สงครามเย็นที่เวเนซุเอลา : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เวเนซุเอลาตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 916,445 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 1 เท่า) และมีประชากรประมาณ 29,105,632 คน (น้อยกว่าประเทศไทยกว่า 1 เท่า) มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา เนื่องจากเป็นรัฐที่เป็นที่กำเนิดของวีรบุรุษ ซิมอน โบลิบาร์ ผู้นำประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ สลัดแอกจากสเปนเป็นผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ.2367 (สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เวเนซุเอลาเป็นประเทศบนชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีอาณาเขตจรดประเทศโคลอมเบียทางทิศตะวันตก จรดประเทศบราซิลทางทิศใต้ และจรดประเทศกายอานาทางทิศตะวันออก

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลกและเป็นแหล่งที่ผลิตนางงามไปล่ารางวัลระหว่างประเทศโดยมีนางงามจักรวาลถึง 7 ครั้งเลยทีเดียว นอกจากนี้เวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา แต่ในปัจจุบันชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากต้องอดอยากเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้าในเวเนซุเอลาในปี 2012 เนื้อวัว 1 กก.อยู่ที่ 22 โบลีวาร์ แต่ในปี 2018 ไก่ 2.4 กก.ราคาถึง 14,600,000 โบลีวาร์ หรือเท่ากับ 1,948 บาท ภาวะที่ราคาพุ่งขึ้นจากเลข 2 หลักเป็นเลข 8 หลัก โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนป่วย ในขณะที่แพทย์ไม่มียาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอที่จะให้การรักษา แม้แต่ไฟฟ้าก็ยังขาดแคลนไม่มีให้ใช้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดความวุ่นวาย เพราะความเคียดแค้นของคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ต่อคนชั้นสูงจำนวนน้อยควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศนี้เอาไว้ขึ้นเรื่อยๆ

อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ

รากเหง้าของวิกฤตในเวเนซุเอลาเมื่อ พ.ศ.2542 และประชาชนเลือกนายฮูโก ชาเวซ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีปกครองประเทศด้วยนโยบายประชานิยมโดยกู้เงินจากจีนและรัสเซีย ซึ่งให้เวเนซุเอลากู้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ ฮูโก ชาเวซเป็นประธานาธิบดีถึง 14 ปี และเขาได้ตายในตำแหน่งใน พ.ศ.2556 โดยรัฐบาลของนายชาเวซใช้จ่ายงบประมาณของประเทศไปกับโครงการด้านสังคมสงเคราะห์จนเกินไปด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนและกำหนดราคาสินค้าแทบทุกอย่าง ทำให้ภาคการเกษตรของเวเนซุเอลาล่มสลายเพราะผลิตมาก็ขายไม่ได้เนื่องจากรัฐบาลนำผลิตผลการเกษตรที่ถูกกว่าจากประเทศบราซิล โคลอมเบียและเม็กซิโก ทำให้ภาคการเกษตรของเวเนซุเอลาต้องหยุดการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรไปแล้ว และเวเนซุเอลาต้องพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันดิบให้ต่างชาติแทน

เมื่อนายชาเวซจะถึงแก่อสัญกรรม เขาได้เลือกนายนิโกลัส มาดูโร เป็นผู้สืบทอดของเขา และมาดูโรก็เจริญรอยตามการปกครองของชาเวซ แต่เมื่อน้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักแหล่งเดียวของเวเนซุเอลาตกต่ำลง โดยใน พ.ศ.2557 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ใน พ.ศ.2559 ราคาน้ำมันดิบตกต่ำลงเหลือเพียง 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหมายความว่า รายได้ของเวเนซุเอลาน้อยลงจากช่วงสูงสุดถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว เมื่อรายได้จากน้ำมันลดลงไปอย่างมากแต่รัฐบาลก็ยังคงอุดหนุนราคาอาหารให้ต่ำกว่าราคาปกติเพื่อเอาใจคนยากจน และทำการพิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่มในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการทำเช่นนั้นส่งผลให้ค่าเงินโบลีวาร์ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย แต่รัฐบาลมาดูโรยังเลือกที่จะชดใช้หนี้แก่ประเทศจีน, รัสเซียและนักลงทุนต่างชาติ แทนที่จะซื้ออาหารและยาจากต่างประเทศ ส่งผลให้ชาวเวเนซุเอลาต้องอดอยาก และอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น

Advertisement

จุดเปลี่ยนในภาคการเมืองของเวเนซุเอลา เกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อผู้นำฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งในการครองเสียงข้างมากในรัฐสภา นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของนายมาดูโร จึงเกิดภาวะชะงักงันทางการเมืองเพราะเกิดการงัดข้อกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร กระทั่งศาลสูงสุดเวเนซุเอลาซึ่งเข้าข้างประธานาธิบดีมาดูโร ถึงกับมีคำสั่งห้ามไม่ให้รัฐสภาทำการถอดถอนนายมาดูโรจากตำแหน่งประธานาธิบดี มิหนำซ้ำศาลสูงสุดยังมีคำสั่งยุบสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากเมื่อเดือนมีนาคม รวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่คณะรัฐมนตรีและศาลสูงสุด จนฝ่ายค้านต้องปลุกระดมมวลชนขึ้นมาประท้วงต่อต้านนานหลายเดือน ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน จนสุดท้ายศาลสูงสุดก็ต้องยอมถอนคำสั่งดังกล่าว

สถานการณ์ทางการเมืองในเวเนซุเอลาเข้าสู่ขั้นวิกฤตหนัก หลังประชาชนทั่วประเทศลุกฮือขับไล่ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโรออกจากตำแหน่ง ขณะที่นานาชาติก็ประกาศคว่ำบาตรไม่รับรองรัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโร

2 ประธานาธิบดีในเวลาเดียวกันมาดูโร (ซ้าย)
กุยโด (ขวา)

ในวันพุธที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา มีการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีมาดูโรให้ออกจากตำแหน่งและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยนายฮวน กุยโด ผู้นำพรรคฝ่ายค้านและประธานรัฐสภาได้ประกาศสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเวเนซุเอลา โดยหลังประกาศเพียงไม่นาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐก็ประกาศรับรองนายฮวน กุยโดเป็นรักษาการประธานาธิบดีเวเนซุเอลาพร้อมกับชักชวนให้นานาประเทศรับรองรัฐบาลของนายฮวน กุยโด ซึ่งประเทศบราซิล โคลอมเบีย เปรู ปารากวัย คอสตาริกาและแคนาดา ได้ประกาศรับรองฐานะรักษาการประธานาธิบดีของนายกุยโดแล้ว มีเพียงเม็กซิโกและโบลิเวียที่ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลมาดูโรอยู่

Advertisement

ประธานาธิบดีมาดูโรจึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกาและขับไล่เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐให้ออกจากเวเนซุเอลาภายใน 72 ชั่วโมง โดยอ้างว่าสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับฝ่ายค้านก่อรัฐประหาร และการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาเป็นไปเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์จากเวเนซุเอลา

สถานการณ์ในเวเนซุเอลาทุกวันนี้คือสภาพของสงครามเย็นที่มีอยู่ก่อน พ.ศ.2534 (ปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย) คือเกิดการเผชิญหน้าของสองขั้วอำนาจโลกในเวเนซุเอลาโดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำบรรดาประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาต่อสู้กับรัฐบาลเวเนซุเอลาอย่างเปิดเผย ในขณะที่รัสเซีย จีนและตุรกีกับประเทศส่วนน้อยในทวีปอเมริกาก็เข้าหนุนฝ่ายประธานาธิบดีมาดูโร ขณะที่กลุ่มประเทศในยุโรป อาทิ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ฯลฯ ก็มีแนวโน้มอย่างสูงที่จะเข้าข้างสหรัฐอเมริกาในกรณีเวเนซุเอลา

ครับ ! ต้องจับตาดูว่าสงครามเย็นครั้งใหม่นี้จะออกหัวหรือก้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image