การเลือกตั้งกับเนื้อหาที่ควรพูดถึง

ผู้เขียนมีความเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องกลไกทางการเมือง กล่าวคือ แค่มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา       มีผู้แทนราษฎร มีกฎหมาย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของนิสัยใจคอด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการอบรมสั่งสอน มีการฝึกหัดดัดตน ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย สมมุติว่าการอบรมสั่งสอนขัดแย้งกัน เช่น สอนให้คนกลัวไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นต้น นานไปสิ่งที่สวนทางกับวิถีประชาธิปไตยดังตัวอย่างนี้ ลงไปอยู่ในนิสัยใจคอ ก็กลายเป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไปโดยปริยาย โดยที่เราอาจจะมองไม่เห็นเลยว่าปัญหาอยู่ที่ไหน

รูปแบบและเนื้อหาทางการเมืองในลักษณะประชาธิปไตย นับเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ในระหว่างที่มีการปกครองกันแบบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องรอความพร้อมสมบูรณ์ ถ้ามัวรอความพร้อมสมบูรณ์ ก็เป็นความเข้าใจผิดแล้ว ราวกับว่าสังคมประชาธิปไตยเป็นเรื่องเนรมิตได้ ว่าที่จริงแล้วความพร้อมเกิดจากการปฏิบัติ ค่อยเรียนรู้ปฏิบัติไป ผิดบ้างถูกบ้าง เหมือนกับร่างกายแข็งแรง จิตใจรักกีฬา เมื่อรักกีฬาชนิดใด       ก็ต้องลองเล่นกีฬาชนิดนั้นอย่างเต็มที่ ประสบการณ์จะทำให้เก่งขึ้น

มาถึงวันนี้ อีกไม่นาน บ้านเราจะมีการเลือกตั้ง คนไทยผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะคนไทยที่เกิดในยุคเบบี้บูม ซึ่งเป็นอาวุโสของสังคมนี้ หากยังแข็งแรงจนทุกวันนี้ ก็ควรเป็นกำลังสำคัญทั้งในทางแนวคิดและการปฏิบัติ ควรเป็นผู้นำในการแสดงความคิดเห็น ในการมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง ให้กับคน Gen x Gen yกระทั่ง Gen Z รวมถึงการต่อต้านอุปสรรคขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยจะเป็นจริงได้ เป็นเรื่องของผู้ตามทุกคน ไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้นำ

ดังนั้น ผู้ตามควรแสดงความคิดเห็น เปิดเวที นัดประชุม หรือชุมนุม เพื่อร่วมกันออกแบบสังคมประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นโอกาสที่สังคมจะเป็นประชาธิปไตยด้วยดี คงจะเป็นไปได้ยาก

Advertisement

ตอนนี้กำลังมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ แสดงตัวออกมาพร้อมกับพรรคการเมืองเก่า เกิดปรากฏการณ์ของคนสองรุ่นที่เข้ามาเสนอตัวเป็นผู้แทนอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มหนึ่งเป็นคนหนุ่มคนสาว อีกกลุ่มเป็นคนสูงวัยที่มีประสบการณ์บนเวทีการเมืองมาก่อน บางคนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเก่า สังกัดพรรคเก่าที่เคยมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ทั้งพรรคทั้ง ผู้เสนอตัวเป็นผู้แทน แต่มีการพูดถึงปัญหาบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมาและละเอียดถี่ถ้วนน้อยมาก การพูดแบบนี้เรียกว่า การพูดอ้อมๆ และพูดหยาบ แตะแต่เพียงผิวเผิน เราเลยไม่ทราบว่าในสถานการณ์โลกตอนนี้สถานภาพของประเทศเราอยู่ ณ จุดไหน ควรจะพัฒนาไปอย่างไร และติดขัดที่ปัญหาใดบ้าง สะท้อนภาพพรรคการเมืองว่า ยังไม่ได้ทำงานการเมืองอย่างจริงจัง ลูบหน้ากลัวปะจมูก ไม่กล้าปะทะกับอะไร ความเข้มข้นทางการเมืองจึงไม่มี

การพูดอีกแบบหนึ่งคือ การพูดถึงปัญหา แต่กลายเป็นปัญหาของบุคคลหรือพรรคการเมืองมากกว่า ยังติดท่าทีโจมตีคนอื่นเพื่อให้ประชาชนมองว่าควรจะเลือกตน และไม่ควรจะเลือกใครที่ตนกล่าวว่ามีปัญหาการพูดทำนองนี้ลดน้อยถอยลงบ้าง เพราะดูไม่ยุติธรรมกับคนอื่นเสี่ยงกับการผิดกติกา และเสี่ยงต่อการโจมตีกลับ เพราะมักมีข้อมูลแบบหลวม แต่อย่างไรก็ตาม การพูดแบบนี้ก็ไม่หมดไปเสียทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักมาจากผู้มีบารมีทางการเมือง หรือผู้อยู่ในวงการเมืองมานาน เป็นที่รู้จัก พูดแล้วมีผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม การพูดแบบนี้ควรจะสูญพันธุ์ไป เพราะมักเป็นข้อมูลแบบชวนปวดหัวมากกว่าจะได้เรื่องได้ราวอะไร

Advertisement

การพูดแบบที่สาม เป็นการพูด แบบเรียกศรัทธาทางการเมืองให้แก่ตัวเอง มักได้แก่ พรรคการเมืองใหม่       ผู้เสนอตัวหน้าใหม่ พูดไปพูดมาก็วนเวียนอยู่ที่ให้สังคมรู้จักตน ในมุมที่ตนอยากให้รู้จัก คือมีความน่าสนใจความเหมาะสมที่ประชาชนจะเลือกเป็นตัวแทน ด้านหนึ่งก็ดีที่เราได้เรียนรู้จักคนใหม่ พรรคใหม่ และความคิดแบบใหม่ แต่ควรจะเสนอโครงการใหม่ๆ อย่างจริงจังว่าจะทำอะไรอย่างไร ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ต้องกล้าที่จะปะทะมากกว่าใช้ท่าทีระวังตน จนทำให้ผู้ฟังขาดความมั่นใจว่าได้เข้ามาแล้วจะกล้าทำอะไร การพูดแบบที่สามนี้ บางทีพรรคการเมืองเก่า หรือผู้เสนอตัวหน้าเก่า ก็ยังเอากับเขาด้วย เรียกว่าสร้างศรัทธาไม่เลิก

การพูดแบบที่สี่ ยังไม่มีเกิดขึ้น มีแต่คล้ายๆ จะมี แต่ก็ไปไม่ถึงที่สุด การพูดแบบนี้คงต้องใช้เวลา และการเตรียมตัวมากเพื่อการนำเสนอได้อย่างชัดเจนในทางปฏิบัติ ดังนั้น จึงอาจพูดไปในลักษณะของการวิจารณ์ประกอบข้อมูลหรือตัวอย่างที่ได้จากนานาชาติ การพูดแบบนี้อาจเรียกว่า การพูดถึงปัญหาเร่งด่วนของประเทศชาติ แนวทางแก้ไข และทางออก จากตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาแล้ว

เป็นธรรมดาที่การพูดแบบที่สี่ จะหายากที่สุดบนเวทีการเมือง เพราะคนที่เสนอตัวเป็นตัวแทน มักไม่ได้ทำการบ้านใดใด อยากเข้ามาและประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างฉาบฉวย มีชื่อเสียง เกียรติยศ และโอกาสหาเงิน การไม่แน่นหนาในเชิงเนื้อหานี้ อาจเรียกง่ายๆ ว่า เข้ามาเผื่อโชคช่วย หรือไม่ก็หาทางเล่นเกมการเมืองเพื่อได้แรงสนับสนุน คิดว่าเหนื่อยน้อยกว่าแสวงหาเนื้อหา หรืออาจจะคิดว่าเหนื่อยเท่ากันแต่เลือกทางที่ถนัด หรือทางที่เชื่อว่าจะได้ผลมากกว่า

คนเช่นนี้ต้องเรียกว่าไม่มีอุดมการณ์ เพราะอุดมการณ์ต้องเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

ความยากอีกอย่างหนึ่งสำหรับการพูดแบบที่สี่นี้ อาจเกิดจากพรรคการเมืองไม่มีฝ่ายข้อมูลที่จะแสวงหาเนื้อหามาให้อภิปราย หรือเตรียมไว้นำเสนออย่างเป็นระบบ หรืออย่างให้ความสำคัญ โดยมากทั้งตัวนักการเมืองและพรรคการเมืองจะมุ่งเน้นภาพลักษณ์ที่สื่อกับประชาชนแบบหลวมๆ มากกว่า ความหนาแน่นเข้มข้นทางความคิดเป็นเรื่องที่ประชาชนมอบให้ในเชิงทัศนคติ ซึ่งก็มอบให้แบบหลวมอีกเหมือนกัน

ยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง มีการเคลื่อนไหวเพื่อวอนว่าอย่าเลื่อนกำหนดเลือกตั้งออกไปอีกเลย การเคลื่อนไหวเช่นนี้ใช่ว่าไม่ดี จริงแล้วดีและควรทำต่อเนื่อง แต่ภาคประชาชนควรสร้างเวทีที่เสนอทรรศนะในเชิงเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาในเรื่องการเตรียมตัวเป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตย และในที่สุดจะส่งผลให้กระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนเช่นนี้ มีคุณภาพไปด้วยตัวของมันเอง กล่าวคือนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ผู้นำก็ต้องปฏิบัติตาม

กล่าวโดยสรุป ประชาชนต้องช่วยกันสร้างคุณภาพด้วยมือประชาชนเอง อย่าไปหวังที่พรรคหรือนักการเมือง เพราะประเพณีการเมืองในวงการเมืองของเราคือ แค่ได้เห็นความเคลื่อนไหวในเชิงกลไก ไม่ได้เน้นคุณภาพ เฉพาะช่วงเลือกตั้งก็เหมือนชวนกันมาเลือกตั้งให้จบๆ ไปตามพิธี เลยเท่ากับเปิดโอกาสให้คนไม่หวังดีต่อกระบวนการประชาธิปไตย เข้ามาแทรกแซงได้ในหลายรูปแบบดังที่เห็นๆ กันมาแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image