สะพานแห่งกาลเวลา : สปอร์ต คอนเทนต์

เมื่อสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไซมอน จอร์แดน อดีตประธานสโมสรฟุตบอล คริสตัล พาเลซ ทีมในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อหลายๆ แห่งกลายเป็นข่าวทั่ว

สาระสำคัญในสิ่งที่เขาพูดแล้วสะกิดใจผมมากก็คือ จอห์นสันเชื่อว่า เขาสามารถทำให้บริษัท พรีเมียร์ ลีก ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่คนไทยติดกันงอมแงม ได้ค่าลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 3 เท่าตัวจากค่าลิขสิทธิ์ที่ได้อยู่ในเวลานี้

วิธีการง่ายๆ ที่เขาบอกไว้ก็คือ ทำให้พรีเมียร์ลีกกลายเป็น “เน็ตฟลิกซ์ของวงการฟุตบอล” ไปก็เป็นอันเรียบร้อย

คำนวณตัวเลขออกมาให้เห็นกันเสร็จสรรพว่า ถ้าหากพรีเมียร์ลีกทำตัวเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ฟุตบอลอังกฤษ เหมือนกับที่เน็ตฟลิกซ์(ให้บริการด้านบันเทิง ภาพยนตร์ และอีกสารพัด) แล้ว ทำยอดคนที่ยอมควักเงินเป็นค่าสมาชิกได้สัก 100 ล้านคนเหมือนกับที่เน็ตฟลิกซ์ทำได้ แค่เรียกค่าดูแค่เดือนละ 8 ปอนด์ (ราว 320 บาท) ปีหนึ่งๆ พรีเมียร์ลีกก็สามารถทำเงินได้มหาศาลถึง 10,000 ล้านปอนด์

Advertisement

สูงกว่า 8,700 ล้านปอนด์ในทุกๆ 3 ปี อย่างที่ขายลิขสิทธิ์ให้สถานีโทรทัศน์ไปอย่างเช่นทุกวันนี้ถึงกว่า 3 เท่าตัว

เรื่องที่ว่า บริษัทพรีเมียร์ลีกเขาจะเอาตามที่ไซมอน จอห์นสัน ว่าเอาไว้หรือไม่ เป็นเรื่องหนึ่ง และหากทำอย่างนี้จริงๆ จะหาสมาชิกได้ 100 ล้านคนได้หรือไม่ ในระยะเวลานานเท่าใด ก็เป็นประเด็นแยกต่างหากอีกเช่นกัน

แต่ที่เป็นประเด็นแน่ๆ ก็คือ ข่าวนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า นับวัน “เนื้อหา” หลายต่อหลายอย่างยิ่งหลุดออกจากหน้าจอทีวีมากขึ้นทุกที

รูปแบบแต่เดิมของพรีเมียร์ลีกนั้นขาย “เนื้อหา” ซึ่งก็คือสัญญาณการแข่งขันทุกนัดรวมแล้วฤดูกาลละ 380 นัดให้กับสถานีโทรทัศน์ไปถ่ายทอดกันสดๆ ให้ผู้ชมของตนเองดู

ในยุโรปหรือในสหรัฐอเมริกา มักอยู่ในรูปของสถานีโทรทัศน์ที่ต้องจ่ายเงินเป็นค่าสมาชิก (เพย์ทีวี) ในบางประเทศเป็นสถานีโทรทัศน์แบบ “ฟรีทีวี” ที่ใช้วิธีการขายโฆษณาหารายได้

เพิ่งจะมีการขายลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกครั้งหลังสุด เมื่อปีที่ผ่านมา ที่เปลี่ยนแปลงไป

เปลี่ยนไปเป็นแยกขายเป็นรายภูมิภาคให้กับ “บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่” นำไปนำเสนอในรูปของ “ไลฟ์ สตรีมมิ่ง” ให้คนดูได้เลือกดูกันได้จากหลายอุปกรณ์

ตัวอย่างเช่น ในส่วนของประเทศไทย, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม ขายให้กับเฟซบุ๊ก ระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ฤดูกาลหน้า (2019/2020) ไปจนถึงปี 2022 (ฤดูกาล 2021/2022) ว่ากันว่า ค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ราวๆ 200 ล้านปอนด์

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกครับ

ที่สำคัญคือ พรีเมียร์ลีกไม่ได้หยุดอยู่แค่เฟซบุ๊ก แต่กำลังเจรจากับรายอื่นๆ อีกหลายเจ้าอย่างเช่น อเมซอน  ซึ่งได้สิทธิพรีเมียร์ลีก 20 แมตช์ถ่ายทอดแบบไลฟ์สตรีมมิ่งให้กับผู้ที่เป็นสมาชิกอเมซอนไพรม์ในอังกฤษ  รวมไปถึงกำลังคุยอยู่กับยูทูบ และที่แน่ๆ ก็คือ เน็ตฟลิกซ์อีกด้วย

ทำไมแนวโน้มถึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบก็คือ ที่ผ่านมาคนเริ่มดูทีวีน้อยลงแล้ว ถ้าวัดกันในอังกฤษเอง ตัวเลข   ผู้ชมพรีเมียร์ลีกผ่านช่องสกายทีวี ลดลงมาตั้งแต่ฤดูกาล 2016/2017 ถึง 14%

เมื่อปีกลาย บีทีสปอร์ต เพย์ทีวีอีกราย ขยับเพิ่มค่าสมาชิกเพราะคนดูหด แต่เพิ่มแล้วก็ยิ่งหดน้อยลง นับเป็นหมื่นรายทีเดียว

ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า คนเราใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์ม ออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊กเพิ่มมากขึ้น ในปี 2018 ผลสำรวจออกมาว่า ทั่วโลกคนใช้เวลากับเฟซบุ๊กมากขึ้นเป็นราว 221 นาที/วัน เพิ่มจากปีก่อนหน้านั้น 4%

พรีเมียร์ลีกเชื่อว่า หนทางนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับ สปอร์ต คอนเทนต์ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของอยู่ในเวลานี้

ในส่วนของเฟซบุ๊ก จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะนำเสนอพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้า ในไทยและ   ประเทศอื่นๆ อย่างไร แบบไหน จะขายลิขสิทธิ์ต่อหรือไม่? ยังไม่มีข่าวออกมาครับ

แต่เฟซบุ๊กเสี่ยงจ่ายปีละร่วมๆ 70 ล้านปอนด์ เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่า 40% ของ “แอ๊กทีฟ ยูสเซอร์” ของตัวเองเป็นคนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในขณะที่ 38% ของผู้ชมพรีเมียร์ลีกทั่วโลก ก็มาจากภูมิภาคเดียวกันนี้นั่นเองครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image