‘เหตุประมาททางการแพทย์’กับข้อจำกัดในการฟ้องคดีอาญา

ปัญหาใหญ่ของระบบการสาธารณสุขไทยในขณะนี้ คงไม่พ้นเรื่องของมาตรฐานในการรักษา (standard of care) และปัญหาการที่แพทย์ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย (criminal medical negligence) สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในสภาพของสังคมยุคทุนนิยมปัจจุบัน ทำให้เกิดความผันแปรในความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ จากเดิมที่เคยเป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเปลี่ยนไปเป็นการแพทย์พาณิชย์ ทำให้หลายกลุ่มหลายฝ่ายทั้งนักการตลาด กลุ่มพิทักษ์สิทธิ ทนายความและบริษัทประกันชีวิต ต่างพุ่งเป้าในการแสวงหาประโยชน์จากความผิดพลาดของแพทย์ในทางคดี

สิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ทำให้วิชาชีพแพทย์ในปัจจุบันตั้งอยู่บนความเสี่ยงในการรักษาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเหตุว่าความไม่พร้อมต่างๆ เช่น การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในโรงพยาบาล การขาดเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย หรือแม้แต่สภาวะการอดหลับอดนอนของแพทย์ผ่าตัดเคสยามดึกโดยเร่งด่วน เหตุต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเหตุปัจจัยที่ผู้พิพากษาจะนำไปตัดสินว่าแพทย์กระทำโดยประมาททางอาญาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ทั้งนั้น

ภัยจากข้อกฎหมายในเหตุเรื่องประมาทดังกล่าวเกิดขึ้นชัดเจนที่สุดเมื่อปี พ.ศ.2550 เมื่อศาลจังหวัดทุ่งสงพิพากษาสั่งให้จำคุกแพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลอำเภอร่อนพิบูลย์เป็นเวลา 3 ปี เพราะจำเลยไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางยา (วิสัญญีแพทย์) แต่ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังให้คนไข้ผ่าตัดไส้ติ่งโดยประมาทเลินเล่อจนผู้ป่วยถึงแก่ความตายเพราะไม่ควบคุมปริมาณยาชาให้เหมาะสม

ในขณะที่แนวทางของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งถือปฏิบัติกันมาเป็นปกติว่า แพทย์ทั่วไปที่จบแพทย์บัณฑิตทุกคนมีความสามารถในการฉีดยาบล็อกหลังและการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งหรือการผ่าตัดคลอด (cesarian section) ได้ ผลกระทบจากคดีดังกล่าวทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเกือบ 700 แห่งทั่วประเทศไม่ทำการผ่าตัดคนไข้ไส้ติ่งอักเสบ รวมไปถึงการผ่าตัดอื่นๆ เนื่องจากโรงพยาบาลชุมชนขาดแคลนวิสัญญีแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลอำเภอต้องส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลระดับจังหวัดหรือโรงพยาลบาลศูนย์ที่ใหญ่กว่า ทำให้คนไข้ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในระหว่างการย้ายโรงพยาบาล

Advertisement

บทความนี้จึงมุ่งเน้นวิเคราะห์ข้อกฎหมายว่าด้วยการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ว่าโดยแท้จริงแล้ววัตถุประสงค์ของมาตรา 291 นั้น มีขอบเขตครอบคลุมไปถึงการกระทำของแพทย์หรือผู้ที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นภยันตรายด้วยหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงความไม่เข้าใจในหลักกฎหมายของผู้สั่งคดีกันแน่

เริ่มต้นจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี” หมายถึงการกระทำโดยประมาทนั้น จะต้องเป็นการสร้างภยันตรายขึ้นมาใหม่อันเป็นผลโดยตรงทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

เช่น นาย ก. ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนนาย ข. ตาย ถือว่านาย ก. เป็นผู้ก่อภยันตรายโดยประมาทโดยตรง ทำให้นาย ข. ถึงแก่ความตาย ภัยหรือภยันตรายตามมาตรา 291 นั้น จะต้องเกิดจากการกระทำประมาท นั้นๆ เสมอไป หมายถึงผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้ก่อภัยนั้นด้วยตนเอง มิใช่เป็นการรองรับภยันตรายที่ผู้ตายได้ประสบเหตุร้ายแรงมาก่อนหน้านี้ เช่น นายเอกำลังว่ายน้ำข้ามคลอง แล้วโดนนายบีขับขี่เจ็ตสกีทับขาจนเส้นเลือดใหญ่ที่ขาขาด นายซีเพิ่งเรียนจบแพทย์มาเข้ามาพบเห็นจึงว่ายน้ำไปช่วยเหลือและช่วยห้ามเลือดให้ แต่นายซีประมาทไปนำเชือกผูกเรือที่หาได้แถวนั้นมาใช้ห้ามเลือด นายเอจึงติดเชื้อและเสียชีวิต

การกระทำของนายซีจึงไม่ได้ก่อภยันตรายขึ้นมาใหม่ เพราะภยันตรายนั้นได้มีอยู่เดิมตั้งแต่ที่นายบีขับขี่เจ็ตสกีทับขาผู้ตาย ซึ่งหากแม้ว่านายซีไม่เข้ามาช่วยห้ามเลือดให้นายเอ นายเออาจจะเสียชีวิตจากภยันตรายเดิมอยู่ดี

นอกจากนี้ ยังมีอาชีพอื่นๆ ที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับผู้คนที่เรียกว่า “Bystander” เช่น พนักงานดับเพลิง และ Lifeguard ในบางครั้งที่มีการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในวิชาชีพนั้น ที่เรียกว่า “professional malpractice” ถึงขั้นประมาทอย่างร้ายแรง (gross negligence) เช่น หมอศัลยแพทย์ผ่าตัดเคสหนักจนดึกดื่นจนเหน็ดเหนื่อยเพราะอดหลับอดนอนจนพลาดไปตัดเส้นเลือดใหญ่คนไข้ตาย (negligent performance of operation) หมอจ่ายยารักษาโรคผิดพลาด (negligent drug treatment) พวกเขาจะมีเพียงความรับผิดชดเชยความเสียหายในทางแพ่งเพียง (medical malpractice) เท่านั้น

ฉะนั้น ปัญหาเรื่องเหตุประมาททางการแพทย์นี้จึงสมควรนำมาทำความเข้าใจใหม่กับหลักกฎหมายอาญาให้ถ่องแท้ว่า กรณีบุคคลที่อยู่ในอาชีพที่ต้องแบกรับความเสี่ยงภัยของผู้อื่นเพื่อช่วยเหลือผู้คนแล้วกลับต้องมาเสี่ยงติดคุกเสียเองนั้น น่าจะต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในการปรับใช้บทกฎหมายอย่างแน่นอน

ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความเข้าใจผิดดังกล่าวนำไปสู่การไขแก้กฎหมายให้ละเว้นความผิดทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่งกับแพทย์ดังที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นการสร้างข้อยกเว้นความรับผิดของแพทย์ขึ้นมาใหม่ และไปขัดต่อหลักความเสมอภาคของการใช้กฎหมาย (equity of law) เพราะความจริงแล้วปัญหาความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่หลักกฎหมาย แต่อยู่ที่การใช้กฎหมายของอัยการและผู้พิพากษาที่ขาดความเข้าใจถึงเจตนารมณ์เบื้องหลังของมาตรา 291 เสียเอง

ก็คือคำว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาท” ตามมาตรา 291 นั้นหมายถึง “การกระทำ” นั้นต้องก่อให้เกิดอันตรายขึ้นมาใหม่ โดยมาตรา 291 มิได้กินความกว้างไปถึงความผิดพลาดในการทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นตามกฎหมาย (duty to rescue) ซึ่งผู้มีหน้าที่จะกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อ “ละเว้นหรือละเลย” ไปจากการทำหน้าที่เท่านั้น

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ขออธิบายดังนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน” บทบัญญัติดังกล่าวมาจากหลักกฎหมายทั้งในระบบคอมมอนลอว์และซีวิวลอว์ที่เรียกว่า “Duty to Rescue Law” หรือ “A Good Sumaritan Doctrine” ซึ่งกำหนดความรับผิดทางอาญาของบุคคลในทุกวิชาชีพผู้ที่ประสบพบเห็นผู้อื่นที่ตกอยู่ในภยันตรายแล้วตนเองไม่ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เป็นกฎหมายสนับสนุนให้พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือผู้อื่นโดย “ไม่ต้องลังเลหรือเกรงกลัว” ว่าตนจะถูกฟ้องกลับเป็นคดีอาญา

หากปรากฏผลว่าการช่วยเหลือไม่สำเร็จหรือตนเองได้ผิดพลาดและส่งผลร้ายเพิ่มเติมให้แก่ผู้ถูกช่วยเหลือ แต่มาตรา 374 ของไทยนี้ ยังมีข้อบกพร่องก็คือ การไม่เขียนบทคุ้มครองทางอาญาให้กับผู้ช่วยเหลือ แพทย์หรือพลเมืองดีเอาไว้ ทำให้ผู้ใช้กฎหมายไม่ทราบถึงการคุ้มครองผู้ที่เข้าช่วยเหลือ ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้อัยการและผู้พิพากษาไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของแพทย์จากการไม่ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาได้

หากจะมีการแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ จะต้องอ้างอิงหลักการของกฎหมายอาญา “Duty to Rescue Law” ในมาตรา 374 ไปด้วย เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่สามารถยกร่างพระราชบัญญัติใหม่เพื่อยกเว้นความผิดให้วิชาชีพแพทย์เป็นการเฉพาะได้

เพื่อให้เห็นความชัดเจน จะขอหยิบยกหลัก Good Sumaritan Law ตามกฎหมายเยอรมนี ซึ่งได้อธิบายไว้ชัดแจ้งว่า “any help one provide [under section 323c] cannot and will not be prosecuted even if it made the situation worse. People are thus encourage to help in any way possible even if the attempt is not successful”

นอกจากนี้ ตามกฎหมายเยอรมนี แพทย์หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นจากอันตรายยังได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกันอุบัติเหตุของเยอรมนีหากผู้ที่เข้าช่วยเหลือหรือแพทย์นั้นกลับกลายต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายเสียเองจากการบาดเจ็บหรือสูญเสียเพราะเหตุที่เข้าไปช่วยเหลือดังกล่าว

มาตรา 374 ของไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการช่วยเหลือในชั้นปฐมพยาบาล (first aid) เท่านั้น เพราะกฎหมายได้ใช้คำว่า “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตราย” คำว่า “ผู้ใด” เป็นคำจำกัดความอย่างกว้าง ย่อมต้องมีความหมายถึงบุคคลในทุกกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งย่อมต้องรวมไปถึงแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยด้วย ส่วนคำว่า “ภยันตราย” นั้น จะตีความจำกัดอยู่เฉพาะคนไข้ที่เข้ามารักษาแบบฉุกเฉิน (ER) หรือไม่นั้น สังเกตได้ว่ากฎหมายไม่ได้ใช้คำว่า “ภยันตรายที่เร่งด่วน” ดังนั้น จึงต้องหมายรวมไปถึงภยันตรายในทุกกรณีของผู้ป่วย เช่น การฉีดคีโมเพื่อรักษาโรคมะเร็งซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต การรักษาโรคซึมเศร้าที่ผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ตลอดเวลา ภยันตรายตามมาตรา 374 นี้จึงหมายถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงทุกประเภท แต่ไม่รวมถึงการผ่าตัดศัลยกรรมเพื่อความสวยงามเพราะไม่ใช่ภยันตรายตามความหมายของมาตรา 374 ฉะนั้น แพทย์เสริมสวยหรือคลินิกเสริมความงามต่างๆ จะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองตามนัยของมาตรา 374 แต่อย่างใด

การตัดสินใจและเหตุผลทางการแพทย์ (reasonable medical judgment) นั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในวงการสาธารณสุข เนื่องจากแพทย์ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ รอบด้าน อาทิ สภาพการแพ้ยาของผู้ป่วย ภาวะฉุกเฉินของเคสเร่งด่วนเช่นการผ่าตัดสมองในยามดึก ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย

ในสภาพการณ์เช่นนั้น แพทย์คนหนึ่งอาจตัดสินใจคนละอย่างไปจากแพทย์อีกคนหนึ่งก็ได้ แม้ว่าทั้งสองคนนั้นจะเรียนจบเฉพาะทางและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกัน เป็นไปตามหลักการ “Two Schools of Thought Doctrine” เรื่องนี้เป็นที่ทราบดีในวงการกฎหมายละเมิดของแพทย์ในต่างประเทศ เพราะการตัดสินใจรักษานั้นมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา เช่นว่า ร่างกายของคนไข้ก็อาจตอบสนองกับยาบางตัวได้ไม่เหมือนกัน จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ยากว่าการรักษาอีกวิธีจะทำให้คนไข้นั้นรอดชีวิตได้ ส่วนการที่ศาลใช้พยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความและตัดสินตามความเห็นของพยานนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เพราะวิชาชีพแพทย์นั้นถือเป็น Science of Uncertainty ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือมาตรฐานที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้นๆ การตัดสินใจและเหตุผลทางการแพทย์นั้น แพทย์จึงต้องมีความกล้าในการตัดสินใจแม้ต้องตั้งอยู่บนความเสี่ยงอยู่ตลอดก็ตาม

แต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า แพทย์ต้องคอยพะว้าพะวังกับการถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหากตนเองรักษาแล้วทำให้คนไข้ตาย ภาวะการห่วงหน้าพะวงหลังนี้เองบังคับให้แพทย์ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของอาชีพตนเองมากกว่าการอยู่รอดของผู้ป่วย ดังนั้น การตัดสินใจของแพทย์จึงเปลี่ยนมาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่ตนจะต้องไม่ถูกฟ้องคดีมากกว่าการทุ่มเทหน้าที่ในการรักษาเหมือนแต่ก่อน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันก็มีแนวโน้มจะไม่ช่วยเหลือแพทย์ที่ถูกฟ้องแต่อย่างใด ส่วนผู้ป่วยก็เน้นการฟ้องแพทย์มากขึ้นเพราะคิดว่าฟ้องคดีกับแพทย์นั้นง่ายกว่าการต่อสู้ทางคดีกับโรงพยาบาล เมื่อสถานการณ์สังคมได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้จะทำหน้าที่ช่วยเหลือบุคคลอื่นอย่างเต็มที่กลับต้องหยุดยั้งการให้ความช่วยเหลือเพราะเหตุจากความกลัวต่อกฎหมาย กฎหมายจึงกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้คนในสังคมกล้าที่จะพึ่งพาอาศัยต่อกันได้ ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเหตุการณ์ที่ชาวบ้านไม่ว่ายน้ำเข้าช่วยเหลือพระนางเรือล่มขณะที่เรือพระประเทียบล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอปากเกร็ด หากสังคมไทยไม่อยากให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อนต้องเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะกฎเกณฑ์ที่ลืมคำนึงถึงเหตุผลด้านมนุษยธรรม

ถึงเวลาแล้วที่เราย่อมควรตระหนักได้ว่าการฟ้องแพทย์ติดคุกเพราะเหตุรักษาผู้ป่วยโดยประมาทถึงแก่ความตายนั้น ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว ระบบการสาธารณสุขไทย ผู้ป่วย และประชาชน คือผู้ที่จะได้รับผลกระทบเสียหายมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image