เดินหน้าชน : ปรับเกณฑ์รับน.ร.ปี’62 แก้แป๊ะเจี๊ยะ-กระทบอาชีวะ?

เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงหลาย 10 ปีของการรับนักเรียนหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอ ครม.รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนของสถานศึกษาสังกัด สพฐ.

จนทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือบอร์ด กพฐ. ที่มี รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน ต้องนำข้อเสนอ ป.ป.ช.มาพิจารณา และมีมติเห็นชอบให้แก้ไขประกาศรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2562

ทั้งที่ได้มีการลงนามประกาศแจ้งแนวปฏิบัติการรับนักเรียนมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2561

มติที่ออกมาจะเกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนชั้น ม.1 มากที่สุด มีทั้งการยกเลิก และแก้ไข หลักเกณฑ์การรับนักเรียนที่ใช้กันมายาวนานหลาย 10 ปี

Advertisement

โดยเฉพาะการรับ “นักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ” เดิมกำหนดไว้ 7 ประเภท จะเหลือเพียง 4 ประเภท ได้แก่ 1.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน เนื่องจากเป็นข้อผูกพันเดิมของโรงเรียน 2.นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 3.นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ต้องการได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ และ 4.นักเรียนที่เป็นบุตรราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน

โดยให้ตัดที่เหลือ อีก 3 ประเภท 1.นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.รับนักเรียน โควต้าตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย และ 3.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

ทั้ง 3 ประเภทที่ถูกตัดออกไปนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นช่องโหว่ในการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะและยากที่จะตรวจสอบ

Advertisement

อีกส่วนที่ปรับแก้ คือ คำนิยาม และคุณสมบัติ ของนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน เดิมแค่ระบุนักเรียนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนอย่างน้อย 2 ปี

ที่ผ่านมาผู้ปกครองมักใช้วิธีย้ายชื่อลูกหลานมาอยู่ในทะเบียนบ้านแต่ไม่ได้อยู่อาศัยจริง เพื่อให้ได้สิทธิเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

คำนิยามใหม่ที่ปรับ ระบุให้นักเรียนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนอย่างน้อย 2 ปี นับถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และต้องอาศัยอยู่จริงกับบิดามารดา หรือผู้ปกครองที่เป็นเจ้าบ้าน โดยให้เจ้าบ้าน หรือเจ้าของบ้าน รับรองการอาศัยอยู่จริง

และให้ผู้ปกครองเซ็นรับรองในใบสมัครเข้าเรียนว่า “เด็กพำนักอยู่ในบ้านนั้นจริง หากมีการตรวจสอบพบภายหลังว่าไม่ได้พักอาศัยอยู่จริง ยินดีรับโทษให้เด็กออกจากโรงเรียนนั้นได้โดยไม่ฟ้องร้อง”

นอกจากนี้ยังมีความผิดทางกฎหมายแพ่งและอาญา ฐานให้ข้อมูลเท็จ

การปรับแก้เงื่อนไข หลักเกณฑ์การรับนักเรียนดังกล่าว แม้จะเป็นการปิดช่องโหว่การทุจริต การเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกกับการเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

แต่เชื่อว่าคงแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายช่องทางที่เปิดโอกาสให้เกิดการจ่ายเงินเพื่อแลกกับที่นั่งเรียน โดยเฉพาะในส่วนของ “เงินบริจาค”

แม้ที่ผ่านมาจะมีการกำหนดนโยบายชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าจะไม่เป็นเงื่อนไขในการรับเด็กเข้าเรียน แต่ในทางปฏิบัติแล้วส่วนนี้ยังเป็นช่องโหว่

ในประกาศฉบับใหม่ตามมติของบอร์ด กพฐ.ยังได้ยกเลิกหลักเกณฑ์เดิม ที่ไม่ให้นักเรียนชั้น ม.3 ได้เข้าเรียนต่อ ม.4 ในโรงเรียนเดิม จากนี้เด็ก ม.3 ทุกคนสามารถเรียนต่อที่เดิมได้

ในส่วนนี้ยังเป็นข้อถกเถียงว่าจะเป็นผลดีต่อระบบการศึกษาไทยหรือไม่ เพราะเดิมที่กำหนดหลักเกณฑ์นี้เพื่อให้เด็กอีกกลุ่มที่ส่วนใหญ่ผลการเรียนไม่สู้ดีนัก ได้มีทางเลือกเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา

สอดรับกับนโยบายการศึกษาชาติในการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น

แต่หลักเกณฑ์ที่ออกมาจะส่งผลทำให้คนเข้าเรียนต่อในสายอาชีวศึกษาลดลงหรือไม่

ทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงในการรับนักเรียน มีทั้งส่วนดีที่จะปราบทุจริต เงินแป๊ะเจี๊ยะ และส่วนที่อาจกระทบกับการเรียนสายอาชีวศึกษา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image