ ถือว่ากลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลมากที่สุด ที่ทำให้เห็นว่าปฏิรูปการเมืองยังไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย

จึงอาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีการปฏิรูปการเมืองแต่อย่างใด และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐธรรมนูญ จึงอาจจะทำให้กลายเป็นสายล่อฟ้า เป็นเป้าให้ถูกโจมตีอย่างแน่นอน นอกจากนี้ในส่วนของนักการเมืองที่เสนอตัวลงเลือกตั้ง ก็ไม่ได้แสดงถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด

การเมืองจึงยังเป็นแนวทางธุรกิจการเมือง มุ่งแย่งชิงอำนาจ โจมตีใส่ร้ายซึ่งกันและกันเหมือนเดิม มากกว่าการนำเสนอนโยบายเพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของประเทศ

ส่วนแนวทางการปฏิรูปการเมืองเกี่ยวกับ “การปรองดอง” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะไปไม่เป็นเช่นกัน และไม่รู้ว่าความปรองดองและความสมานฉันท์ได้ทำอะไร และจะทำอย่างไรได้บ้าง รู้ๆ กันแต่เพียงว่า ความปรองดองที่ต้องการให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาร่วมกันสร้างชาติร่วมกันนั้น ยังเห็นว่าแต่ละฝ่ายยังแบ่งขั้วชัดเจนเหมือนเดิมและในสถานการณ์การเมืองเวลานี้ ก็กำลังใส่ความล่อกันอย่างนัวเนีย และอาจจะเห็นการส่อแววความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจยังดำรงอยู่เช่นเดิม และอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีก

นี่คือบทเรียนของการปฏิรูปการเมืองที่ต้องแก้โจทย์หากคิดใหม่ได้ โดยเฉพาะความกล้าที่จะทำให้การเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ต้องให้ทุกกลุ่มของประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการของรัฐธรรมนูญ โดย คสช.ต้องไม่แสดงอาการที่บ่งบอกถึงการสืบทอดอำนาจ

สิ่งที่ผมเห็นว่า การปฏิรูปประเทศที่พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดายที่สุดก็คือ “การปฏิรูปท้องถิ่น” เพราะมีฐานข้อมูลจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง สปช.และ สปท.ไว้อย่างพร้อมมูล นอกจากนี้มีการยกร่างกฎหมายรอพร้อมให้รัฐบาลเปิดไฟเขียวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะการปฏิรูปท้องถิ่นต้องกระทำพร้อมๆ กับการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ในการที่จะทำให้เกิดการลดอำนาจภาครัฐ เพิ่มอำนาจท้องถิ่น ซึ่งเห็นว่าเป็นการเรียกร้องในการปฏิรูปตลอดมา เพื่อทำให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่ต้องปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการให้หน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ ทดแทนส่วนราชการ โดยปรับเปลี่ยนบทบาทภาคราชการให้เป็นผู้วางกรอบนโยบายชาติ และสนับสนุนช่วยเหลือการทำงานของท้องถิ่นในด้านวิชาการ เทคนิค เครื่องมือ และงบประมาณ รวมทั้งการติดตามประเมินผล

ส่วนการจัดบริการสาธารณะของรัฐที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่วนราชการส่วนกลางและภูมิภาคจะต้องถ่ายโอนภารกิจทั้งงาน เงิน คนมาให้กับ อปท. และที่สำคัญ “การแก้จนและการลดความเหลื่อมล้ำ” ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย จะต้องปรับเปลี่ยนมาให้ท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบ จึงจำเป็นจะต้องถ่ายโอนงบประมาณและงานประเภทนี้มาให้ท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะสามารถรู้ปัญหา รู้ข้อมูล

และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

ส่วนสิ่งที่มีความจำเป็นในการปฏิรูปท้องถิ่น นั่นก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของท้องถิ่น ทั้งในแง่ของการพัฒนารายได้ท้องถิ่น การจัดโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยเร่งรัดให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายกิจการพาณิชย์ท้องถิ่น กฎหมายความร่วมมือ (สหการ) ระหว่างท้องถิ่น รัฐ และเอกชน และประมวลกฎหมายท้องถิ่น เพื่อควบรวม อปท. โดยใช้หลักรายได้และหลักประชากร รวมทั้งดำเนินการทำให้หนึ่งตำบลมีเพียงหนึ่ง อปท.เท่านั้น

ผมเข้าใจว่า มีหลายเรื่องที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปประเทศที่ต้องย้อนเวลามาทบทวน ทั้งเรื่องการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปความปรองดองและความสมานฉันท์ และการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น ซึ่งไม่แน่ใจนักว่า ข้อเสนอในเรื่องเหล่านี้ได้ถูกเสนอเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติมีอะไรบ้าง และนี่คือวันเวลาที่ต้องย้อนทบทวน

แม้รัฐบาลอาจจะโบ้ยไปว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศได้บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแนวทางการปฏิรูปประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่เข้าใจว่าสังคมอยากเห็นแนวทางการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ในทางปฏิบัติ มิใช่ที่อยู่ในลักษณะเอกสาร (Paper Work)

นี่คือสิ่งที่สังคมไทยคาดหวังว่า การรัฐประหารจะไม่ได้ทำให้ “เสียของ”

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image