ไต้หวันสวนกระแสสาส์น‘สี จิ้นผิง’ ไม่รับเอกภาพ ยืนยันเอกราช : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

พลันที่สาส์นจากสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคถึงชาวไต้หวัน อันเกี่ยวกับ “มาตุภูมิต้องเป็นเอกภาพ” ก็มีนักการเมืองที่ใฝ่ฝันเอกราชรุ่นเฮวี่เวต 4 คน ออกจดหมายเปิดผนึก โดยเรียกร้องให้ “ฉ้าย อิงเหวิน” ผู้นำสูงสุดไต้หวันล้มเลิกความตั้งใจเพื่อป้องกันแชมป์อยู่ต่ออีกหนึ่งสมัย ทั้งนี้ บังคับให้ส่งมอบอำนาจคืน และถอยไปอยู่แนวหลัง

ประเด็นที่พวกเขาไม่พอใจมากที่สุดคือ งานผลักดันไต้หวันให้เป็นเอกราชไม่เข้มแข็งพอ และถูกกล่าวหาว่าเป็นวิธีทำงานที่เปี่ยมด้วยภยาคติ จึงไม่สัมฤทธิผล
พวกเขาอ้างว่า ปัจจุบันมาตรการที่สหรัฐมีต่อสองฝั่งช่องแคบได้มีการเปลี่ยนแปลง ควรต้องใช้โอกาสเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่พึงมีพึงได้
พินิจจากเหตุการณ์ เป็นที่ประจักษ์ว่า แรงกดดันทั้งประเด็น “เอกภาพ” และ “เอกราช” ของสองฝั่งช่องแคบ มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยพลัน
อีก 1 ปีข้างหน้าที่เหลืออยู่ของฉ้าย อิงเหวิน จะแก้ไขปัญหาอย่างไร เป็นเรื่องที่ยาก เพราะในไต้หวันมีทั้งคนที่ต้องการเอกภาพและเอกราชครือกัน

กรณีละม้ายกับปัญหา Brexit ของสหราชอาณาจักร เพราะมีทั้งต้องการแยกและรวม

ความกังวลที่สถิตอยู่ในดวงหทัยของคนไต้หวันจึงไม่ต่างไปจากคนอังกฤษ

Advertisement

แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าทางสหรัฐ เพราะมีการเคลื่อนไหวทางการทหาร สถานการณ์ที่ช่องแคบไต้หวันอยู่ในสภาพพร้อมรบ ภยันตรายกระชับเข้ามาทุกขณะ

สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันเปลี่ยนแปลง นโยบายฉ้าย อิงเหวิน แข็งก้าวร้าวฉาน

คำปราศรัยของฉ้าย อิงเหวิน ในวันขึ้นปีใหม่ 2019 เด่นชัดยิ่งในถ้อยคำ “ประเทศจีนต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของ ‘ประเทศสาธารณรัฐจีน’ (ไต้หวัน) ควรต้องเคารพเสรีภาพของประชากร 23 ล้านคน และทำการเจรจาด้วยสันติวิธีระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล”

Advertisement

ในวันเดียวกันที่ “สี จิ้นผิง” ส่งสาส์นถึงชาวไต้หวัน “ฉ้าย อิงเหวิน” ก็ได้ตอบปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยว่า “ไต้หวันไม่ยอมรับการปกครองหนึ่งประเทศสองระบบและคนไต้หวันส่วนใหญ่ก็คัดค้าน ตลอดจนปฏิเสธข้อเสนอใดๆ ของสี จิ้นผิง

ปฏิกิริยาของเธอถือเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง

เด่นชัดยิ่งว่า เกิดจากเกรงกลัวการคำรามของนักการเมืองขวาจัดไต้หวัน 4 คน
ก็เพราะเธอกลัวจะสูญเสียอำนาจ จึงกล้าทำทุกอย่างเพื่อจะครองอำนาจอีกหนึ่งสมัย โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมหรือถูกผิดชั่วดี ยกเว้น “การปีนหลังคาตอกตะปู” เท่านั้นที่ไม่ทำ

แม้กระนั้นเธอก็เสื่อมศักดิ์ศรี และดูไม่มีราคา

พฤติกรรมที่แข็งกร้าวของเธอน่าจะเกิดจากสถานการณ์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐที่แปรเปลี่ยนไป

1 ปีที่ผ่านมา แผนสกัดจีนของสหรัฐ ได้ผ่านกฎหมายกลาโหม 2018 และกฎหมายท่องเที่ยวไต้หวัน และก่อนปีใหม่ 2019 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เซ็นกฎหมายที่เรียกว่า “Asia Reassurance Initiative Act of 2018” อีกหนึ่งฉบับ

กอปรกับ 1 ปีที่ผ่านมา ทหารนาวิกโยธินของจีนได้รายล้อมช่องแคบไต้หวัน การบริหารงานของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ประสบความสำเร็จ การเลือกตั้งเมื่อพฤศจิกายน พ่ายแพ้หมดรูป ล้วนเป็นเหตุให้นโยบายของ “ฉ้าย อิงเหวิน” เปลี่ยนจากนิ่มนวลเป็นแข็งกร้าว

แต่ในสายตาของฝ่ายขวาเห็นว่า มาตรการของนางยังไม่แข็งพอ การขับไล่จึงเกิดขึ้น

ฉะนั้น จดหมายเปิดผนึกจึงระบุชื่อพันธมิตรนายหนึ่งเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดในปี 2020 แต่ก็กลายเป็นการสวนกระแสของสมาชิกรุ่นหนุ่มของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า จึงออกจดหมายเปิดผนึกทำการคัดค้าน เพื่อค้ำจุนเก้าอี้ฉ้าย อิงเหวิน โดยให้ความเห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีความจำเป็นต้องทำการขับไล่
(ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของไต้หวัน อุปโลกน์กันเองว่าเป็นประธานาธิบดี แต่ความจริง ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ไม่มีอธิปไตย มิใช่ประเทศ จึงมีประธานาธิบดีมิได้)
หนึ่งในสี่ของพวกขวาจัดที่เรียกร้องเอกราชได้บอกกับนักข่าวว่า “ฉ้ายไม่มีความกล้าหาญชาญชัย เหตุใดจึงไม่กล้าอิงสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สหรัฐไม่มารวบไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียว สหรัฐมีแต่มาช่วยไต้หวัน ไม่มีวันที่จะมาทำลายไต้หวัน”

เขาอธิบายว่า “สหรัฐได้เปลี่ยนนโยบายต่อแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน โดยเฉพาะมาตรการที่มีต่อไต้หวันล้วนมีประโยชน์ ไม่ควรสูญเสียโอกาส หากมิฉะนั้น ถ้าปี 2020 โดนัลด์ ทรัมป์ สอบตก พรรคกั๋วหมินตั่งของไต้หวันชนะเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพรรค “โปรไชนีส” กอปรกับอีก 15 มณฑลเมืองล้วนเป็นผู้ใช้สิทธิที่อยู่ข้างจีนแผ่นดินใหญ่ รวมพลังเข้าด้วยกัน และต้องเจอกับมาตรการต่างๆ ของจีน ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง แล้วจะทำอย่างไร”

ประเด็นที่เขาพูดนั้นเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น และถ้าเป็นจริงก็เชื่อว่า ผู้นำของประเทศจีนไม่ก้าวร้าวทำสามหาวต่อประชาชนหรือชี้หน้าตวาดนักข่าวแต่อย่างใด

แม้เป็นระบอบสังคมนิยม แต่ประชาชนจีนอยู่ดีมีสุข ไม่ต้องร้องไห้น้ำตาเช็ดหัวเข่า
ต้องยอมรับว่า เป็นยามที่ขิงก็ราข่าก็แรง ทั้งแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน

ฝ่ายหนึ่งกำหนดโรดแมปการรวมตัวเป็นเอกภาพ อีกฝ่ายหนึ่งก็เร่งเร้าความเป็นเอกราช

เป็นวิกฤตที่ฉ้ายต้องหาทางออก เวลาที่เหลืออยู่มีเพียง 1 ปีเศษ ตัวเลือกมีจำกัด ส่วนสหรัฐก็ฉวยโอกาสเพิ่มดีกรีการระราน อาจเป็นเหตุให้ช่องแคบไต้หวันกลายเป็นสมรภูมิ

และน่าเชื่อว่าเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดหลังจากเหตุการณ์กลางทศวรรษ 90

ย้อนมองอดีตก่อนที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้นบริหารประเทศ “หม่า อิงจิ่ว” พรรคกั๋วหมินตั่ง ได้บริหารประเทศมาเป็นเวลา 8 ปี เบื้องต้นความสัมพันธไมตรีมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ไม่ว่าการยอมรับ “ฉันทามติ 92” ไม่ว่าจะเป็นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปะทะกันทางการทหารก็ยุติลง รวมทั้งไต้หวันได้เข้าร่วมองค์กรระดับสากลและกิจกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยความราบรื่น

และที่เป็นไฮไลต์คือการพบกันระหว่าง “สี จิ้นผิงกับหม่า อิงจิ่ว” ผู้นำสูงสุดของสองประเทศในปริโยสาน อันถือเป็นคุณูปการของ “หม่า อิงจิ่ว” ในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง

หม่า อิงจิ่ว ยังแสดงเจตนาในการที่จะรวมตัวเป็นเอกภาพกับมาตุภูมิในเชิงสัญลักษณ์ เช่น

การประชุมการรวมตัวครั้งที่ 2 ไต้หวันได้ส่งสัญญาณชัดเจน ขณะที่ “เฉินอิ๋นหลิน” ผู้แทนจีนแผ่นดินใหญ่ได้เข้าเยี่ยมคารวะ “หม่า อิงจิ่ว” ผู้นำสูงสุดไต้หวัน ก็ได้รับมอบเครื่องลายครามหนึ่งชิ้น ซึ่งเป็นรูปแจกันมีภาพวาดดอกไม้ประจำถิ่นของไต้หวัน ถิ่นกำเนิดของดอกไม้คือ ประเทศจีน การมอบเครื่อง “ลายครามหนึ่งชิ้น” มีความหมายล้ำลึก เพราะว่า “ลายคราม” ฝรั่งเรียกว่า “China” ลายครามหนึ่งชิ้นก็คือ “One China” นั่นเอง ซึ่งเป็นการสื่อความหมายอันเกี่ยวกับเรื่องยอมรับ “จีนเดียว” งานนี้ “หม่า อิงจิ่ว”
ฟอร์มสดงดงาม

นอกจากนี้ การประชุมเพียง 3 ครั้ง ผู้แทนทั้ง 2 ฝั่งได้ลงนามในข้อตกลงถึง 9 ฉบับ

1.เครื่องบินเหมาลำในวันหยุดสุดสัปดาห์ 2.คนจีนแผ่นดินใหญ่ไปท่องเที่ยวไต้หวัน 3.การขนส่งสินค้าทางอากาศ 4.การขนส่งสินค้าทางเรือ 5.กิจการไปรษณีย์ 6.ความปลอดภัยของอาหาร 7.ความร่วมมือทางนิติธรรมและร่วมกันกำจัดผู้ก่อการร้าย 8.ความร่วมมือด้านการเงินการคลัง 9.สัญญาประจำต่อเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางอากาศ

แต่น่าเสียดายที่พรรคกั๋วหมินตั่งแพ้เลือกตั้ง 2016 “ฉ้าย อิงเหวิน” พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้นบริหารประเทศ นโยบายของเธอคือ “เอกราชไต้หวัน” เป็นพฤติการณ์ตีปลาหน้าไซ

ปัญหาช่องแคบไต้หวันเป็นสงครามภายในของจีน ตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ 1 ตุลาคม 1949 นักการเมืองที่พ่ายแพ้จากการสู้รบได้หลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน ต่อมารัฐบาลสหรัฐ ใช้อาวุธเป็นกำลังสนับสนุนการแบ่งแยกเกาะไต้หวันโดยปราศจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์ สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือไต้หวันมาตลอด โดยขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ไต้หวัน และเป็นคู่ค้าอาวุธรายใหญ่ของไต้หวัน

ล่าสุดสหรัฐออกกฎหมาย “Asia Reassurance Initiative Act of 2018” ท่ามกลางภาวะสองฝั่งช่องแคบศรศิลป์ไม่กินกัน เสมือนเอาเกลือทาแผล

กรณีถือเป็นการจุดไฟเผาคนจีนทั้ง 2 ฝั่งช่องแคบ

คนไต้หวันส่วนหนึ่งก็ไม่ฉลาดพอ จิตสำนึกบกพร่องละอ่อนต่อความรู้ทางสายเลือด เพราะจีนแผ่นดินใหญ่และจีนไต้หวันก็คือจีนเดียวกัน เกิดจากบรรพบุรุษเดียวกัน เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ รักกันไว้เถิด ดีกว่าไปเกาะชายกางเกงของฝรั่ง ซึ่งเป็นการเสียศักดิ์ศรี และดูไร้ค่า

กฎหมายฉบับล่าสุด เป็นกฎหมายว่าด้วยการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน และความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างข้าราชการสหรัฐกับไต้หวัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางการทหาร เป็นต้น

กรณีถือว่ารัฐบาลสหรัฐกระทำละเมิด เพราะว่าเป็นการฝ่าฝืนแถลงการณ์ร่วมแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีนกับสหรัฐเมื่อ 1 มกราคม 1979 โดยมีสาระสำคัญว่า

“ทั้งสองประเทศต้องเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนซึ่งกัน สหรัฐยอมรับนโยบายจีนเดียว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกัน”

ฉะนั้น การขายอาวุธให้แก่ไต้หวันกระทำมิได้ เพราะเป็นนิติกรรมสัญญารัฐต่อรัฐ ไต้หวันไม่มีอธิปไตย จึงไม่มีสิทธิทำนิติกรรมสัญญารัฐต่อรัฐ

กรณีถือว่าสหรัฐกระทำละเมิด

นี่คือปัญหาใหญ่ การที่ประเทศจีนจะทำงานเอกภาพชิ้นนี้ให้สำเร็จได้ จึงควรต้องสะสางประเด็นกฎหมายกับสหรัฐให้เรียบร้อยก่อน หากมิฉะนั้น คงจะลำบาก เหตุผลคือ

สหรัฐมีความจำเป็นต้องใช้ “บริการไต้หวัน” เพื่อทำการสกัดความเจริญเติบโตของจีน

ก็เพราะการเสพติดอำนาจ

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image