สะพานแห่งกาลเวลา : จังหวะของการขับเคลื่อน5จี

ติดค้างเรื่องจังหวะก้าวย่างของการเกิดการสื่อสารไร้สายยุคใหม่ล่าสุด คือ ยุค 5จี เอาไว้มาบอกเล่ากันต่อในสัปดาห์นี้

แซนดรา ริเวรา รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปกลุ่มแพลตฟอร์มเครือข่ายของอินเทล ชี้ให้เห็นว่า   ตอนนี้ถือว่าโลกยังคงอยู่ในยุคเริ่มต้นของ 5จี เอามากๆ

เมื่อมองย้อนหลังกลับไป การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไร้สายในแต่ละยุค โดยปกติแล้วจะใช้เวลาราว 10 ปีหรือเกินกว่านั้นถึงจะได้ภาพที่สมบูรณ์และเกิดประสิทธิผลเต็มที่ ในทรรศนะของแซนดรา ยุค 5จี กำลังเริ่มตั้งไข่มาได้เพียงปีหรือสองปีจากระยะเวลา 10 ปีที่ว่านี้เท่านั้นเอง

ถือว่าเป็นระลอกแรกของ 5จี เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น ในทรรศนะของอินเทล 5จี ก็แตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่ผ่านมาอย่างสำคัญอยู่ประการหนึ่ง

Advertisement

นั่นคือ ที่ผ่านมา ในหลายๆ ยุคเหล่านั้น ไม่เคยมี “มาตรฐานเทคโนโลยี” ที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นหนึ่งเดียว  แต่มีหลายมาตรฐานแข่งขันกันอยู่ในที

ในทางตรงกันข้าม 5จี กลับเริ่มต้นด้วยการมี “โกลบอล สแตนดาร์ด” ที่เป็นมาตรฐานโลกเพียงหนึ่งเดียวออกมาเป็นระยะๆ ในช่วง 2 ปีของการตั้งไข่ที่ว่านี้

ความแตกต่างตรงนี้มีผลอย่างสำคัญ เพราะแซนดราชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในการเปลี่ยนผ่านจากยุค 3จี มาเป็น 4จี นั้น การแข่งขันกันระหว่างมาตรฐานหลายมาตรฐานส่งผลให้เกิดการชะงัก หรือลังเล ในการลงทุน หรือไม่ก็จำเป็นต้อง “เสี่ยง” เลือกเน้นลงทุนเอาแต่การพัฒนาในมาตรฐานที่มีตลาดซึ่งผู้ลงทุนคิดว่าใหญ่มากพอที่จะให้ผลตอบแทนการลงทุนได้คุ้มค่า

Advertisement

การที่ 5จี เริ่มต้นด้วยการมีมาตรฐานโลก จึงเท่ากับเป็นการตัดปัญหาดังกล่าว ด้วยการสร้างภูมิทัศน์เดียวขึ้นมา แต่ใหญ่โตครอบคลุมทั่วโลก รองรับการลงทุนทั้งหมดที่พร้อมเข้าสู่ตลาดได้

ที่ผ่านมา มีการประกาศมาตรฐาน 5จี ที่ 15 ออกมาแล้ว เป็นมาตรฐานที่กำหนดเกี่ยวกับ รูปแบบการเชื่อมต่อและอินเตอร์เฟซแบบไร้สาย (แอร์ อินเตอร์เฟซ) ที่จะช่วยให้อุปกรณ์ 5จี ทั้งหมดสามารถสื่อสาร เชื่อมต่อซึ่งกันและกันได้ทั่วทั้งโลก

ประกาศมาตรฐานที่ 16 ถึงจะเป็นเรื่องของเสถียรภาพและความเชื่อถือได้สูงสุดของระบบการสื่อสารไร้สายยุคใหม่นี้อย่างที่เรียกกันว่า “อัลตรา-รีไลเอเบิล” ของ 5จี นั่นเอง

“อัลตรา-รีไลเอเบิล” นี่เองที่จะกำหนดเรื่องค่าศักยภาพทางด้าน ลาเทนซี หรือความหน่วงของระบบ ซึ่งจะเอื้อและจำเป็นต่อการทำงานของหลายๆ อย่าง รวมทั้งยานยนต์อัตโนมัติ (เอวี) หรือการปฏิบัติการที่ต้องอาศัยการควบคุมจากระยะไกลในพื้นที่อันตราย ทำให้จำเป็นต้องมีศักยภาพในการฟีดสัญญาณของกล้องที่ความละเอียดสูงๆ หรือสิ่งที่ต้องการการตอบสนองฉับไวแทบจะเป็นตามเวลาจริง เรื่อยไปจนถึง การปฏิบัติการทางการแพทย์ระยะไกลหรือการผ่าตัดระยะไกล เป็นต้น รวมถึงการประยุกต์ใช้ในแวดวงอุตสาหกรรม   หลากหลายอย่างอีกด้วย

ประกาศมาตรฐานที่ 16 ที่ว่านี้ แซนดราคาดว่าจะออกมาได้ในช่วงปลายปี 2019 นี้

ที่ผ่านมา มีการพิสูจน์แนวคิดและความเป็นไปได้ของแนวคิดเรื่อง ยานยนต์อัตโนมัติ และอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) กันมาแล้ว แล้วก็มีมาตรฐานเทคโนโลยีออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการพัฒนาทุกอย่างไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้เอง

แซนดราพูดถึง 5จี ที่เป็นรูปธรรมและเต็มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีกันจริงๆ ว่า อาจจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2023 จนถึงปี 2025 นี้นี่เอง แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่มีใครแน่ใจชัดเจนนักในเรื่องนี้

ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของหลายๆ เหตุการณ์สำคัญของยุค 5จี ก่อนหน้านั้น อาทิ โอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ในปี 2020

ไม่แน่นักว่า ถึงเวลานั้นเราอาจสามารถซื้อตั๋วชมกีฬาชนิดโปรดจากโตเกียวโอลิมปิกได้ด้วย “อี-ทิคเก็ต”

แล้วก็นั่งดูการแข่งขันรายการโปรดอยู่บนโซฟาตัวโปรดในห้องนั่งเล่นที่บ้าน ด้วยภาพที่ชัดเจนระดับ 8เค ถ่ายทอดสดมาให้ดูกันตามเวลาจริงกันแล้วก็เป็นได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image