ผู้ลี้ภัย… : โดย เฉลิมพล พลมุข

ความต้องการขั้นพื้นฐานหนึ่งนอกจากอาหาร ยาโรงพยาบาลรักษาความเจ็บป่วย เครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นแล้วก็ยังมีบ้านเมืองประเทศที่อยู่อาศัยพักผ่อนหลับนอนของคนหรือมนุษย์เราที่นิยามข้อบังคับทั้งกฎหมาย จารีตประเพณี วัฒนธรรมอาจจะรวมไปถึงความรับผิดชอบของผู้บริหารประเทศนั้นๆ ที่ต้องดำรงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

ในอดีตกาลการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของคนหรือมนุษย์อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม หรือภูมิประเทศลำเนาท้องถิ่นนั้นไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต อาจจะรวมไปถึงการระบาดของโรคติดต่อชนิดร้ายแรงที่ทำให้มนุษย์ต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อวันเวลาผ่านไปการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปในความเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งหนึ่งที่เป็นความจำเป็นหนึ่งก็คือการรักษาชีวิตและดำรงเผ่าพันธุ์แห่งความเป็นมนุษย์

ผู้ลี้ภัย (Refugee) ในความหมายของ UNHCR ซึ่งในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 ก็คือ บุคคลที่จำเป็นทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหาร ลงโทษหรือคุกคามชีวิตด้วยสาเหตุจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคมรวมถึงสมาชิกในกลุ่มความคิดทางการเมือง สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติให้วันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปีให้เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก ข้อมูลหนึ่งเมื่อ ค.ศ.2005 มีประเทศต้นทางของผู้ที่ลี้ภัยสำคัญก็คือ อัฟกานิสถาน อิรัก เซียร์ราลีโอน พม่า โซมาเลีย เซาท์ซูดาน ปาเลสไตน์ ประเทศที่มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากที่สุดก็คือเซาท์ซูดานมีมากกว่า 5 ล้านคน และอาเซอร์ไบจานมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่า 800,000 คน (th.m.wikipedia.org)

ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) คือหน่วยงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้มีการริเริ่มก่อตั้งในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อให้การช่วยเหลือชาวยุโรปที่พลัดถิ่น หลังจากนั้นมาก็มีบทบาทในการช่วยเหลือกรณีผู้ลี้ภัยจากที่สหภาพโซเวียตนำกองกำลังเข้าปราบปรามปฏิวัติในฮังการี ในต้นศตวรรษที่ 21 ได้มีวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในแอฟริกา ประเทศคองโก โซมาเลีย และได้ขยายการช่วยเหลือไปยังเอเชีย อเมริกาใต้รวมทั้งทั่วโลกในปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเจนีวา โดยมีการทำงานใน 118 ประเทศทั่วโลกโดยมีกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 34.4 ล้านคน ได้แก่ กลุ่มคนพลัดถิ่นภายในประเทศ 14.4 ล้านคน ผู้ลี้ภัย 10.5 ล้านคน ผู้ถูกส่งกลับภูมิลำเนา 2 ล้านคน ผู้ไร้รัฐ 6.6 ล้านคน และผู้ขอลี้ภัยอีกมากกว่า 800,000 คน

Advertisement

ข้อมูลหรือข่าวหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อทั้งเมืองไทยเราและต่างชาติก็คือ กรณีนางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน อายุ 18 ปี ชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกทางการไทยได้ควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในขณะที่กำลังพยายามจะเดินทางไปขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย โดยขอร้องอย่าให้ทางการไทยได้ส่งตัวเองกลับประเทศซาอุฯ เนื่องด้วยตนเองได้หลบหนีออกจากบ้านเนื่องด้วยถูกบังคับให้แต่งงานหากกลับไปอาจจะถูกฆ่าตาย

ขณะเดียวกันบิดาและพี่ชายของนางสาวราฮาฟ ขอเข้าพบตัวเพื่อขอพูดคุยปัญหาในครอบครัวแต่นางสาวราฮาฟปฏิเสธให้บิดาและพี่ชายเข้าพบเนื่องจากความไม่ปลอดภัยของชีวิต สถานภาพบิดาของนางสาวราฮาฟมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐแห่งหนึ่งของประเทศซาอุฯ มีบุตร 10 คน ซึ่งในขณะที่มารดาของเขากำลังป่วยหนักสาเหตุที่ต้องหนีออกจากบ้านเป็นเรื่องน้อยใจภายในครอบครัวมิใช่เรื่องบังคับแต่งงานหรือขู่เข็ญทำร้ายร่างกาย และข้อมูลหนึ่งที่ว่านางสาวราฮาฟได้หนีเพื่อไปพบแฟนหนุ่มชาวอเมริกัน…(มติชนรายวัน 10 มกราคม 2562 หน้า 12)

ข่าวหรือข้อมูลที่มีชาวต่างชาติได้หลบหนีเข้าเมืองมาขอสถานภาพของผู้ลี้ภัยในเมืองไทยเราไม่ค่อยจะปรากฏเป็นข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อบ่อยนัก แต่เราท่านมักจะได้ยินได้ฟังการขอลี้ภัยอพยพย้ายถิ่นในเรื่องความขัดแย้งนโยบายข้อปฏิบัติของรัฐต่อกลุ่มคนนั้น ๆ อาทิ ชาวมุสลิมโรฮีนจา ในบังกลาเทศ การกวาดล้างชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ ในประเทศเมียนมา ข้างบ้านเมืองเรา หากย้อนไปเมื่อสี่สิบสี่ปีที่แล้วมาก็จะมีกรณีสงครามเวียดนาม กัมพูชา ลาว เส้นทางของการอพยพก็มีทั้งการเดินด้วยเท้า ไปทางเรือ ยานพาหนะทางบกและที่ทันสมัยในปัจจุบันก็ไปทางเครื่องบิน…

Advertisement

ในอดีตสงครามในกัมพูชาหรือเขมรในปี พ.ศ. 2521-2522 มีผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาเมืองไทยเราในตัวเลขกว่า 300,000 คน ชาวลาวประมาณ 400,000 คน นอกจากนั้นก็มีคนกลุ่มน้อยตามขอบชายแดนทั้งม้ง เย้า แม้ว กะเหรี่ยง และชนชาติที่มีชื่อเรียกอื่นๆ ที่เข้ามาอยู่อาศัยในแผ่นดินไทยตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีอยู่จำนวนมากมาย หลายคนเหล่านั้นบางคนได้สถานภาพเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ได้สิทธิของความเป็นพลเมืองไทยที่เขาเหล่านั้นสามารถมีชีวิตใช้สิทธิ หน้าที่ของความเป็นคนไทยที่รัฐบาลได้มีกฎหมายให้ความคุ้มครองดูแลตั้งแต่เกิด การเข้ารับการศึกษา การรักษาพยาบาล สิทธิประกันสังคม การมีงานทำ การครอบครองที่ดินมรดก รวมถึงสิทธิในความตาย

พระภิกษุรูปหนึ่งที่เราท่านรู้จักกันเป็นอย่างดีในระดับโลกก็คือ พระทะไล ลามะ ที่อยู่ในวิกฤตที่ประเทศจีนเข้ายึดครองทิเบตเมื่อ พ.ศ.2502 ทะไล ลามะในสถานภาพของผู้ปกครองสูงสุดทั้งของรัฐและศาสนาก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศหรือลี้ภัยพร้อมกับประชาชนจำนวนมากไปอยู่ที่ธรรมศาลาไมซอร์ ในประเทศอินเดีย อาจจะรวมถึงพระติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนามที่ให้มีการรณรงค์เพื่อหยุดการสนับสนุนการทำสงครามต่อรัฐบาล ในที่สุดท่านต้องขอลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส และได้ก่อตั้ง “หมู่บ้านพลัม” เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม อบรมภาวนาเผยแผ่และชุมชนสงฆ์และเป็นแหล่งพักพิงแห่งแรกของผู้ลี้ภัยและมีการขยายสาขาไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เมื่อกลางปีที่แล้วกรณีเงินทอนของวัดที่เกี่ยวข้องกับพระเถระในมหาเถรสมาคม หลายรูปถูกจับสึกถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ ขณะที่พระรูปหนึ่ง พระพรหมเมธีที่ได้หลบหนีด้วยช่องทางธรรมชาติได้ไปเป็นผู้ขอลี้ภัยในประเทศเยอรมนี ด้วยข้ออ้างหนึ่งคือ ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลทางศาสนาและการเมืองที่ละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

สถานภาพหนึ่งอาจจะเป็นที่สงสัยของชาวพุทธที่ว่า ท่านได้ขาดจากความเป็นพระ หรือกระทำผิดพระวินัยอย่างร้ายแรง การถูกถอดจากสมณศักดิ์ คดีอาญาข้อหาทุจริตเงินทอน ฟอกเงินก็ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ความเป็นพระเป็นสมณะในพระศาสนายังคงมีสถานภาพอยู่หรือไม่…

การลี้ภัย หนีภัยหรือหลีกหนีภัยของพระภิกษุ หรือพระสงฆ์มิค่อยจะเป็นข่าวที่ถูกนำเสนอต่อสื่อสาธารณะทั้งในสังคมไทยเราและสังคมในระดับโลกมากนักอันเนื่องมาจากผู้คนส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าโลกของพระหรือนักบวชเป็นโลกแห่งการแสวงหาสัจธรรมหรือความสุขสงบเพื่อหลุดพ้นจากโลก

ในข้อเท็จจริงหรือหลักการคำสอนหนึ่งในศาสนาพุทธในอดีตกาลที่ผ่านมาเราท่านบางคนอาจจะได้พบเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เห็นรูปพระพุทธเจ้าที่เสด็จไปจำพรรษาเป็นการส่วนตัวที่ป่าปาลิไลยก์ที่มีช้างและลิงเป็นผู้ช่วยเหลือรับใช้ อันเนื่องมาจากพระภิกษุแห่งเมืองโกสัมพีทะเลาะ พิพาทขัดแย้งแตกความสามัคคีกันจนชาวบ้านไม่คบหาสมาคม ซึ่งเป็นกลอุบายหนึ่งเพื่อสอนให้พระภิกษุมีความสามัคคีกันเมื่อวันเวลาผ่านไปใช้วิกฤตเป็นโอกาส พระภิกษุก็มาสามัคคีกันร่วมไม้ร่วมมือกันในการประกาศพระศาสนา

นักการเมืองไทยเราในอดีตที่ผ่านมากรณี การลี้ภัยรัฐประหาร นายปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนที่เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ต่อมา การรัฐประหาร พ.ศ.2490 ทำให้นายปรีดีต้องขอลี้ภัยไปอยู่ในประเทศจีน ฝรั่งเศส รวมเวลากว่าสามสิบปีที่มิได้กลับมาแผ่นดินไทยอีกเลย งานเขียนของเขาได้ถูกตีพิมพ์หลายครั้งที่สำคัญโดยนำหลักพุทธปรัชญามาวิเคราะห์กับวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่ชื่อ “ความเป็นอนิจจังของสังคม…”

การที่อดีตนายกรัฐมนตรีของเมืองไทยเรานายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจจะรวมไปถึงนักการเมืองคนอื่นที่ยังหลบหนีคดีอยู่ในการพิจารณาของศาล ยังคงเป็นประเด็นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้านี้ วาทกรรมหนึ่งที่เราท่านรับรู้ได้อย่างเสมอมาก็คือ คนดี-คนไม่ดี คนหลบหนีคดี-คนสู้คดี ประชาธิปไตย-เผด็จการ เลือกตั้ง-เลื่อนเลือกตั้ง ยังคงอยู่ในความลังเลสงสัยของประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำทั่วไปว่าการเข้ามาของคณะ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทำให้ประเทศชาติเกิดความสงบเรียบร้อย ไม่มีการประท้วงรายวัน การฆ่าทำร้ายด้วยอาวุธสงครามยุติไปชั่วขณะหนึ่ง

ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลก็ต้องการเดินหน้าประเทศไทย ปฏิรูปประเทศในประเด็นต่างๆ อาจจะมีบางคำถามที่ว่าบ้านเมืองเราทุกวันนี้มีความสงบเรียบร้อยราบรื่นจริงหรือไม่ ระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมการทำมาค้าขายหาเช้ากินค่ำของชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีมีสุขทุกบ้านหรือไม่อาจจะรวมไปถึงที่ว่า หากมีการเลือกตั้งที่จะมีมาในไม่ช้านี้เราท่านจักได้ระบอบประชาธิปไตยแห่งความเป็นไทยที่ไม่มีหมากกลทางการเมือง การใส่ร้ายป้ายสีการสืบทอดอำนาจรวมอยู่ด้วยหรือไม่…

ตรรกะหนึ่งของอดีตผู้นำไทยที่ต้องลี้ภัยอยู่ต่างแดนที่มีการโต้ตอบกันในระดับของผู้บริหารในรัฐบาลของโลกแห่งการรับรู้ก็คือ การกลั่นแกล้งไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการปฏิวัติรัฐประหารที่เป็นเหตุให้ต้องมีชีวิตอยู่ต่างแดนที่มิอาจจะทราบถึงวันเวลาที่จะได้กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง การปรองดองอาจจะเป็นวาระแห่งชาติหนึ่งที่อาจจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ข้อเท็จจริงที่ว่าการเมืองก็คือเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร แต่การเมืองของประเทศใดเป็นเช่นไรก็ต้องมองกลับไปที่ประชาชน นักการเมือง และรวมไปถึงอาชีพทหารที่มีทั้งอำนาจและอาวุธที่ใช้ในการสงครามอยู่ในมือ

เราท่านจักมองการเมืองไทยไปในทิศทางใด

กรณีการขอลี้ภัยของ น.ส.ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน พลเมืองของประเทศซาอุดีอาระเบีย ในวัย 18 ปี เราท่านไม่ค่อยจะได้ยินได้รับฟังบ่อยครั้งนักเนื่องด้วยตัวเขาเองก็มีอายุมิได้มากนัก เหตุผลของการขอลี้ภัยทั้งจากตัวเขาเองและคำกล่าวของบิดาก็มีข้อเท็จจริงคนละชุดกัน การแสวงหาข้อเท็จจริงในการขอลี้ภัยทั้งจากกรณีดังกล่าวและกรณีอื่นๆ อาจจะมีคำถามหรือแนวทางในการปฏิบัติเพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสม เหตุผลหนึ่งก็เพื่อความมีมนุษยธรรม การให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัย ในสิทธิแห่งชีวิตอย่างครบถ้วนหรือไม่

ชีวิตมนุษย์หรือคนเราทุกวันนี้ถูกรุมเร้าด้วยสภาพปัญหารอบด้านทั้งในมิติของวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม ทุนนิยม ประชานิยมและอำนาจนิยม สภาพปัญหาบางประเภทกระทบสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่ควรจะมีสิทธิอันชอบธรรมทั้งกฎหมาย ศีลธรรม ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม การหลีกหนีจากสถานที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอาจจะเป็นความหวังของการมีชีวิตที่ดีกว่า หรือเป็นการลงโทษที่มิอาจจะรับการให้อภัยโทษกันได้ เราท่านจะมีท่าทีอย่างไร

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image