ส.ว.การเมืองในมุมมืด : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ระหว่างที่เวทีปี่กลองการเมือง การเลือกตั้งกำลังคึกคัก เข้มข้น ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เพราะขุนทหารผู้มีอำนาจกำลังจะโดดลงมาโรมรันพันตูกับนักการเมือง ที่เคยถูกก่นประณามไว้ต่างๆ นานา

แต่อย่างน้อยก็ช่วยคลี่คลายบรรยากาศอึดอัด อึมครึมให้ลดลง จนถึงวันที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิได้หย่อนบัตรตัดสินอนาคตประเทศด้วยมือตัวเองอีกครั้ง

ม่านการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยค่อยๆ คลี่ไปสู่ความสว่าง แต่อีกซีกหนึ่งยังคงเป็นการเมืองในมุมมืด รับรู้กันอยู่แต่เฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสานต่ออำนาจเท่านั้น

ครับ ผมหมายถึงการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก 250 คน

Advertisement

เหตุเพราะรัฐธรรมนูญออกแบบให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังมีอำนาจอยู่จนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้าบริหารประเทศและมีสิทธิขาดในการเสนอแต่งตั้งวุฒิสมาชิก
กระบวนการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกกลุ่มแรกจากการเลือกกันเองแยกตามกลุ่มวิชาชีพ ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับชาติ จำนวน 200 คน กรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแล้วเสร็จเสนอ คสช. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อคัดเหลือ 50 คน กับสำรองอีก 50 คน

อีกส่วนหนึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.ตั้งกรรมการสรรหาจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน เพื่อเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 400 คน ให้ คสช.เลือก เหลือ 194 คน กับโดยตำแหน่งอีก 6 คน รวมเป็น 200 คน

จริงอยู่รัฐธรรมนูญบัญญัติขั้นตอนการปฏิบัติไว้ว่า การเสนอรายชื่อต่อ คสช.ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน โดย คสช.คัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.

Advertisement

ถ้าเอาวันเลือกตั้งตามที่ กกต.ประกาศ วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นตัวตั้ง กระบวนการเสนอชื่อว่าที่วุฒิสมาชิกก่อนวันเลือกตั้ง 15 วัน ก็จะตกราวต้นเดือนมีนาคม ประมาณหนึ่งเดือนนับจากนี้ไป

เรื่องใหญ่และสำคัญขนาดนี้ ฝ่ายกฎหมาย คสช.ย่อมรู้อยู่แล้วว่า กำหนดเวลาเป็นอย่างไร ควรเสนอให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจทำอะไร เมื่อไหร่ เป็นความรับผิดชอบปกติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะเปิดเผย โปร่งใส ให้สังคมมีโอกาสรับรู้และมีส่วนร่วม หรือไม่ แค่ไหน อย่างน้อยเป็นกระจกเงาสะท้อนความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสม มีคุณภาพ เป็นกลาง ไม่มุ่งเน้นแต่เบี้ยล่าง สั่งซ้ายขวา กลับหลังหันได้ตลอดเวลา เพื่อค้ำยันฐานอำนาจให้ดำรงอยู่ต่อไปเท่านั้น

แต่จนถึงวันนี้ สังคม สาธารณชนยังไม่ได้รับรู้เลยว่ากระบวนการสรรหา กรรมการเป็นใคร มาจากไหน มีคุณสมบัติและองค์ประกอบอย่างไร ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความเป็นกลางทางการเมือง นั้นเป็นจริงเพียงไร

การตัดสินจะเลือกใครเพื่อเป็นวุฒิสมาชิกมีหลักการ หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน อย่างไร

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ยังคงเป็นการเมืองในมุมมืด รับรู้เฉพาะผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะเท่านั้น

สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้เกิดความสงสัยคลางแคลง ต่อการใช้กลไกรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ กอ.รมน. ฝ่ายความมั่นคง เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไป

ความคาดหวังต่อหลักการสวยหรูที่ว่า กองทัพกับการเมืองต้องแยกจากกัน จึงยังเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย

เพราะออกแบบเอื้อประโยชน์กับผู้มีอำนาจแต่งตั้งยิ่งกว่าดุลพินิจสาธารณะของสังคม

กระบวนการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จึงเปิดโอกาสและช่องทางทำให้กองทัพและฝ่ายประจำถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างน้อยอีก 5 ปีต่อจากนี้ไป

รูปแบบซึ่งคาดหวังไว้สำหรับคนกลางทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นวุฒิสมาชิก แต่เมื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ ที่ควรจะเป็นคนกลางโดดลงมาเป็นผู้เล่น เป็นคู่แข่งขันเสียเอง เรื่องนี้จึงเป็นความได้เปรียบคู่แข่งขันตั้งแต่เริ่มต้น ยิ่งกระบวนการสรรหายังอยู่ในมุมมืดมากเท่าไร ทำให้โอกาสเอาชนะมีมากขึ้น

ขณะเดียวกันบทบัญญัติในเรื่องที่มา อำนาจ หน้าที่ของวุฒิสมาชิกจะเป็นเงื่อนไขของความ
ขัดแย้ง ที่น่าหวั่นวิตกตลอดไป

เพราะถ้ามีการยกเลิก ปรับปรุงแก้ไข กลุ่มคนที่ได้รับเลือก แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่แล้วย่อมเสียประโยชน์กล่าวอ้างได้ว่ามิใช่ความผิดของพวกเขา

หากแก้ไขให้เป็นโทษ พ้นจากตำแหน่งในทันทีแทนที่จะให้มีผลใช้บังคับในวาระถัดไป ความไม่พอใจย่อมเกิดขึ้น กลายเป็นคลื่นลมทางการเมืองกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รัฐสภา และระบอบประชาธิปไตยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่ความเห็นของผู้คนในสังคมจะแตกออกเป็นหลายฝัก หลายฝ่าย

หากการทำประชามติเพื่อหาบทสรุปในการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้ โอกาสที่การเมืองไทยจะวนเวียนกลับสู่วัฏจักรของความรุนแรงจึงยังมีความเป็นไปได้

ซึ่งไม่มีหลักประกันใดๆ แม้แต่ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะมีแนวโน้มจะเกิดสภาพเบี้ยหัวแตก รัฐบาลผสม ไร้เสถียรภาพอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image