มวยเด็ก การพบกันครึ่งทางระหว่างกีฬากับกฎหมาย : โดย อุดมศักดิ์ โหมดม่วง

ข่าวน้องเล็ก หรือ “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” นักมวยเด็กซึ่งชกมวยหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวมาตั้งแต่วัย 8 ขวบ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ในวัยเพียง 13 ขวบ จากการชกมวยที่เวทีมวยชั่วคราว โรงเรียนวัดคลองมอญ ตำบลคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นข่าวเศร้าส่งท้ายปีของวงการกีฬา และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง
ฝ่ายที่เห็นว่าควรห้ามเด็กชกมวยเด็ดขาดเพราะปรากฏข้อมูลทางการแพทย์ว่าอันตรายกับเด็กเกินไป ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่ามวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติหากไม่มีเด็กมาเรียนรู้ ต่อไปมวยไทยอาจจะสูญพันธุ์ได้เพราะไม่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอีกต่อไป และเห็นว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่ากีฬาประเภทใด โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนที่ติดตามข่าวสารและฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกีฬามวยไทย มีประเด็นสิทธิมนุษยชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

-อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) กำหนดสิทธิของเด็กไว้ 4 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Rights of Survival), สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Rights of Development), สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง (Rights of Protection) และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Rights of Participation) ประเทศไทยเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ (accession) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2535 เป็นต้นมา

ข้อ 1 “เด็ก หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่เด็กนั้น”

Advertisement

ข้อ 32 (1) “รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจและจากการทำงานใดที่น่าจะเสี่ยงอันตรายหรือที่ขัดขวางการศึกษาของเด็ก หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือการพัฒนาทางร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็ก”

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR)
ประเทศไทยเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 เป็นต้นมา

ข้อ 10 (3) “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองว่า ควรมีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือพิเศษแก่เด็กและผู้เยาว์ทั้งปวง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเนื่องจากชาติกำเนิดหรือเงื่อนไขอื่นๆ เด็กและผู้เยาว์ควรได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม การว่าจ้างเด็กให้ทำงานซึ่งเป็นภัยต่อจิตใจหรือสุขภาพหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตหรืออาจจะขัดขวางพัฒนาการตามปกติของเด็กควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย รัฐควรกำหนดอายุขั้นต่ำซึ่งห้ามไม่ให้มีการจ้างแรงงานเด็กและกำหนดให้มีโทษตามกฎหมายด้วย”

Advertisement

ข้อ 13 (2) “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองว่า เพื่อที่จะทำให้สิทธินี้เป็นจริงโดยบริบูรณ์
(ก) การศึกษาขั้นประถมจะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและจัดให้ทุกคนแบบให้เปล่า”
หลักการดังกล่าวข้างต้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่อนุวัติการมาบัญญัติในกฎหมายต่างๆ ของไทย อาทิ

-รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 วรรคหนึ่ง “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
-พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 44 “ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง”
-พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 “ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

(6) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก”
-พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 “ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจครอบงำบุคคลด้วยเหตุที่อยู่ในภาวะอ่อนด้อยทางร่างกาย จิตใจ การศึกษา หรือทางอื่นใดโดยมิชอบ ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือโดยให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้ความยินยอมแก่ผู้กระทำความผิดในการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลที่ตนดูแล หรือ

(2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ซึ่งเด็ก
ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น
การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีลักษณะคล้ายทาส การนำคนมาขอทาน การตัดอวัยวะเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบ
ุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม”

-พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
มาตรา 179 “ในกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กให้เด็กหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นร้องขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามหมวดนี้ได้…”
จะเห็นได้ว่าหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศที่กล่าวมาข้างต้นให้ความสำคัญในความปลอดภัย การเลี้ยงดูที่เหมาะสมและการศึกษาเพื่อพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและบุคลิกภาพตามวัยของเด็กเพื่อจะได้เติบใหญ่เป็นพลเมืองที่ดี การให้เด็กเล่นกีฬาต้องให้เหมาะกับวัยและปลอดภัย กีฬาที่อาจเกิดอันตรายแก่เด็ก เช่น เทควันโด ยูโด คาราเต้ กังฟู มวยสากล มวยไทย รักบี้ อเมริกันฟุตบอล ตะกร้อ ฟุตบอล ฯลฯ ที่มีการปะทะรุนแรง หรือใช้ศีรษะโหม่ง เด็กไม่ควรเล่นถ้าถือตามหลักการดังกล่าว

แต่กีฬาก็คือกีฬา อารยประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลว่า กีฬาที่ผู้ใหญ่เล่นได้ เด็กก็ควรจะเล่นได้ เพียงแต่ต้องมีเครื่องป้องกันและวิธีป้องกันอันตรายเพื่อให้ปลอดภัย และต้องไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในการเล่นกีฬาของเด็ก

มวยไทยมีกฎหมายรองรับตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 มาตรา 3 “กีฬามวย หมายความว่า การแข่งขันชกมวยตามกติกาของศิลปะมวยไทยหรือกีฬามวยสากล”

โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมเรื่องศิลปะไว้ 2 มาตรา

มาตรา 43 “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ

(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ”
มาตรา 57 “รัฐต้อง

(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการชกมวยให้มีความปลอดภัย มาตรา 14 “ในการจัดการแข่งขันกีฬามวยแต่ละครั้ง นายสนามมวยและผู้จัดรายการแข่งขันมวยต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักมวย อย่างน้อยตามมาตรฐานดังต่อไปนี้

(1) จัดให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจสุขภาพของนักมวยแต่ละคนก่อนการแข่งขันกีฬามวย เพื่อรับรองว่านักมวยมีสุขภาพสมบูรณ์พร้อมทำการแข่งขัน
(2) จัดให้มีแพทย์แผนปัจจุบันหรือพยาบาลวิชาชีพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ประจำสนามมวยในขณะที่มีการแข่งขัน
(3) จัดให้มีการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬามวยสำหรับนักมวย
การจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด”

มาตรา 16 “ให้คณะกรรมการจัดให้มีระเบียบและกติกามาตรฐานสำหรับการแข่งขันกีฬามวยเพื่อใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬามวย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ ความปลอดภัยนักมวย และจารีตประเพณีในการแข่งขันกีฬามวย”

อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเด็กล้วนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วสามารถหาจุดร่วมหรือ “พบกันครึ่งทาง” ที่เหมาะสมและลงตัวระหว่างกีฬากับกฎหมายได้ มวยไทยเป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่ไม่มีประเทศใดเหมือน การสืบสานศิลปะแม่ไม้มวยไทยให้คงอยู่เป็นหน้าที่ของคนไทย ถ้ารอจนโตแล้วค่อยมาเรียนรู้น่าจะสายเกินการเพราะศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณีต้องมาจากการค่อยๆ ปลูกฝังบ่มเพาะและฝึกหัดมาแต่เยาว์วัย

ดังนั้น หากจะให้มีมวยเด็กต่อไปต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาและป้องกันมิให้มีการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ให้มีเครื่องป้องกันและวิธีการป้องกันเพื่อให้ปลอดภัย ควรให้ชกเฉพาะเพื่อการฝึกหรือศึกษาหรือสาธิตหรือโชว์หรือแสดงหรือเล่นเป็นกีฬาในสถานศึกษาหรือสถานที่ของรัฐหรือสถานที่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตหรือตามงานประเพณีหรือที่จัดโดยองค์กรการกุศลหรือหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ ควรลดจำนวนยกและเวลาในแต่ละยก จำนวนครั้งที่ควรชกแต่ละเดือนโดยพิจารณาจากข้อมูลทางการแพทย์ การตัดสินไม่ควรมีผลแพ้ชนะหรือไม่ควรมีการให้คะแนนหรือหากให้คะแนนควรอนุโลมตามแบบมวยสากลสมัครเล่น และไม่ใช่เพื่อการพนันขันต่อ ซึ่งรัฐต้องมีกระบวนการตรวจสอบควบคุมที่เคร่งครัดให้อยู่ในกรอบมาตรฐานสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเด็ก

อุดมศักดิ์ โหมดม่วง
อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image