ชาวบ้านคัดค้านโครงการขยะ (ตอนที่ 3) : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ตอนที่แล้วได้สรุปว่าความล้มเหลวในการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลให้ชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นในเจตนาและความสามารถในการแก้ปัญหาขยะจนลุกลามเป็นกระแสคัดค้านทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับขยะ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากวิธีการหรือเทคโนโลยี ไม่ใช่เพราะวิธีการฝังกลบทำให้การจัดการขยะล้มเหลว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐไม่มีวิธีจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับการก่อสร้างระบบฝังกลบ ทำให้ต้นทุนในการจัดการระบบฝังกลบสูงกว่าประมาณและท้องถิ่นไม่สามารถจัดงบประมาณเดินระบบให้ถูกต้องจนระบบต่างๆ ชำรุดเสียหายและเกิดผลกระทบ

นอกจากนั้น ยังเป็นปัญหาการพัฒนาบุคลากรให้มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะด้าน

ขณะที่ท้องถิ่นล้มเหลวในการฝังกลบขยะ แต่ก็มีระบบฝังกลบของเอกชนหลายแห่งที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้ บางแห่งยังสามารถแบ่งปันประโยชน์จากการดำเนินงานให้กับชุมชน เช่น จัดส่งก๊าซชีวภาพจากหลุมขยะให้ชุมชนใกล้เคียง หรือใช้ความร้อนจากระบบผลิตไฟฟ้ามาใช้ในการอบผลิตผลการเกษตรของชาวบ้าน

การก่อสร้างระบบฝังกลบของเอกชนจะไม่ก่อสร้างระบบที่มีขนาดใหญ่เกินไปแต่จะก่อสร้างให้สามารถรองรับปริมาณขยะปีต่อปีเพราะขนาดที่ใหญ่เกินไป การทำงานรายวันก็ไม่เปิดพื้นที่ทำงานให้กว้างเพื่อให้สามารถกลบขยะรายวันได้ง่าย ไม่สิ้นเปลืองดินที่ใช้กลบ ดังนั้น ต้นทุนในการจัดการขยะรายวันและการบำบัดน้ำเสียจึงไม่สูงมากอีกทั้งยังสามารถควบคุมผลกระทบได้ดี

Advertisement

นอกจากนั้น การที่เอกชนมีความยืดหยุ่นในการบริหารบุคคล สามารถให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสมจึงช่วยให้สามารถพัฒนาบุคลากรให้มีความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินระบบและการบำรุงรักษาเครื่องจักร

การที่เอกชนสามารถบริหารจัดการระบบฝังกลบให้มีประสิทธิภาพได้ขณะที่ระบบของรัฐและท้องถิ่นกลับประสบความล้มเหลว แสดงให้เห็นว่า ความล้มเหลวไม่ได้เกิดจากวิธีการหรือเทคโนโลยีอย่างที่รัฐให้เหตุผลและต้องเปลี่ยนวิธีการกำจัดขยะจากการฝังกลบเป็นการใช้เตาเผา อย่างไรก็ตาม การฝังกลบก็ยังคงมีจุดอ่อนที่ต้องใช้พื้นที่มากกว่า อีกทั้งหากไม่มีระบบรวบรวมก๊าซจากหลุมฝังกลบที่ดี ก็จะเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซเหล่านั้นสู่ชั้นบรรยากาศและเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก

การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการจัดการขยะของท้องถิ่นตามโรดแมป
การจัดการขยะแม้จะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเป็นการนำเอาจุดแข็งของเอกชนมาช่วยแก้ปัญหาขยะ แต่ก็มีเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ขาดความรับผิดชอบ ทำการรับจ้างเก็บขนหรือกำจัดขยะให้ท้องถิ่นโดยไม่สนใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

Advertisement

บางรายเทขยะลงบ่อดินเก่าโดยไม่มีระบบป้องกัน เมื่อบ่อใกล้เต็มก็เผาเสียทีหนึ่งอย่างที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ ส่วนท้องถิ่นเองก็ไม่เอาใจใส่ คิดเพียงว่าเมื่อมีผู้รับจ้างแล้วขอเพียงให้เอาขยะไปจัดการให้พ้นจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นในพื้นที่ตัวเอง ในที่สุดชาวบ้านในพื้นที่ทิ้งขยะที่ได้รับผลกระทบก็หมดความอดทน จนต้องออกมาคัดค้าน

ความพยายามของรัฐที่ต้องการแก้ภาพความล้มเหลวของการจัดการขยะด้วยการจับเอาวิธีการฝังกลบเป็นจำเลย แล้วให้ข้อมูลใหม่แก่ชาวบ้านว่า เมื่อเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยแบบใหม่แล้วปัญหาเดิมๆ จะหมดไป จะไม่เกิดผลกระทบ ไม่มีปัญหาน้ำเสีย ไม่มีกลิ่น ไม่มีแมลงวัน พร้อมกับส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการจัดการขยะของท้องถิ่นโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเตาเผาหรือการผลิตพลังงานจากขยะ กำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนด้วยนโยบายคลัสเตอร์หรือการรวมกลุ่มของท้องถิ่นในการจัดการขยะเพื่อให้ขนาดของโครงการมีความเหมาะสมในการลงทุน ส่งเสริมให้ท้องถิ่นที่มีขยะไม่มากคัดแยกขยะเพื่อผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) แล้วส่งต่อให้กับโรงไฟฟ้าหรือภาคอุตสาหกรรม

รวมถึงนโยบายรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะในอัตราพิเศษ (Feed in Tariff) ผลจากมาตรการส่งเสริมทั้งหลายจูงใจเอกชนจำนวนไม่น้อยสนใจริเริ่มพัฒนาโครงการผลิตพลังงานจากขยะหรือโรงไฟฟ้าขยะ

เทคโนโลยีมากมายสารพัดถูกนำไปเสนอให้ท้องถิ่น ตั้งแต่เทคโนโลยีเผาตรงง่ายๆ สำหรับขยะน้อยๆ ไปจนถึงขั้นเผากันเป็นจุณมหาจุณด้วยความร้อนขั้นพลาสมา มีทั้งโครงการขนาดเล็กสำหรับชุมชนที่มีขยะไม่กี่ร้อยกิโลกรัมไปจนถึงขนาดโครงการเป็นพันตัน พร้อมการเสนอตัวเข้าลงทุนเอง บริหารจัดการเองหมดทุกอย่าง

บ้างยื่นข้อเสนอคิดค่ากำจัดขยะในอัตราตันละพันบาทที่ท้องถิ่นรับไม่ได้ บ้างยื่นข้อเสนอที่จะให้ผลประโยชน์แก่ท้องถิ่นแถมไม่คิดค่ากำจัดแต่อย่างใดซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอแบบนี้ย่อมติดตาตรึงใจจนทำให้ท้องถิ่นต้องหาทางรวบรัดทำสัญญาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเอกชนกำลังเสนอวิธีการหรือเทคโนโลยีอะไร มีความเสี่ยงอย่างไร หรือจะเกิดผลกระทบอะไรต่อชุมชน

ขณะที่รัฐเองปล่อยปละละเลยจนดูเหมือนว่าจะเห็นดีเห็นงามไปด้วยถึงขนาดยกเว้นกฏหมายผังเมืองเพื่อไม่ให้โครงการติดขัดเรื่องสถานที่ตั้ง แถมไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยุ่งยากกับผู้ลงทุน

แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้เมื่อบางโครงการที่ทำกันอย่างรวบรัด ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่นำเสนอ ไม่สามารถกำจัดขยะได้ตามข้อตกลง เกิดผลกระทบและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำยังเกิดปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้นอีกจากสัญญาผูกพันระยะยาวระหว่างเอกชนกับท้องถิ่น แต่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบ ตอกย้ำปัญหาเดิมๆ ที่ทำให้ชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นในเจตนาและความสามารถของรัฐและท้องถิ่น

แต่คราวนี้ดูจะรุนแรงมากขึ้น เพราะชาวบ้านรู้สึกว่ารัฐและท้องถิ่นเป็นฝ่ายเดียวกับเอกชน ช่วยเหลือเอกชน แต่ไม่เอาใจใส่ปัญหาของชาวบ้าน

ดังนั้น การให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการของท้องถิ่น จะต้องมั่นใจว่าท้องถิ่นเองมีความพร้อมที่จะกำกับดูแลเอกชน เริ่มจากการคัดเลือกเอกชนต้องโปร่งใส เพราะหากเอกชนเข้ามาด้วยอิทธิพลหรือเข้ามาจากคำสั่งของผู้มีอำนาจหรือวิธีใดใดที่ไม่โปร่งใส การกำกับดูแลและการตรวจสอบการทำงานของเอกชนให้มีประสิทธิภาพก็เป็นไปได้ยาก นอกจากนั้น สัญญาระหว่างท้องถิ่นกับเอกชนก็ต้องไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบเพราะสัญญาจะเป็นเครื่องมือของท้องถิ่นในการกำกับการทำงานของเอกชน และต้องระลึกเสมอว่า จุดหมายของเอกชนคือการทำกำไร แต่การกำกับดูแลที่ดีจะสามารถป้องกันไม่ให้เอกชนแสวงหากำไรด้วยวิธีลดต้นทุนและคุณภาพของงาน หรือดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ในช่วงเวลาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการฝังกลบ การออกมาคัดค้านเพื่อไม่ให้ก่อสร้างสถานที่ฝังกลบใกล้ชุมชนของตัวเอง เราเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า NIMBY SYNDROME (Not In My Back Yard) คือไม่ยอมให้สร้างใกล้บ้านของฉัน แต่เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบซ้ำซากแม้กระทั่งจากเทคโนโลยีแบบใหม่ที่รัฐกำลังส่งเสริม การคัดค้านของชาวบ้านจึงรุนแรงขึ้นถึงขั้นปฏิเสธทุกอย่าง ทุกโครงการ

มันกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า BANANA SYNDROME (Build Absolutely Nothing Anywhere Near Anything) พูดง่ายๆ ว่า “อะไรกูก็ไม่เอา” เป็นปฏิกิริยาโต้กลับสุดขั้วของชาวบ้านที่ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image