คู่แย้ง คมแหลม ระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’ พื้นที่ การเมือง

ทั้งๆ ที่สยามเริ่มเข้าสู่ “ยุคสมัยใหม่” ตั้งแต่เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาเบาริ่งในแผ่นดินของรัชกาลที่ 4 และสะท้อนรูปธรรมด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองในแผ่นดินของรัชกาลที่ 5

กระทั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในแผ่นดินของรัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2475

ถือได้ว่ามีการปรับตัวพร้อมกับจีน พร้อมกับญี่ปุ่น และล่วงหน้าไปก่อนเกาหลี เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งตกเป็นเมืองขึ้น

แล้วเหตุใดในขณะที่จีนเข้าสู่ความ “ทันสมัย” ญี่ปุ่นกลายเป็น “ทุนนิยม”

Advertisement

มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม หลุดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นและกำลังทะยานไปสู่ความเป็นพญาเสือตัวหาญทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง

แต่ประเทศไทยกลับถูกตรึงแน่นอยู่กับ “ลอสต์ เจนเนอเรชั่น”

ต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งการรัฐประหารตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังเดือนพฤษภาคม 2557

Advertisement

และทำท่าว่าจะถอยหลังไปก่อนยุค 2475 ด้วยซ้ำ

ถามว่าอะไรคือรูปธรรมแห่งการถอยกลับหลังครั้งใหญ่ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่ปรากฏ ให้เห็นอยู่เบื้องหน้าเราๆ ท่านๆ

ไม่จำเป็นต้องหยิบ “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาอ้าง

ไม่จำเป็นต้องหยิบเอาบทบาทและพฤติการณ์ที่แลเห็นอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ขอให้ศึกษาและทำความเข้าใจกับ 2 เรื่อง

เรื่อง 1 คือปฏิกิริยาอันต่อเนื่องจากกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยทดลองและวิจัยผ่านการยินยอมให้นักเรียนไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ

เรื่อง 1 คือปฏิกิริยาอันต่อเนื่องจาก Sex Education

2 เรื่องนี้อยู่ในกรอบของนักเรียน ของโรงเรียน อันถือว่าอยู่ในพรมแดนทาง “วัฒนธรรม” ปฏิกิริยาที่ตามมาคือเงาสะท้อนในทางความคิดเป็นการปะทะระหว่างเก่ากับใหม่

เก่าในยุค “อนุรักษนิยม” ใหม่ในยุค “เสรีนิยม”

ขอถามว่า คสช.และรัฐบาลในปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าและเป็นนายกรัฐมนตรีดำรงอยู่ในฐานะ “ตัวแทน” ของอะไร

คำตอบก็คือ ตัวแทนแห่งความคิด “อนุรักษนิยม”

ไม่ว่าจะหยิบ “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาศึกษา ไม่ว่าจะหยั่งมองลงไปในกระบวนการของ “กกต.” ไม่ว่าจะมองผ่านบทบาทของพรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนปฏิรูป

ก็จะสัมผัสได้ผ่าน “ค่านิยม 12 ประการ”

พวกเขาย่อมจะหงุดหงิดกับการถอดเครื่องแบบของนักเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พวกเขาย่อมไม่มีความสุขนักกับเรื่องราวที่มีอยู่ใน Sex Education

วัฒนธรรมเป็นเช่นนี้ การเมืองเป็นเช่นนี้

อย่าได้แปลกใจหากว่ากระบวนการบริหารจัดการในทางเศรษฐกิจก็ดำเนินไปสู่เป้าหมาย “รวยกระจุก จนกระจาย” เอื้ออำนวยให้กับคนร้อยละ 1 ทอดทิ้งคนร้อยละ 90

ลักษณะ “ทันสมัย” แต่ไม่พัฒนาจึงเห็นเด่นชัดในสังคม

การต่อสู้ทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมจึงเป็นหินลองทองอันคมแหลมสะท้อนให้รับรู้ถึงพัฒนาการของสังคมประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร

เป็นคำตอบว่า ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ฝ่ายใดจะอยู่ในลักษณะครอบงำ

มีความเด่นชัดว่าด้านที่เป็นหลัก ด้านที่ครอบงำอย่างหนาแน่นก็คือ ด้านอันเป็นอนุรักษนิยม มิใช่ด้านอันเป็นเสรีนิยม

กระนั้นก็เป็นการครอบงำอย่างไม่แข็งแกร่งและมั่นคงเหมือนกาลก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image