รื่นร่มรมเยศ : พุทธวิธีเสริมสุขภาพ (10) : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

อาตมภาพแสดงธรรมเรื่องโพชฌงค์มานี้ ก็ได้พูดไปตามหลัก ให้เห็นความหมายในแต่ละข้อและความสัมพันธ์กัน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะนำไปใช้อย่างไรในกรณีแต่ละกรณี อันเป็นเพียงการพูดให้เห็นแนวกว้างๆ เท่านั้น จะให้ชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อเรานำไปใช้ในเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ ในเรื่องแต่ละเรื่อง ว่าจะใช้อย่างไรให้เห็นประจักษ์แก่ตนเอง เมื่อได้เห็นประโยชน์ประจักษ์ขึ้นมาครั้งหนึ่ง เราก็จะมีความชัดเจนขึ้นและนำไปใช้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้น

โอกาสนี้อาตมภาพก็ถือว่าเป็นการพูดเริ่ม หรือเป็นการบอกแนวทางให้หลักการไว้ เป็นความเข้าใจทั่วไป เกี่ยวกับเรื่อง โพชฌงค์ ก็พอสมควรแก่เวลาขอส่งเสริมกำลังใจโยม ขอให้โยมเจริญด้วยหลักธรรมเหล่านี้ เริ่มต้นด้วยสติเป็นต้นไป

โดยเฉพาะข้อหนึ่งที่อยากให้มีมากๆ ก็คือ ปีติ ความอิ่มใจ จะได้ช่วยเป็นอาหารใจ คือ นอกจากมีอาหารทางกายเป็นภักษาแล้ว ก็ขอให้มีปีติเป็นภักษาด้วย คือ มีปีติเป็นอาหารใจ เป็นเครื่องส่งเสริมให้มีความสุข เมื่อมีความสุขกายแล้ว มีความสุขใจด้วย ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความสุขโดยสมบูรณ์ มีสุขภาพพร้อมทั้งสองด้าน คือ ด้านกายและด้านใจ มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

หลักธรรมที่อาตมภาพนำมาชี้แจงเหล่านี้ หากว่าได้นำไปใช้ก็จะเป็นพรอันประเสริฐที่เกิดขึ้นในจิตของโยมแต่ละท่านเอง อาตมภาพขอให้ทุกท่านได้รับประโยชน์จากหลักธรรมชุดนี้โดยทั่วกัน

Advertisement

โพชฌังคปริตร

     โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง         วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ                ตะถาปะเร
     สะมาธุเปกขะโพชฌังคา                     สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา                             ภาวิตา พะหุลีกะตา
     สังวัตตันติ อะภิญญายะ                     นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                             โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ
     เอกัสฺมิง สะมะเย นาโถ                      โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสะวา                            โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
     เต จะ ตัง อะภินันทิตะวา                    โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ                            โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ
     เอกะทา ธัมมะราชาปิ                        เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ                          ภะณาเปตะวานะ สาทะรัง
     สัมโมทิตฺวา จะ อาพาธา                   ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                           โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ
     ปะหีนา เต จะ อาพาธา                    ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสาวะ                            ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
     เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                      โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

โพชฌังคปริตร
(แปล)

Advertisement

โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจัย สัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เหล่านี้ อันพระมุนีเจ้าผู้เห็นธรรมทั้งสิ้น ตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลมาเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพานและเพื่อความตรัสรู้ ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้าทอดพระเนตรพระมหาโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะอาพาธ ได้รับทุกขเวทนา ทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ท่านทั้ง 2 ชื่นชมภาษิตนั้น หายโรคในขณะนั้น ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ครั้งหนึ่ง แม้พระธรรมราชาอันความประชวรเบียดเบียนแล้ว รับสั่งให้พระจุนทเถระแสดงโพชฌงค์นั้นโดยเอื้อเฟื้อ ก็ทรงบันเทิงพระทัย หายประชวรโดยพลัน ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ก็อาพาธทั้งหลายนั้น อันพระมหาฤๅษีทั้ง 3 องค์ละได้แล้ว ถึงความไม่บังเกิดเป็นธรรมดา ดุจกิเลสอันมรรคกำจัดแล้ว ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image