ชาวบ้านคัดค้านโครงการขยะ (ตอนที่ 2) : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงความล้มเหลวของการบริหารจัดการฝังกลบขยะของท้องถิ่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นในการจัดการปัญหาขยะ จนขยายเป็นกระแสคัดค้านโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับขยะในปัจจุบัน

ทำไมท้องถิ่นจึงไม่สามารถจัดการกับระบบฝังกลบให้ดีได้ ทั้งที่นักวิชาการหรือหน่วยงานส่วนกลางอ้างมาตลอดเวลาว่าการฝังกลบขยะ “เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย”, “เป็นระบบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน”

ก่อนนี้เมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนล้วนมีวิธีการกำจัดขยะแบบเดียวกัน คือ การเอาขยะไปเททิ้งในพื้นที่ว่างห่างจากเขตเมือง ต่อมาเมื่อกองขยะสะสมมากขึ้นและเขตเมืองขยายออกไปจนใกล้กองขยะ ประชาชนได้รับผลกระทบ การแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นด้วยสองทางเลือก

ทางแรกคือ การย้ายที่เทกองให้ไกลออกไปอีก อย่างเช่นในอดีต กรุงเทพฯก็มีกองขยะอยู่แถวดินแดงและสวนจตุจักร สมัยนั้นเค้าเรียกพื้นที่แถวนั้นว่า “หัวกอง” เมื่อเขตเมืองขยายออกไป “หัวกอง” ก็ถูกปิดแล้วย้ายห่างออกไปแถวอ่อนนุช ท่าแร้ง และหนองแขม ซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับสภาพให้เป็นสถานีขนถ่ายขยะเพื่อนำขยะไปกำจัดแบบฝังกลบในพื้นที่ไกลออกไป ส่วนหนึ่งไปที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

Advertisement

ทางเลือกในการแก้ปัญหาแบบนี้ ในที่สุดก็ถึงทางตันเพราะหาพื้นที่ใหม่สำหรับทิ้งขยะยากขึ้นเรื่อยๆ

อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการปรับปรุงให้การเทกองมีระบบการป้องกันผลกระทบทั้งกลิ่น แมลงวัน และน้ำเสีย ตลอดจนมีวิธีการที่จะทำให้การฝังกลบใช้พื้นที่น้อยลง การปรับปรุงเหล่านี้เป็นที่มาของวิธีการฝังกลบแบบถูกสุขาภิบาล รวมทั้งการใช้วิธีการอื่นๆ

การฝังกลบแบบถูกสุขาภิบาลมีหัวใจสำคัญคือการกลบและเป็นการกลบขยะรายวันเพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่นที่จะไปรบกวนชุมชนใกล้เคียง ทั้งยังสามารถตัดวงจรการเกิดแมลงวันได้ด้วย ภาพที่ชาวบ้านต้อง “กางมุ้งกินข้าว” ก็จะหมดไปเพราะตัวอ่อนของแมลงวันถูกกลบทำลายจนหมดทุกวัน

ส่วนเรื่องน้ำเสียจากขยะและจากน้ำฝนที่ผสมปนเปื้อนขยะก็เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่ง ในการจัดการกับน้ำเสียนั้น ลำดับแรกต้องป้องกันไม่ให้น้ำเสียจากหลุมขยะซึมลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งจะกลายเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่รุนแรงและเป็นวงกว้าง

ดังนั้น ในการก่อสร้างระบบฝังกลบจะต้องเริ่มด้วยการป้องกันไม่ให้น้ำเสียซึมออกไปปนเปื้อนชั้นน้ำใต้ดินและแหล่งน้ำของชุมชน การป้องกันนี้ทำได้หลายวิธี เช่น การบดอัดดินเหนียวเพื่อกันการซึมผ่าน หรืออีกวิธีคือการปูแผ่นพลาสติกหนาทั้งที่พื้นหลุมและด้านข้าง

แผ่นพลาสติกดังกล่าว เรียกว่า High Density Polyethylene หรือ HDPE มีคุณสมบัติที่หนาและเหนียว คงทน สามารถป้องกันการซึมผ่าน และการติดตั้งง่ายกว่าการบดอัดดินเหนียว

เมื่อป้องกันน้ำเสียจากขยะซึมออกภายนอกแล้ว ก็ต้องนำเอาน้ำเสียภายในหลุมฝังกลบขยะไปบำบัด ตรงนี้เองที่ทำให้การฝังกลบแบบถูกสุขาภิบาลต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบดังกล่าวต้องสามารถบำบัดทั้งความเข้มข้นของน้ำเสียและปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากขยะเองและจากน้ำฝนที่ปนเปื้อนในหลุมฝังกลบ

เรื่องต่อมา คือ การแก้ปัญหาก๊าซที่เกิดขึ้นเมื่อขยะถูกกลบ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซที่ติดไฟ และเป็นสาเหตุของการเกิดไฟไหม้กองขยะอย่างที่เป็นข่าวบ่อยๆ ดังนั้น พื้นที่ฝังกลบที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลต้องมีท่อรวบรวมก๊าซเพื่อเผาทิ้งหรือนำมาใช้ประโยชน์เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของก๊าซที่อาจเป็นอันตรายจากการระเบิดหรือไฟไหม้

ในการฝังกลบจำเป็นต้องบดอัดและเพื่อให้พื้นที่สามารถรองรับขยะได้มากขึ้น การบดอัดขยะจะคล้ายการบดอัดในขั้นตอนการก่อสร้างถนน การบดอัดที่ดีจะต้องทำให้ขยะหลังบดอัดมีความหนาแน่นประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ระบบฝังกลบจึงต้องมีเครื่องจักรที่สามารถเกลี่ยขยะ เกลี่ยดินกลบและบดอัดได้

จะเห็นได้ว่า การฝังกลบที่ว่ากันว่า “ไม่ยุ่งยากซับซ้อน” ก็มีวิธีการที่ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน มีเหตุมีผล ต้องได้รับการเอาใจใส่ แต่ในความเป็นจริงพบว่าขั้นตอนเหล่านี้ไม่มีการดำเนินงานให้เห็น แม้กระทั่งระบบฝังกลบที่ถูกสร้างขึ้นด้วยงบประมาณจำนวนมากให้เป็นระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล แต่กลับใช้เป็นแค่ที่เทกองขยะเช่นเดิม ไม่มีการกลบรายวัน ไม่มีการบดอัด ไม่มีการเดินระบบบำบัดน้ำเสีย สุดท้ายก็เกิดผล
กระทบกับชาวบ้านอีก

ความล้มเหลวของการจัดการระบบฝังกลบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง แต่เกิดขึ้นแทบทุกแห่ง จนเกิดความคิดโน้มเอียงของบางหน่วยงานที่ต้องการเปลี่ยนวิธีกำจัดไปใช้เตาเผา สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวคือระบบราชการที่ไม่สามารถพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ชำนาญการเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งตามวาระเพื่อความก้าวหน้าส่วนบุคคล คนที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ได้ช่วงเวลาหนึ่ง คนใหม่มาก็ต้องเริ่มกันใหม่

ทุกอย่างถอยกลับไปตั้งต้นใหม่หรือกระทั่งระบบทั้งระบบหายไปกับการโยกย้าย

อีกสาเหตุหนึ่งของความล้มเหลวคือขาดงบประมาณ แม้การฝังกลบจะ “ไม่ยุ่งยากซับซ้อน” แต่ก็มีต้นทุน มีค่าใช้จ่ายที่ท้องถิ่นต้องจัดสรร ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร ค่าไฟฟ้า ค่าสารเคมีสำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย การที่จัดงบประมาณไม่เพียงพอทำให้เครื่องจักรชำรุดเสียหาย ขยะก็ไม่ได้กลบบดอัดรายวัน ไม่มีงบจ่ายค่าไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำเสียไม่สามารถเดินระบบบำบัดน้ำเสีย ในที่สุดระบบก็ล้มเหลว ชาวบ้านก็เดือดร้อน

อีกสาเหตุคือระบบงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ท้องถิ่นสำหรับการก่อสร้างกำหนดให้ท้องถิ่นต้องก่อสร้างหลุมฝังกลบขนาดใหญ่เพื่อรองรับปริมาณขยะอย่างน้อย 5 ปี หลุมฝังกลบจึงมีสภาพเป็นบ่อขยะที่เต็มไปด้วยน้ำ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียของท้องถิ่นสูงกว่าที่ประมาณการไว้

พอจะสรุปได้ว่าความล้มเหลวเหล่านี้เป็นความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง แม้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อเนื่องมากว่า 30 ปี แต่ก็ไม่มีสัญญาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปรับปรุงแก้ไข จนชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นถึงขีดความสามารถและความจริงใจในการแก้ปัญหาของระบบราชการ กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านคัดค้านโครงการขยะ

เพื่อแก้ไขความล้มเหลวที่กล่าวข้างต้น รัฐได้เสนอแนวคิดที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของท้องถิ่นดังที่กำหนดไว้ในโรดแมปการจัดการขยะของประเทศ แล้วเราจะมาดูกันว่าแนวคิดนี้จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้หรือไม่

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image