เด็กไทย… : โดย เฉลิมพล พลมุข

ทารกหรือเด็ก เยาวชนที่ได้ลืมตาดูโลกมีชีวิตอยู่รอดไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด ร่างกาย สติปัญญา ศักยภาพ ความรู้ความสามารถจักเป็นเช่นใด ทุกชาติสังคมโลกถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดถึงการพัฒนาของชาติบ้านเมืองทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี วัฒนธรรม รวมไปถึงระบบการเมืองของชนชาติและประเทศนั้นๆ

เมืองไทยเราวันหนึ่งในรอบปีที่รัฐได้ให้ความสำคัญสำหรับชีวิตของเด็กๆ นั่นก็คือวันเด็กแห่งชาติ (Children Day) สำหรับปีนี้ พ.ศ.2562 ได้มีคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” สำหรับคำขวัญวันเด็กเมื่อปีที่แล้วก็คือ “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” และเมื่อย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีคำขวัญวันเด็กที่ว่า ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี…

เมื่อ 3 ปีที่แล้วมา พ.ศ.2558 องค์กรยูเนสโกได้มีการสำรวจชีวิตของเด็กทั่วโลกพบว่า มีเด็กที่มิได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนในตัวเลขที่มากว่า 67 ล้านคน ในขณะที่เมืองไทยเราพบเด็กกลุ่มดังกล่าวและมีการออกจากระบบการศึกษาในตัวเลขที่มากกว่า 5.8 แสนคน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจไทยถึง 3.3 แสนล้านบาท หรือ 3% ของจีดีพีในทุกๆ ปี

หากย้อนไปเมื่อ 21 ปีมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2540 มีเด็กนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษา 13.8 ล้านคน ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาถึง 5.9 ล้านคน เมื่อมาถึงปี พ.ศ.2552 มีจำนวนเด็กเรียนในระบบดังกล่าวในตัวเลข 5.1 ล้านคน คาดว่าในปี พ.ศ.2573 จะมีตัวเลขที่ 3.4 ล้านคน และจำนวนเด็กเยาวชนในกลุ่มอื่นๆ ก็มีจำนวนสัดส่วนลดลงไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ…(Sanook.com)

Advertisement

เมื่อวันเด็กมาถึงเราท่านก็ได้พบเห็นกิจกรรมที่หน่วยงาน องค์กร บุคคลต่างๆ ได้ทำกิจกรรมให้กับเด็กๆ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รู้สึกถึงของความสำคัญของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ได้สนใจในชีวิตของเขาถึงแม้ในรอบหนึ่งปีจะมีวันสำคัญที่รัฐได้จัดขึ้นมาโดยมีการละเล่นต่างๆ ร้อง เล่นเต้นรำ แจกขนม อาหาร ตุ๊กตา ของเด็กเล่น รวมไปถึงการแสดงโชว์ของหน่วยงานหนึ่งของรัฐนั่นก็คือให้เด็กๆ ได้ไปดูการบินของเครื่องบินบนท้องฟ้าของทหารอากาศ เผื่อว่าวันหนึ่งชีวิตของเด็กเหล่านั้นจะได้มีความฝันเป็นทหารอากาศ…

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงในวันเด็กที่ได้ร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวเมื่อย้อนไปในอดีตที่ได้พบเห็นถึงภาพเหตุการณ์ที่เครื่องบินโชว์ผาดโผนในรูปลักษณะต่างๆ แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ เครื่องบินตกทำให้นักบินเสียชีวิต อารมณ์ความรู้สึกของเด็กๆ ในขณะนั้นปรับเปลี่ยนจากความรู้สึกสนุกสนานเป็นความเศร้าเสียใจ และถูกตั้งคำถามในใจที่ว่า กิจกรรมบางอย่างของรัฐที่จะต้องใช้เงินหรืองบประมาณที่มากมาย ใช้ชีวิตข้าราชการที่เขาเองก็มีครอบครัวความรับผิดชอบที่จะส่งต่อลูกหลาน เมื่อมาวันหนึ่งเขาต้องจบชีวิตในวัยอันมิควร ถึงแม้ว่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ชีวิตเขาควรได้รับความตายในวันเด็กด้วยหรือไม่

ข้อเท็จจริงหนึ่งชีวิตในวัยเด็กทั้งของคนไทยเราบางคนหรือเด็กๆ ทั่วโลกในขณะนี้ชีวิตของเขาเหล่านั้นตั้งแต่ลืมตาดูโลกขึ้นมาหลายคนเกิดมาต้องพบกับสภาพปัญหาที่รุมเร้ารอบด้านทั้งโรคที่ติดตัวมาทั้งที่รักษาได้และโรคเรื้อรัง การใช้ชีวิตของเขาเหล่านั้นหากท่านผู้อ่านได้ใช้ชีวิตในต่างจังหวัดหรือนอกเมืองไปก็จะได้พบเห็นรถรับเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ไปโรงเรียนระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยม สภาพรถตู้หรือรถสองแถวบางคันมิได้อยู่ในสภาพถึงความปลอดภัยทั้งอายุการใช้งานของรถและสภาพของรถมิอาจจะรวมถึงอุบัติเหตุที่ทำให้เขาเหล่านั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต

Advertisement

ข้อมูลหรือข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อทั้งของเมืองไทยเราและต่างชาติในรอบปีเราท่านจะได้พบข้อเท็จจริงในชีวิตของเด็กเยาวชนในหลากหลายบริบท สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นที่วิตกกังวลให้กับรัฐบาลและแวดวงของการศึกษาก็คือ จำนวนตัวเลขของเด็กทารกที่เกิดในรอบปีลดลง โรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนในต่างจังหวัดก็ต่างมีกุศโลบายลดแลกแจกแถมในการหาจำนวนเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนของตนให้มากที่สุด การบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการยังคงมีสภาพปัญหาทั้งจำนวนตัวเลข คุณภาพชีวิต ทั้งของเด็กรวมถึงครู อาจารย์ การใช้งบประมาณยังคงมีปัญหาที่เราท่านได้พบเห็นก็คือมีหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปนับจำนวนเด็กนักเรียนว่ามีตัวตนในการเป็นนักเรียนอยู่จริงหรือไม่…

งานวิจัย วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาได้เข้าไปศึกษาและพบสภาพปัญหาในแวดวงการศึกษารอบด้าน ทั้งสุขภาพของเด็กๆ เด็กหลายคนไม่กินผัก ผลไม้ ตามรั้วโรงเรียนและในโรงเรียนบางแห่งมีขนมกรุบกรอบ ขนมสี น้ำอัดลม อาหารบะหมี่สำเร็จรูปไว้ขายให้กับเด็กๆ เด็กหลายคนสภาพร่างกายอ้วน พ่อแม่หลายคนเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในเทคโนโลยีเหล่านั้นมีทั้งการ์ตูน เกม เด็กบางคนใช้เวลานานจนกระทั่งมีปัญหาด้านสายตาและพฤติกรรมด้านอารมณ์ เด็กบางคนขาดสารอาหารซึ่งกระทบไปถึงสติปัญญาสมองของเด็กๆ ที่จะรับในการเรียนการสอนของครูอาจารย์ ในขณะเรียนเด็กบางคนเล่นโทรศัพท์มือถือท่องไปในโลกของออนไลน์อย่างไร้ขอบเขต

ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 หมวด 2 ในมาตรา 10 ที่ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมถึงต้องจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ ร่างกายพิการทุพพลภาพ หรือบุคคลที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล ด้อยโอกาส ต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ

สังคมไทยเรายังมีเด็กเยาวชนประเภทต่างๆ อีกมากมาย อาทิ เด็กพิการตา หู แขน ขา สติปัญญา การเรียนรู้ ออทิสติก หรือเด็กปัญญาเลิศที่มีศักยภาพสติปัญญา ความสามารถทางสมองมากกว่าเด็กทั่วไป มีความเฉลียวฉลาด มีพัฒนาการในด้านต่างๆ รวดเร็ว มีบุคลิกภาพ สัมพันธภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดทั้งรูปธรรมและนามธรรมไปในระดับสูง ซึ่งกลุ่มของเด็กปัญญาเลิศเป็นที่ปรารถนาของครอบครัว องค์กรการศึกษาโดยคาดหวังว่าเขาเหล่านั้นจะนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความเป็นอารยะ

เมื่อเร็ววันมานี้ได้มีการเสวนา “มองคุณภาพชีวิตประชากรไทยจากปัจจุบันสู่อนาคต” เป็นการประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2561 โดยมีคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคด้านสังคมได้นำเสนอข้อมูลที่สำคัญคือ สังคมไทยเราพบเด็กที่อายุ 0-14 ปีต่อประชากรทั่วไปน้อยกว่าประเทศในอาเซียน ขณะเดียวกันก็พบสัดส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปต่อประชากรมากที่สุดในอาเซียนเช่นกัน คุณภาพชีวิตของเด็กไทยวันนี้ก็คือ คนท้องไม่พร้อม คนพร้อมไม่ท้อง ยิ่งสูงอายุยิ่งจน เจ็บป่วย โอกาสรอดชีวิตของแม่และเด็กมีสัดส่วนที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากระบบการแพทย์สาธารณสุขอยู่ในระดับที่ดี จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นหลายธุรกิจลดการจ้างงานที่มีระบบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทำงานแทน แรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ทุกหนแห่งในเมืองไทย คนไทยเราที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตทั้งด้านการออม จัดการสุขภาพ วางแผนครอบครัว ทักษะชีวิต ปัญหาของผู้สูงอายุยังเป็นปัญหาในระดับชาติ…(มติชนรายวัน 26 ธันวาคม 2561 หน้า 18)

เมื่อหลายปีที่แล้วมาผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งประธานกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แห่งหนึ่ง ในระบบการศึกษาเมืองไทยเรายังคงพบสภาพปัญหาที่รัฐบาลไทยเราทุกรัฐบาลต่างก็ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ งบประมาณที่ทุ่มเทไปเพื่อการศึกษาอยู่ในลำดับแรกของงบประมาณทั่วไป รัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มีนโยบายหนึ่งก็คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หนึ่งในนั้นก็คือการปฏิรูประบบการศึกษาชาติ ระยะเวลาของการเป็นรัฐบาลก็ยังคงพบสภาพปัญหารอบด้านทั้งหนี้สินของบุคลากรทางการศึกษา ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการ การวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อเข้าสู่ระดับผู้บริหาร โรงเรียนหลายแห่ง ชีวิตของเด็กๆ ถูกละเลยด้วยวันเวลาของครูที่ต้องยกระดับชีวิตต้องเร่งทำผลงานวิชาการ เด็กหลายคนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ติดดเกม เป็นเด็กแว้น ติดยาเสพติด จนกระทั่งเข้าสู่ยุวอาชญากรรมอยู่ในทัณฑสถาน สถานพินิจอยู่ทั่วเมืองไทย

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้จากแวดวงการศึกษาก็คือ ยังมีสัดส่วนเด็กอยู่จำนวนหนึ่งที่ขาดพ่อแม่ ขาดผู้ปกครองเป็นเด็กกำพร้า เมื่อเข้าสู่สถานที่ศึกษาผู้บริหาร ครูอาจารย์ พี่เลี้ยงใส่ใจเขาเหล่านั้นอย่างจริงใจ หลายคนก็ใฝ่ในการเรียนรู้ในทักษะทั้งความรู้ ความสามารถของชีวิตเพื่อนำพาตนเองให้อยู่รอด เด็กๆ หลายคนใช้ความสามารถทางดนตรีของตนเอง ร้องเพลงเปิดหมวดในตลาดถนนสาธารณะเพื่อนำเงินไปใช้ในการศึกษา

บางคนช่วงปิดเทอมก็ไปทำงานล่วงเวลาในองค์กร บริษัท หรือในห้างสรรพสินค้าและนำเงินเหล่านั้นไปช่วยเหลือครอบครัว เราท่านก็ต่างชื่นชมในการกระทำของเขาเหล่านั้น…

ในแวดวงการศึกษาช่วงระดับการศึกษาหนึ่งก็คือระดับอุดมศึกษา หรือปริญญา พบว่าระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในปีการศึกษา พ.ศ.2562 หรือที่เรียกว่าระบบทีแคสมีผู้ลงทะเบียนไม่ถึง 300,000 คนจากมหาวิทยาลัย 92 แห่งที่มีการเปิดรับสมัคร 5 รอบ อาทิ แฟ้มสะสมงาน โควต้า รับตรงร่วมกัน แอดมิสชั่นส์และรับตรงอิสระ มีนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนมีจำนวนน้อยกว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับเข้าเรียนได้ โดยในแต่ละรอบมีผู้สละสิทธิจำนวนมาก ซึ่งปัญหาหนึ่งที่พบในระบบการศึกษาก็คือเด็กเยาวชนหลายคนไม่สนใจใส่ใจที่จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เสพติดเทคโนโลยี รักความอิสรเสรี บางคนจบในระดับมัธยมก็สามารถทำงานหาเงินได้มากกว่าที่จบระดับปริญญา

บรรดานักวิชาการส่วนหนึ่งได้นำเสนอถึงการจัดระบบการศึกษาโดยเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-70 ปีขึ้นไปได้เข้าศึกษาเล่าเรียนเพื่อทดแทนจำนวนเด็กเยาวชนที่มีจำนวนลดลงไปอย่างรวดเร็ว อาจจะมีบางคำถามไปยังสถานศึกษาหรือบางนโยบายที่ว่า การที่จะให้ผู้สูงอายุ คนแก่คนชราเข้ารับการศึกษาถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงามในการพัฒนาสติปัญญาความรู้แต่ยังคงมีอีกมุมมองหนึ่ง อาทิ สุขภาพกายทั้งการเห็น การได้ยิน แขน ขา มือ สมองที่จักต้องฟันฝ่าถึงระบบการเรียนการสอนในบางรายวิชาอาจจะต้องทุ่มเทต่อการศึกษา ผู้สูงอายุบางคนจบการศึกษาระดับปริญญามีรูปถ่ายพร้อมกับลูกหลาน เราท่านได้พบเห็นก็อดที่จะภูมิใจด้วยมิได้

ชีวิตของเด็กเยาวชนไทยคงจะไม่มีชีวิตเพียงการจัดกิจกรรมในวันเด็กเพียงวันเดียวในรอบปี ชีวิตของเขาเหล่านั้นต้องได้รับการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ทักษะชีวิตที่จะต้องอยู่ท่ามกลางของสังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม เงินนิยม ประชานิยม อำนาจนิยมโดยเฉพาะการเลือกตั้งในอนาคตภายหน้านี้ที่ถูกกล่าวขวัญถึงประชาธิปไตยไทย เขาเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของประเทศอยู่จริงหรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image