‘วันเด็ก’ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำ ฤๅปรากฏการณ์‘สวยแต่รูปจูบไม่หอม’ : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ทุกปีในวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม สำหรับประเทศไทยต่างรู้กันดี
ว่าวันนั้นเป็นวันเด็กแห่งชาติและเป็นวันที่เด็กทั่วประเทศจะได้รื่นเริงบันเทิงใจกับกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ใจดีจัดให้
วันเด็กสำหรับประเทศไทยหากย้อนกลับไปในวันที่แรกเริ่มของการก่อเกิดพบว่าจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ.2498 ตามคำเชิญชวนของนายวี.เอ็ม.กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็กและเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมเตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

ด้วยความสำคัญดังกล่าวรัฐบาลในขณะนั้นจึงจัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

สาระสำคัญหรือจุดประสงค์หลักของการจัดงานวันเด็กในวาระแรกเริ่มน่าสนยิ่งที่ผู้ใหญ่ในยุคนั้นเล็งเห็นความสำคัญของเด็กหรือทุนมนุษย์ที่จะก้าวเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต จึงกำหนดวัตถุประสงค์ของงานดังกล่าวเพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนได้รู้ถึงความสำคัญของตนเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัยที่มีต่อตนเองและสังคมมีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หลังจากงานวันเด็กแห่งชาติได้จัดมาอย่างต่อเนื่องในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจวบจนมาถึงปี พ.ศ.2506 และในปี 2507 ไม่สามารถจัดงานได้เพราะเป็นช่วงหน้าฝนจนถึงปี พ.ศ.2508 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้วันเด็กแห่งชาติตรงกับวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม จนถึงทุกวันนี้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติจากอดีตถึงปัจจุบันทุกปี จะมีปรากฏการณ์ที่เด็กและผู้ใหญ่ในสังคมต่างประจักษ์และสัมผัสคือการที่ผู้นำประเทศจะมีการมอบคำขวัญเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้กับเด็กได้นำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งคำขวัญวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบไว้ได้แก่ “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

และในปี 2562 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบคำขวัญความว่า “เด็ก เยาวชน จิตอาสาร่วมพัฒนาชาติ”

ด้วยคำขวัญอันหลากหลายที่ผู้นำประเทศได้มอบให้แก่เด็กมาอย่างต่อเนื่องนั้น จะพบว่าในแต่ละห้วงเวลาและสถานการณ์มิติของคำขวัญจะถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยข้อความที่สวยหรูซึ่งเหมาะและเข้ากับสภาวะทางสังคม แต่หากมองให้ลึกและถึงแก่นแท้ที่มีต่อคำขวัญนั้น ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการได้มีการศึกษาวิจัยหรือไม่ว่าคำขวัญที่ทรงคุณค่าอันมาจากผู้นำประเทศเด็กในฐานะผู้รับสารที่ผู้ใหญ่จัดให้เขาเหล่านั้นได้นำไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน หรือคำขวัญเป็นเพียงหนึ่งในพิธีกรรมที่ต้องมีการสืบทอดเท่านั้น

Advertisement

วันนี้โลกเข้าสู่ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง สภาวะที่นำไปสู่การดำเนินชีวิตของเด็กย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยิ่งในยุคดิจิทัลด้วยแล้ววิถีชีวิตของเด็กอาจจะต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่หลากหลายทั้งในด้านบวกและด้านลบ จากมิติดังกล่าวจำเป็นอยู่เองที่ผู้ใหญ่ในสังคมจะต้องร่วมรู้ร่วมคิดในการที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

เมื่อกล่าวถึงงานวันเด็กแห่งชาติจะพบว่าในแต่ละปีจะมีเสียงสะท้อนจากเด็กอันเนื่องมาจากการสำรวจความคิดเห็นของโพลจากสำนักต่างๆ ซึ่งเด็กที่เป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่างจะมีมุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะความพึงพอใจที่มีต่อกิจกรรมบันเทิงและของขวัญที่ผู้ใหญ่จัดให้ แต่ในขณะเดียวกันจากการสำรวจในบางมิติเด็กที่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่และมองไปข้างหน้ากลับเสนอว่าการจัดงานวันเด็กไม่ควรที่จะมีแต่กิจกรรมที่สะท้อนถึงความรื่นเริงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีวิธีการหรือกิจกรรมที่สร้างเสริมให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองและเตรียมพร้อม ที่จะนำไปสู่การพัฒนาแห่งอนาคต

ต่อกรณีการจัดงานวันเด็กของประเทศไทยหากย้อนกลับไปในการจัดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 มติชนออนไลน์ประจำวันที่ 11 มกราคม 2561 ได้นำเสนอข่าวที่น่าสนใจโดยเฉพาะการพาดหัวข่าวความว่า สมพงษ์ จิตระดับ เสนอปฏิรูปงานวันเด็กแนะอย่าปิดกั้นความเห็น “ดูรถถัง-ตั้งสแตนดิ้ง” ไม่ได้อะไร

สาระสำคัญในข่าวดังกล่าว ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสวนาทางวิชาการ เรื่อง “วันเด็ก…..ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ” หนึ่งในประเด็นการเสวนา ศ.ดร.สมพงษ์ได้สะท้อนมุมมองประเด็น วันเด็ก รักหรือหลอกเด็กตอนหนึ่งว่า “ตนเห็นช่องโหว่ของประเทศไทยที่ทำให้ไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลางสักทีจากการศึกษาจากประเทศอื่นทำให้เห็นว่าต่างประเทศให้ความสำคัญกับเด็กมากกว่าประเทศไทย ในวันเด็กของหลายประเทศจะมีการจัดทำโครงการระยะยาว เราต้องปฏิรูปงานวันเด็กเลิกธรรมเนียมนิยม เน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้มีชีวิตชีวา สร้างพื้นที่ให้เด็กแสดงออกให้เด็กสร้างโจทย์ไม่ส่งเสริมความรุนแรง ส่งเสริมให้สภานักเรียนมีเครือข่าย มีการเคลื่อนไหวอยากให้ผู้มีอำนาจพูดกับเด็กอย่าไปกลัวเด็ก ไม่ใช่ไปพื้นที่ไหนก็พูดคุยกับแต่หน่วยงานเอกชนหรือแค่เอาสแตนดิ้งมาตั้ง”

ที่สำคัญในการเสวนาดังกล่าว ศ.ดร.สมพงษ์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่รักเด็กอยู่ แต่ผู้ใหญ่ยังติดกรอบไม่กล้าคิดอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมเรียกร้องให้วันเด็กปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เกิดจากเสียงของเด็ก ดีกว่าคำขวัญปีแล้วปีเล่าที่ไม่เกิดผลในเชิงปฏิบัติ”

วันนี้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่ตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนมีการกำหนดนโยบาย แผนและเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเป็นความหวังของสังคมและประเทศชาติ หรือเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนแห่งอนาคต

ข้อควรพิจารณาที่รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในปีนี้ต้องนำไปเป็นโจทย์หรือการบ้านได้แก่โครงสร้างของเด็กไทยที่เริ่มเปลี่ยนไปคือจำนวนเด็กที่ลดลงและมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนั้นจะมีวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นที่ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการผลักดันให้เด็กและเยาวชนก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ มีความพอเพียงและเพียงพอหลีกไกลจากอบายมุข สิ่งเสพติด มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมาย และ ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นหนึ่งในมิติที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรภาครัฐจำเป็นที่จะต้องนำไปเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ หากคลี่ดูในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ

ที่สำคัญยุทธศาสตร์การพัฒนาคนจะเสริมเติมเต็มสังคมด้วยการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น การสานต่อเพื่อให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนบรรลุเป้าหมายและสัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง กระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่จะต้องเป็นแกนหลักในการสานต่อ

การปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 หากกระทรวงศึกษาฯดำเนินการได้ดังสาระที่กำหนด อาทิ การปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษาในทุกประเภท ฯลฯ ได้ดังที่กำหนดก็จะเป็นอานิสงส์ที่สำคัญสำหรับการยกระดับและพัฒนาเด็กให้เป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าของสังคมและประเทศชาติในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหรือตัวแปรที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในวันนี้คงหนีไม่พ้น “กับดักของความเหลื่อมล้ำ” ที่เกาะกินสังคมมาอย่างยาวนาน และยังไม่มีรัฐบาลใดที่จะขจัดกับดักหรือหลุมดำแห่งความเหลื่อมล้ำให้หมดไปจากสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ศ.โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “การเลือกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนคนหนึ่งคือ การเลือกเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีฐานะดี” และในประเด็นนี้สอดคล้องกับการที่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บรรยายเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคมไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 สาระตอนหนึ่งมีการกล่าวว่า เด็กไทยที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดีมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีฐานะ มากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่ยากจนถึง 3 เท่า

และจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมนี่เอง จะพบว่าในงานวันเด็กของทุกปียังมีเด็กอีกจำนวนมากที่กระจายอยู่ในพื้นที่ของประเทศทั้งในและนอกเมือง รวมถึงชายขอบเด็กกลุ่มนี้จะสัมผัสกับความเหลื่อมล้ำและยังขาดโอกาสที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเหมือนกับเด็กที่มีความพร้อม

การจัดงานวันเด็กหรือการพัฒนาเด็กเพื่อก้าวไปสู่การเป็นทุนมนุษย์ที่พึงประสงค์ของสังคมแห่งอนาคต ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ใหญ่และผู้บริหารภาครัฐทั้งมวลต้องตระหนักในคุณค่าและแก่นแท้ของสาระสำคัญ ไม่ควรดำเนินการในลักษณะของกระแสนิยม หรือให้ผ่านพ้นไปในแต่ละช่วงปี

แก่นแท้ซึ่งความสำเร็จที่เป็นจริง ต้องเปี่ยมไปด้วยมิติของหลักการและปรัชญาแห่งการเข้าใจ เข้าถึงในสาระของความสำคัญ ไม่ใช่มุ่งเน้นในลักษณะ “สวยแต่รูป จูบไม่หอม” หรือที่ชาวต่างชาติพาดพิงว่า from whitout content

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image