ครู : เรือทองประคองสังคม : โดย ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

สังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้ความสำคัญและยกย่องให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ทั้งนี้ เนื่องจากครูเป็นต้นทางในการสร้างคนและมีส่วนในการพัฒนาสังคมและกำหนดทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์

บทบาทหน้าที่ของครูหรือพันธกิจที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความเจริญงอกงามให้กับศิษย์ด้วยการเป็นต้นแบบหรือแม่พิมพ์ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และวิชาการต่างๆ โดยหวังให้ศิษย์เติบโตเป็นคนดีคนเก่งของสังคม และถึงแม้นว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในมิติต่างๆ หรือด้วยปรากฏการณ์ใดๆ ก็ตาม บทบาทหน้าที่ของครูในการที่จะเป็น “เรือทองเพื่อประคองสังคม” และรังสรรค์ความดีงามให้แก่ศิษย์ก็ไม่เคยแปรเปลี่ยน

ประเทศไทยเป็นชาติที่โชคดีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น “ครูแห่งแผ่นดิน” ด้วยการที่พระองค์ท่านทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อวงการศึกษาอย่างหาที่สุดไม่ได้ในตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้มีการถวายพระราชสมัญญานามเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

Advertisement

สำหรับประเทศไทย วันที่ 16 มกราคมของทุกปี กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนดให้มีการจัดงานวันครูเพื่อที่จะเชิญชวนให้ประชาชนรำลึกถึงพระคุณครูและเห็นความสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพครู สำหรับการจัดงานวันครูในแต่ละปีจะมีกิจกรรมที่หน่วยงานเกี่ยวข้องทั่วประเทศทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้จัดขึ้นเพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมและประเพณีที่คนรุ่นเก่าได้สร้างกันมาอย่างหลากหลาย

ด้วยความสำคัญของ “ครู” ในส่วนของรัฐบาลนั้นจะพบว่าทุกยุคต่างให้ความสำคัญต่อวิชาชีพครูโดยจะกำหนดเป็นนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าต่อการพัฒนาการศึกษาชาติและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขบนเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นครู

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ซึ่งนโยบาย 1 ใน 11 ด้านที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้คือ ด้านการศึกษา และการเรียนรู้การทะนุบำรุงศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งในข้อ 4.6 มีความว่า พัฒนาระบบการผลิตครูและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เน้นครูผู้สอนให้มีวุฒิตรงตามวิชาที่สอน นำเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนรู้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยครูหรือเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ฯลฯ

Advertisement

และทุกปีเมื่อวันครูเวียนมาบรรจบครบรอบตามธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้นำประเทศ หรือนายกรัฐมนตรีจะมีการมอบคำขวัญเพื่อให้ครูนำไปปฏิบัติ ซึ่งในปี 2562 นี้ วลีหรือคำขวัญที่นายกฯมอบให้ ได้แก่ “ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี” และที่สำคัญนอกเหนือจากคำขวัญแล้ว การปาฐกถาหรือสารจากนายกรัฐมนตรีที่ได้กล่าวกับครูและผู้เกี่ยวข้องในพิธีเปิดงานวันครูก็จะเป็นอีกหนึ่งในมิติที่น่าสนใจยิ่งสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู

เมื่อย้อนกลับไปในพิธีเปิดงานวันครูประจำปี 2561 ที่หอประชุมคุรุสภา วันนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวความตอนหนึ่งว่า “ครู 24 ชั่วโมง อยู่บ้านก็ต้องเป็นครูสอนลูก บางทีสอนสามีด้วย สามีเป็นลูกศิษย์บ้างในบางครั้ง นั่นคือสังคมของประเทศไทย ฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เราทำวันนี้อย่างที่ผมให้คำขวัญว่า ศิษย์ดีก็ด้วยครูดี มีศรัทธา ถ้าเราศรัทธาซึ่งกันและกัน ซึ่งความศรัทธาเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จ อุปสรรคเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหาต่างๆ ของชาติบ้านเมืองและวงการศึกษา การศึกษาไม่ใช่มีเฉพาะครูกับนักเรียน แต่ยังมีบุคลากรการศึกษาและผู้บริการอีกเยอะรวมถึงเอกชน ภาครัฐซึ่งทั้งหมดต้องมีศรัทธาระหว่างกัน ทำอย่างไรให้การศึกษาของเราดีขึ้น”

จากแถลงนโยบายและการแสดงออกของนายกรัฐมนตรีจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะพัฒนาและยกระดับวิชาชีพครู ซึ่งครูหรือบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการที่จะเป็นเรือทองด้วยการประคองสังคมไทยและยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศคงจะมีขวัญและกำลังใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามเป้าหมายแห่งวิชาชีพต่อไป

แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่ครูและผู้คนในสังคมตั้งโจทย์ถึงรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการอยู่เนืองๆ คือความไม่แน่นอน ความไม่ต่อเนื่องในการสืบสานงานเก่าและนโยบายที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีเดิมดำริไว้ วันนี้ถ้าครูกลับไปดูแนวคิดหรือนโยบาย

ในสมัยที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันครูครั้งนั้น รมว.ศธ.ท่านนี้กล่าวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาครู ซึ่งความตอนหนึ่งมีว่า “จะนำโจทย์หรือการบ้านที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายไปสู่การปฏิบัติและจะเห็นผลชัดเจนในปี 2559 อาทิ โครงการให้ครูเกษียณอายุราชการกลับมาสอน โครงการคุรุทายาท คืนครูให้ท้องถิ่นพร้อมกับจะมอบของขวัญให้กับนักเรียนและครูด้วยการจะทำให้ครูมีเวลาอยู่กับเด็กให้มากขึ้น พยายามลดภาระครูให้อยู่ในห้องเรียนและจะดูแลเรื่องสวัสดิภาพครูและมอบหมายให้เลขาธิการ สพฐ.จัดทำโครงการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครูจำนวน 4 หมื่นกว่าหลังให้แล้วเสร็จในปี 2561 นอกจากนั้นยังเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินครูเพื่อให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (มติชน 4 มกราคม 2559 หน้า 7)

ด้วยวาทะคำคมหรือยาหอมที่ผู้นำประเทศได้มอบให้กับครูทุกปี ผู้ประกอบวิชาชีพครูต่างเปี่ยมด้วยความสุขและความหวังกันถ้วนหน้าเพราะยาหอมที่พรั่งพรูออกมานั้นเหมือนกับเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐบาลจะเข้ามาดับทุกข์หรือแก้ปัญหาที่คั่งค้างมาอย่างยาวนาน ยิ่งในปีใดที่ผู้นำประเทศตลอดจน รมว.ศึกษาธิการที่มาจากนักการเมืองด้วยแล้วน้ำผึ้งหรือคำหวานที่หยอดให้ครูได้ลิ้มรสดื่มกินสุดที่จะเป็นปลื้มสำหรับครู แต่เมื่อวันเวลาผ่านจวบจนถึงทุกวันนี้บางครั้งนโยบายหรือคำพูดที่เคยนำเสนอไว้หาได้นำมาสู่การปฏิบัติไม่

วันนี้โลกและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง ครูเองก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีส่วนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ครูวันนี้อาจจะต้องปรับวิธีคิดและแนวทางเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงการสอนหรือบทบาทหน้าที่อาจจะมีความหนัก เบา ต่างไปจากในอดีต

แต่ด้วยปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ครูจะต้องเป็นครูมืออาชีพมากกว่าผู้ที่จะเข้ามาเพื่อประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้โลกจะมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อครูเป็นหนึ่งในสัตว์ของสังคมแน่นอนครูย่อมต้องมีความต้องการปัจจัยต่างๆ เหมือนกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น และด้วยความต้องการของครูในบางประเด็นที่เกินควร ขาดความพอเพียง จึงนำไปสู่การมีหนี้สิน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีกระแสข่าวเรื่องครูมีหนี้สินล้นพ้นผ่านสื่อมวลชนด้วยครูกลุ่มหนึ่งเตรียมที่จะเบี้ยวหนี้ที่ตนเองก่อไว้จนส่งผลกระทบต่อสังคมวิชาชีพครูอยู่พอสมควร

เรื่องหนี้สินของครูถือได้ว่าเป็นหลุมดำหนึ่งในกับดักที่ส่งผลต่อการประกอบวิชาชีพของครูอยู่ในระดับหนึ่ง ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการมีการสำรวจพบว่าครูมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งครูสี่แสนกว่าคนย่อมจะมีหนี้สินที่มากน้อยแตกต่างกันไป แต่การที่ครูมีหนี้สินจนล้นพ้นย่อมจะส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนและเป็นอันตรายต่อวงการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มีองค์กรและบุคคลต่างๆ ได้ศึกษาถึงมูลเหตุตลอดจนทางออกที่หลากหลาย ผู้เขียนสืบค้นเรื่องนี้พบว่าหนึ่งในบุคคลที่กล่าวถึงไว้และน่าสนใจยิ่ง ได้แก่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ได้แสดงทรรศนะไว้ตอนหนึ่งว่า “หนี้สินครูเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สกสค.ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินให้ครู มีแต่ส่งเสริมให้เป็นหนี้เพิ่ม”
(มติชน 16 ธันวาคม 2558 หน้า 7)

และเมื่อไปศึกษามูลเหตุของการก่อเกิดหนี้สินครู รศ.ดร.วรากรณ์ได้สะท้อนให้เห็นภาพผ่านบทความ “เรื่องหนี้สินครูก้าวกระโดด” ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนรายวันตอนหนึ่งว่า “ครูจำนวนหนึ่งมีความเชื่ออย่างผิดๆ ว่า กู้ไปเถอะอย่างไรเสียรัฐก็ต้องโดดลงมาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างแน่นอน เพราะมิฉะนั้นเด็กจะถูกกระทบ ในแนวคิดจับเด็กนักเรียนเป็นตัวประกันเช่นนี้มีอยู่จริงในครูบางกลุ่ม โดยเฉพาะเมื่ออ่านสัญญาณจากภาครัฐว่าจะมีการผัดผ่อนหนี้ครู มีการคิดจะตั้งกองทุนช่วยแก้ไขหนี้สินครู ฯลฯ ครูกลุ่มนี้ก็จะกู้มากยิ่งขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือหนี้สินครูมีสาเหตุจากการกินอยู่เกินฐานะเพราะต้องรักษาหน้า ต้องการเป็นคนมีระดับ มีตัวช่วยหาเงินให้กู้อยู่ตลอดเวลา มีแนวคิดจะจับนักเรียนเป็นตัวประกัน มีการหักเงินผ่อนชำระก่อนได้รับเงินเดือนที่เป็นระบบ พร้อมกันนั้น รศ.ดร.วรากรณ์สรุปว่าคนที่น่าสงสารที่สุดในเรื่องนี้คือเหล่าบรรดานักเรียนตัวประกันทั้งหลาย” (มติชน 22 กันยายน 2554 หน้า 6)

การแก้หนี้สินครูคงเป็นการบ้านที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการจะต้องไปแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขกันต่อไป ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดตราบใดถ้าครู (บางคน) ยังดำเนินชีวิตอย่างไม่พอเพียงและเพียงพอ ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงเป็นดินพอกหางหมูที่เกาะติดวงการวิชาชีพครูและวงการศึกษาตลอดไป

แต่วันนี้ผู้เขียนเชื่อว่าครูส่วนใหญ่ของประเทศยังเป็นครูที่มีคูณภาพ คุณธรรม และพร้อมที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าไปพร้อมกับการปฏิรูปประเทศ ที่สำคัญครูพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถในการแข่งขันและเดินหน้าประเทศไทยให้ก้าวไกลเท่าเทียมกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว

การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของครูเพื่อให้ครูมีขวัญกำลังใจที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะการส่งเสริมให้ครูเป็นครูมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ พร้อมที่จะเป็นเรือทองประคองสังคม ตลอดจนเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมไปด้วยความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการนำนวัตกรรมใหม่มาประยุกต์ใช้ต่อการปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องนำไปเป็นโจทย์หรือการบ้าน

เมื่อพูดถึงการมีแนวคิดต่อการส่งเสริมและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ทำให้คิดถึงกองทุนครูของแผ่นดิน ซึ่งเป็นกองทุนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ที่ทรงมีต่อการศึกษาไทยด้วยการจัดตั้งกองทุนครูของแผ่นดิน ซึ่งในวาระแรกรัฐบาลได้สมทบเงินเข้ากองทุนประเดิมจำนวน 4 ล้านบาท ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพและองค์กรภาครัฐภาคเอกชนร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนได้ร้อยกว่าล้านบาท

กองทุนครูของแผ่นดินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนในการส่งเสริมสนับสนุนให้ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ ค้นคว้าและวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพและความเป็นเลิศด้านต่างๆ ฯลฯ ดังนั้นเพื่อให้กองทุนดังกล่าวได้ดำเนินต่อไปตามวัตถุประสงค์ หวังว่ากระทรวงศึกษาธิการจะได้สานต่อเพื่อประโยชน์จะได้ตกเป็นของครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งวงการศึกษาโดยรวมอย่างแท้จริง

วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่สังคมให้ความสำคัญไม่ต่างไปจากวิชาชีพอื่น ซึ่งปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีที่เยาวชนให้ความสนใจที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่างหันมาสมัครเข้าเรียนในสาขาวิชาชีพครูเพิ่มขึ้นและเพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูรับใช้สังคมในอนาคตดังความมุ่งหวัง บรรดาคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตครูโดยตรงจะต้องตระหนักต่อนโยบายของรัฐบาล มาตรฐานและแผนพัฒนาวิชาชีพที่จะทำให้บัณฑิตเป็นผู้มีความพร้อมและเป็นที่ยอมรับของสังคม ที่สำคัญสถาบันการผลิตครูจะต้องยึดหลักการสร้างครูมืออาชีพด้วยมืออาชีพอย่างแท้จริง

ในอดีตสถาบันอุดมศึกษามีโครงการผลิตครูที่หลากหลายทั้งโครงการคุรุทายาท ครูพันธุ์ใหม่ ครูเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จนเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ด้วยการแข่งขันของการผลิตในสถาบันต่างๆ ทำให้เจตนารมณ์ของโครงการเปลี่ยนไปนักศึกษาที่จบมามีปริมาณเกินความต้องการจนนำไปสู่การสูญเสียทางการศึกษาซึ่งส่งผลทำให้คนกลุ่มนั้นต้องตกงานและเปลี่ยนไปประกอบวิชาชีพอื่น

ล่าสุดเพื่อให้ผู้เรียนวิชาชีพครูมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและเหมาะกับบริบทของสังคม กระทรวงศึกษาธิการจึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการเรียน 5 ปีมาเป็น 4 ปีอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการจะผลิตครูตามโครงการหรือรูปแบบใดนั้นไม่สำคัญเท่ากับการที่มหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคตที่ชัดเจนเดินตามแผน ไม่ควรที่ต่างฝ่ายต่างทำอย่างที่ผ่านมา

วันนี้ครูจะปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ไม่ว่าครูผู้นั้นจะเป็นครูในเมือง ครูในชนบท หรือถิ่นทุรกันดารรวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยตลอดจนครูภูมิปัญญาหรือครูข้างถนน ครูเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีคุณค่าพร้อมที่จะปิดทองหลังพระด้วยจิตวิญญาณอันเปี่ยมล้นเปรียบเสมือนเรือทองที่ร่วมประคองสังคมอย่างแท้จริง และเชื่อว่าครูก็พร้อมที่จะประกอบวิชาชีพดังคำขวัญวันครูที่ผู้นำประเทศมอบไว้

ถึงแม้นว่าครูจะมีอำนาจและพลังอันน้อยนิด เมื่อเทียบกับพลังหรืออำนาจอื่นที่มีอยู่ในในสังคม แต่วันนี้เชื่อว่าครูไทยก็จะเป็นหนึ่งในมิติของฟันเฟืองที่พร้อมจะอยู่เบื้องหลังสำหรับความสำเร็จของเด็กและเยาวชนที่ร่วมสร้างชาติสร้างสังคมแห่งอนาคต

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image