’24 กุมภาพันธ์ 2562′ ไม่มีเลือกตั้ง ’24 มีนาคม 2562′ ต้องมีเลือกตั้ง

ประเทศไทยยามค่ำของวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นไปอย่างเงียบเหงา… วันนี้ไม่มีการเลือกตั้ง

แต่ถ้าดูจากข่าวต่างประเทศแล้ว วันนี้มีการเลือกตั้งที่เซเนกัล และการเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก อย่างน้อยเซเนกัลก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีเสถียรภาพในอัฟริกา ไม่ต้องเผชิญกับภัยของการก่อการร้ายเหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาลี ที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงของการก่อการร้าย จนฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมเก่าต้องส่งกำลังทหารเข้าไปปฎิบัติการ

ถ้าวันนี้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ข่าวของไทยก็คงเป็นข่าวไปทั่วโลกคู่ขนานกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นที่เซเนกัล

ถ้าวันนี้มีการเลือกตั้งดังคำสัญญาแล้ว คำ่วันอาทิตย์ที่ 24 คงเป็นความน่าตื่นเต้นที่เราจะเฝ้าติดตามผลการลงคะแนนหน้าจอทีวี พร้อมกับนั่งฟังการวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทยในแง่มุมต่างๆ แต่วันนี้โลกกำลังนั่งเฝ้าดูผลการเลือกตั้งที่เซเนกัล…

Advertisement

ขณะเดียวกันการประท้วงของ”กลุ่มแจ็คเก็ตสีเหลือง”ในฝรั่งเศสทุกวันเสาร์ก็ขยายตัวมากขึ้น การประท้วงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่สาม และการประท้วงอย่างเช่นที่ตูลูสในวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ มีความรุนมากขึ้น น่าสนใจว่าไม่มีกลุ่มปีกขวาในฝรั่งเศสเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร และผู้นำกองทัพก็ไม่ได้ฉวยโอกาสใช้การประท้วงที่เกิดเป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนแต่อย่างใด… การประท้วงถือเป็นธรรมชาติของการเมืองในระบบเปิดที่เป็นอารยะ

การรัฐประหารอาจจะจบลงในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับประเทศด้อยพัฒนาแล้ว(หรือเรียกให้ดีสักนิดว่า “ประเทศกำลังพัฒนา”) หนึ่งในความด้อยพัฒนาทางการเมืองก็คือ การเมืองยังตกอยู่ในวังวนของการรัฐประหารแบบไม่มีที่สิ้นสุด รัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือในการตัดสินการได้อำนาจรัฐ และการเลือกตั้งกลายเป็นความเปราะบางในตัวเองภายใต้อำนาจของกองทัพ

แต่วันนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเดินออกจาก”กับดักรัฐประหาร”ไปแล้ว และหวังว่าประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่อนาคต เพราะรัฐประหารกลายเป็นการเมืองของความไม่แน่นอน และขณะเดียวกันรัฐประหารคือสัญลักษณ์ของความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

Advertisement

แม้ผู้นำการยึดอำนาจจะชอบอ้างว่า รัฐประหารเป็นเครื่องมือของการสร้างความสงบเรียบร้อย แต่ความสงบเรียบร้อยเช่นนี้กลับกลายเป็นปัจจัยของความไม่แน่นอนในตัวเอง เพราะภายใต้ระบอบทหารนั้น การเมืองกลายเป็นปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้ และเป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีความชอบธรรม

ในขณะที่ความขัดแย้งในระบบรัฐสภานั้น ถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อนจากชนชั้นนำ หรือเกิดการแทรกแซงจากผู้นำทหารแล้ว ความขัดแย้งดังกล่าวจะจบลงด้วยการยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้งครั้งใหม่ หากจะมีการประท้วงเกิดขึ้นดังเช่นที่เห็นได้ชัดในฝรั่งเศสปัจจุบัน หากผู้นำทหารไม่เข้ามาเป็น”ผู้เล่น” โดยตรงแล้ว การประท้วงบนท้องถนนจะยังคงเป็นความรุนแรงในระดับจำกัด

ในขณะที่การเลือกตั้งจบลงแล้วที่เซเนกัล แต่ระยะเวลาอีก 30 วันที่เหลือของการเลือกตั้งไทยกลับมีแต่สัญญาณของความไม่แน่นอน… ไปที่ไหนก็มักจะมีแต่คำถามว่า จะมีการเลือกตั้ง(ในไทย)หรือไม่ ไม่น่าเชื่อว่า จนถึงวันนี้ผู้คนในสังคมไทยกลับไม่มั่นใจว่าในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า พวกเราจะมีโอกาสเดินไปลงเสียงที่คูหาเลือกตั้งตามที่รัฐบาลทหารสัญญาไว้หรือไม่

ข่าวลือรัฐประหารยังคงถูกปั่น เท่ากับที่ข่าวลือเลื่อนการเลือกตั้งก็มีการปั่นไม่ต่างกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ระยะเวลาอีก 30 วันที่เหลือนั้น การเมืองไทยเดินไปบนเส้นทางอื่นไม่ได้

แม้การเลือกตั้งอาจจะมีปัญหา และผลหลังการเลือกตั้งก็อาจจะมีปัญหา แต่ก็น่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาการเมืองด้วยกรอบและกระบวนการทางรัฐสภา และต้องยุติความเชื่อว่ารัฐประหารเป็น “ยาวิเศษ”ที่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ รัฐบาลทหารปัจจุบันเป็นคำตอบอย่างชัดเจนถึงความ”ล้มเหลว”ทางการเมืองที่ไม่อาจปฏิเสธได้…

ถ้ากลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจทำรัฐประหาร ก็คงไม่ต่างอะไรกับการ”จุดไฟเผาประเทศ” เพราะความน่าเชื่อถือของประเทศจะพังทลายลง และประเทศจะไม่ใช่แค่”ผู้ป่วย”ในภูมิภาค แต่จะกลายเป็น”คนป่วยไอซียู”ที่ต้องระวังสัญญาณชีพหยุด! และไทยจะกลายเป็นปัญหาของอาเซียน(ให้ประเทศเพื่อนบ้านหัวเราะในความเขลาทางการเมือง ไม่ต่างจากรัฐประหารในเวียดนามหรือกัมพูชาก่อนปี 2518)

แน่นอนว่าผลของการยึดอำนาจอาจนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งดังการ”ก่อไฟกองใหญ่” จนในระยะยาวแล้วอาจจะทำให้การพลิกฟื้นสถานะของประเทศประสบปัญหาอย่างมาก และก็หวังว่าความขัดแย้งเช่นนี้จะไม่ขยายตัว จนสภาวะของการไร้เสถียรภาพที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัจจัยของการแทรกแซงของรัฐมหาอำนาจภายนอก

แต่ถ้าเลื่อนเลือกตั้งก็คือ”รัฐประหารเงียบ” ที่ผลอาจไม่แตกต่างกัน และรัฐบาลที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียง”ผู้ล้มละลายทางการเมือง”ที่แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลไทยจะกลายเป็น”ผู้ไร้ความน่าเชื่อถือ”ในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้… คำสัญญาเลือกตั้งอีกครั้งจะไม่มีความน่าเชื่อถืออะไรเลย และประเทศอาจจะถูกจัดอันดับด้วยคะแนนแบบ ”สอบตก”ตามมาตรฐานสากล ที่ไม่มีจุดขายสำหรับการลงทุนทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

วันนี้จึงได้แต่หวังว่าหลังจากการเลือกตั้งที่เซเนกัลแล้ว ในอีก 30 วันข้างหน้าเราจะเดินไปที่คูหาเลือกตั้งพร้อมกัน… ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกันในระบบรัฐสภา หมดเวลาแล้วที่จะเชื่อว่าผู้นำทหารจะเป็น”อัศวินม้าขาว”มากอบกู้สถานการณ์ด้วยการรัฐประหาร เพราะวันนี้ไม่มีทั้งอัศวินและก็ไม่มีม้าขาว มีแต่ปัญหาของประเทศที่รอการแก้ไขด้วยอำนาจจากการลงเสียงของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image