การเมืองแห่ง ‘ความหวัง’ และ ‘ความกลัว’ : โดย กล้า สมุทวณิช

ระหว่างการได้รับเงินหนึ่งพันบาทมาแบบลาภลอย กับการที่คุณพบว่าเงินที่คุณมีอยู่หายไปหนึ่งพันบาท หากสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน สิ่งใดจะส่งผลต่อจิตใจคุณมากกว่ากัน

หากมองแบบคณิตศาสตร์หรือเหตุผล คุณไม่ควรมีความรู้สึกวูบไหวไกวจิตอันใดไปมากนัก เพราะบวกลบแล้วเท่ากับศูนย์ แต่ในทางความเป็นจริง เราส่วนใหญ่คงยอมรับว่าไม่ใช่เช่นนั้น การที่ได้เงินหนึ่งพันบาทมาใหม่ ในขณะที่เงินหนึ่งพันบาทที่เคยมีอยู่นั้นหายไป เงินที่หายไปนั้นทิ้งร่องรูแห่งความเสียดายไว้ในความรู้สึกมากกว่าความยินดีที่ได้มา หรือต่อให้การสูญหายนั้นเกิดขึ้นก่อน และเราได้รับการชดเชยคืนมา แต่การชดเชยนั้นก็ไม่ได้กู้ฟื้นคืนความรู้สึกมาได้เต็มที่

เรื่องนี้เป็นกลไกกับดักทางจิตวิทยาที่ได้รับการอธิบายไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่นในหนังสือ “The Art of thinking clearly (52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม)” ของ Rolf Dobelli สันนิษฐานว่า อคติเพราะกลัวการสูญเสียเป็นสัญชาตญาณที่สืบทอดกันมาของมนุษย์ เนื่องจากในอดีตนั้นความสูญเสียเท่ากับความตาย มนุษย์ที่อยู่รอดจึงเป็นมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณกลัวและให้น้ำหนักต่อการป้องกันความสูญเสียมากกว่าความยินดีเมื่อได้รับ

คำแนะนำในการใช้กลไกทางจิตวิทยานี้ คือหากจะโน้มน้าวใจใคร การบอกว่าถ้าเขาทำเช่นนี้แล้วไม่สูญเสียอะไรนั้นทรงพลังกว่าการบอกว่าการทำแบบเดียวกันนั้นจะได้รับผลดีอย่างไร

Advertisement

ข้อพิสูจน์ง่ายๆ คือการตัดสินใจซื้อของคนทั่วไป ที่เราจะตัดสินใจซื้อเพราะการได้รับ “ส่วนลด” ได้ง่ายกว่าการได้ “ของแถม” ในมูลค่าเท่ากัน เพราะส่วนลดนั้นทำให้เรา “เสีย” เงินในกระเป๋าน้อยลง ในขณะที่ของแถมแม้เราจะ “ได้” ในมูลค่าเท่ากัน แต่ก็วางน้ำหนักเร่งการตัดสินใจเราได้น้อยกว่า

จิตวิทยาเรื่องนี้นำมาอธิบายกลยุทธ์การเลือกตั้งอมตะรูปแบบหนึ่งได้ดี คือ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

“เขา” ในที่นี้คือปีศาจภูติผีแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมา “ทำลาย” สิ่งเดิมสิ่งใดที่เรามีอยู่ อาศัยอยู่ หรือยึดถืออยู่

Advertisement

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามบอกกล่าวเล่าแสดงว่า หากเลือกเขาเข้ามาเป็นผู้มีส่วนใช้อำนาจรัฐบริหารประเทศแล้ว พวกเขาจะขับเคลื่อนนโยบายทำอะไรให้คุณบ้าง แต่อีกฝ่ายจะไม่บอกว่าคุณจะได้อะไร นอกจากพยายามนำเสนอภาพว่า คุณจะ “เสีย” อะไรไปบ้าง หากไม่เลือก “เรา”

การเลือกตั้งที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งว่ากลยุทธ์แบบ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” นี้ได้ผลอย่างจริงจัง คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2556 ระหว่างหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลงสมัครในตำแหน่งดังกล่าวเป็นสมัยที่สอง กับ พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ
จากพรรคเพื่อไทย

แม้ว่าทุกฝ่ายจะยอมรับกันว่า ผลงานของท่านผู้ว่าฯในสมัยก่อนหน้านั้นไม่เป็นที่ประทับใจเท่าไรนัก แต่ในบรรยากาศทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยเพิ่งกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งระดับประเทศไปเมื่อปีก่อนหน้า จึงทำให้กลยุทธ์การหาเสียงแบบไม่เลือกเราเขามาแน่ถูกนำมาใช้ ด้วยการสร้างความรู้สึกให้คนกรุงเทพฯ “รักษา” ที่มั่นสุดท้ายไม่ให้ถูกยึดครองจากผู้เล่นหน้าใหม่ โดยกลยุทธ์หาเสียงสร้างคะแนนนี้ไม่พูดสักคำว่า ท่านผู้สมัครหน้าเก่าจะมีการปรับปรุงตัวหรือมีผลงานอย่างไร แต่สร้างภาพความน่ากลัวว่าหาก “คนใหม่” เข้ามาแล้วชาวกรุงจะ “สูญเสีย” อะไรอย่างไร

ผลการเลือกตั้งและผลงานของท่านผู้ว่าฯสองสมัยนั้นคงเป็นที่ประจักษ์ไปแล้ว พร้อมซ้ำเติมด้วยผู้ว่าฯที่คนกรุงไม่ได้เลือกอีกหนึ่งคน

ในการเลือกตั้งระดับประเทศที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ก็เช่นกัน จากเดิมที่เป็นการแข่งขันต่อสู้กันด้วยนโยบาย ซึ่งเททางไปยังแนวประชานิยมคล้ายกันหมดทุกพรรค ต่างกันที่ “สินค้า” ที่เอามาเรียกค่าความนิยมเท่านั้นเอง

แต่เมื่อแสงสว่างอันเจิดจ้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ “พรรคอนาคตใหม่” เริ่มเคลื่อนขึ้นบนขอบฟ้า กลยุทธ์ทางการเมืองของฝ่ายจารีตที่เกาะกุมอำนาจรัฐเดิมไว้อยู่ ก็เริ่มงัดกระบวนท่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ขึ้นมาใช้

ดังได้กล่าวไปในคอลัมน์ตอนที่แล้วว่ามีเหตุน่าสงสัยว่าจะมีการใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและข้อมูลข่าวสารในการสร้างภาพว่า หากอนาคตที่ว่าใหม่นั้นจะเกิดขึ้นจริง จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะมีอะไรสูญเสียไปบ้าง

สิ่งนั้นคือโลกใบเก่า คือสภาวะแวดล้อมที่คนรุ่นหนึ่งเติบโตและใช้ชีวิตมา ไม่ว่าเขาจะพอใจกับมันหรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ออกจะทำใจยาก หากโลกและสิ่งแวดล้อมเช่นนั้นจะหายสาบสูญไป

โลกและสิ่งแวดล้อมนั้นมีทั้งสิ่งที่เขามองว่าเป็นเรื่องดีงามแบบวันวานยังหวานอยู่ เช่น ประเพณีอันดีงาม การกราบไหว้ครูอาจารย์หรือผู้มีอาวุโส การเติบโตก้าวหน้าในการงานและสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไป สังคมอันดีงาม หรืออย่างน้อยพวกเขาก็เชื่อว่ามันเคยดีงาม

แม้บางเรื่องที่พวกเขาจะอึดอัดไม่พอใจ เช่น เรื่องการเกณฑ์ทหารที่ต่างคนต่างก็หาวิธีเลี่ยงหลบทั้งโดยชอบและแบบเทาๆ แต่เราก็ไม่ได้ต้องการความเปลี่ยนแปลงระบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพ้นจากภาวะเช่นนั้นมาแล้ว เช่น อายุพ้นเกณฑ์หรือมีเหตุยกเว้นต่างๆ แล้ว

การเมืองแบบ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ที่ใช้ “ความกลัว” เป็นเชื้อพลังขับเคลื่อนนั้นได้ผลดีกับคนรุ่นหนึ่งที่มีอายุอยู่ในระบบเช่นว่านั้นมานานจนคุ้นชิน นานจนรู้วิธีที่จะ “อยู่เป็น” ในโลก สิ่งแวดล้อมและระบบเช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่อยากสูญเสียความเคยชินนั้น

อุปมาดังภรรยาในครอบครัวที่สามีเป็นใหญ่ และกระทำทารุณทุบตี หรือเอาแต่ใจตัวเองเบียดบังความสุขของสมาชิกในครอบครัวมากเพียงไรก็ตาม แต่ด้วยเหตุผลว่า ก็อยู่กันมานานจนรู้วิธีจัดการที่จะวางตัวหรือเข้าหาปฏิบัติพัดวีแล้ว ก็ยังมีเหตุผลว่า ช่วงก่อนหน้าที่มันจะแย่เช่นนี้ มันก็เคยมีเวลาดีๆ อยู่เช่นกัน และภรรยาคนนั้นก็ยังคาดหวังว่า อย่างน้อยอยู่ในครอบครัวที่รู้จัก ในบ้านที่คุ้นเคยนี้ จะอึดอัดไม่พอใจหรือแม้แต่เจ็บตัวบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่มี “บ้าน” และ “พ่อบ้าน” แบบนี้อยู่แล้ว ด้วยการผละออกจากบ้านไปแสวงหาที่ใหม่เอาดาบหน้า หรือแม้แต่ “ไล่” สามีผู้ฉุนเฉียวใจร้ายนั้นไปให้พ้นจากชีวิตครอบครัว

ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่นั้นเกิดมาในสภาพสังคมอย่างที่เขาเห็นและเติบโต เขามองไม่เห็นภาพเดียวกันกับในจินตนาการประกอบสร้างจากบรรดาคนรุ่นก่อนหน้า มันเป็นเพียงเรื่องบอกเล่าอันล่องลอยของยุค “บ้านเมืองยังดี” ที่นึกไม่ออกว่าไอ้ที่ว่าดีแบบนั้นมันดีอย่างไร พวกเขาได้รับการบอกเล่าเรื่องของปีศาจที่ถูกเนรเทศไปแดนไกล แต่ยังคงหลอกหลอนผู้ใหญ่ แต่เขาไม่ได้มีภาพอย่างเดียวกันกับที่คนรุ่นก่อนหน้าผู้บอกเล่าได้เห็นหรือมีประสบการณ์ เช่นนี้เรื่องเล่าเหล่านั้นจึงไม่มีพลังพอที่จะสร้างโลกที่พวกเขารู้สึกว่ามันดีอยู่แล้ว และควรจะอดทนต่อไปเพื่อความปลอดภัย

เหมือนเด็กๆ ที่เกิดมาในบ้านของพ่อบ้านใจร้ายเช่นนั้น เขาไม่เคยเห็นภาพสามีบิดาผู้ปกครองของเขาในปางที่ดี หรือแม้ต่อให้ได้เห็น เขาก็นึกไม่ออกว่าความดีงามอันเคร่งครัดห้ามโต้แย้งเห็นต่างนั้นเป็นความดีอย่างไร

ในขณะที่เขาตั้งคำถามกับทุกอย่างตามสัญชาตญาณ และด้วยโลกใหม่ที่ห้ามเขาถามหรือซุบซิบกับเพื่อนฝูงหรือคนอื่นนอกครอบครัวไม่ได้ ในที่สุดเขาก็คิดว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนพยายามกล่อมเกลาว่าของเดิมนั้นดีอยู่แล้ว ของใหม่นั้นน่ากลัว ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรั้งไว้ไม่ให้เขาเลือกความเปลี่ยนแปลง

เขายินดีเลือกอนาคตที่ไม่รู้จักและพร้อมผจญภัย เรียนรู้ลองผิดถูกกับมัน มากกว่าเลือกอดีตเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพและอิสรภาพ นอกจากความเคยชินและสัญญาลมแล้งว่าทุกอย่างจะดีเหมือนเดิม พวกเขาไม่กลัวแม้แต่คำขู่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นและเป็นอยู่นั้นจะถูกทำลายให้หายไป เพราะสำหรับเขา สิ่งแบบนั้นหากจะดับสูญไปก็ไม่แปลก หรือแม้แต่เหมาะสมแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงอีกสี่สัปดาห์ที่พวกเราจะได้เลือกเส้นทางกันอีกครั้ง คือการยื้อยุดดึงดันระหว่างสังคมผู้สูงอายุ ผู้คนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงแม้จะพอใจ แต่ก็ยินดีที่จะเหนี่ยวยึดความปลอดภัยที่ไม่น่าอภิรมย์นั้นไว้ ผู้คนที่กลัวปีศาจที่สร้างขึ้นมาเองหลอกตัวเองจนไม่กล้าที่จะออกไปนอกขอบรั้วแห่งกรอบคิด กับเหล่าคนหนุ่มสาวที่พร้อมที่จะก้าวออกไป เมื่อได้รับรู้ว่าเขาถูกกังขังไว้ในโลกของความหวั่นกลัวในสิ่งที่จะดีหรือร้ายก็ไม่มีใครรู้

คนรุ่นเก่าผู้ถืออำนาจหรือทิศทางในสังคมเดิมพยายามห้ามปรามอย่างแข็งขันตะคอกเกรี้ยวว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

ลืมมองเข้าไปในแววตาของพวกเขาเพื่ออ่านคำตอบว่า “ใช่ เราอยากให้เขามา เพราะเราไม่กลัวเขา อย่างที่พวกคุณกลัว”

การต่อสู้ของคนที่รักษาธนบัตรฉบับละหนึ่งพันบาทใบสุดท้ายไว้ไม่ให้กระเด็นด้วยอาการหวาดกลัวความสูญเสีย แม้จะยอมรับว่ามันมีค่าน้อยลงทุกที กับคนกลุ่มที่ยอมจ่ายเงินพันบาทไปโดยไม่ลังเลในวันนี้เพื่อหวังผลกำไรอีกหลายพันหรือหลักหมื่นในอนาคต ดีกว่าการกอดเงินก้อนเดิมที่มูลค่าลดลงเรื่อยๆ ตามวันและเวลาอย่างกระเหม็ดกระแหม่ ภายใต้ความหวังว่าแล้วสักวันข้าวของจะถูกลง ธนบัตรนี้จะกลับมามีค่าซื้อของได้เต็มตะกร้าเหมือนเช่นรุ่นพ่อแม่ตัว ซึ่งเป็นปู่ตาย่าทวดผู้ลับลาไปแล้วของเด็กรุ่นและคนหนุ่มสาว

นี่คือการยื้อยุดผู้คนผู้ถูกขับเคลื่อนด้วยความหวังและกระหายความเปลี่ยนแปลง กับผู้หมายจะเหนี่ยวรั้งกันกักรักษาพื้นที่ไว้ด้วยความกลัว คนกลุ่มที่จะหักร้างถางพงเพื่อสร้างทางเดินไปข้างหน้า กับคนที่ตั้งหน้าทุบทำลายอิฐพื้นของถนนเพื่อรักษาทุ่งหญ้าป่ารก เพียงเพราะเคยเห็นมันมาอย่างไร ก็อยากเห็นมันอยู่อย่างนั้น

การเมืองของความหวังและความกลัวยังคงต่อสู้กันเหมือนสุนัขป่าดำขาวในตำนานเชอโรกี ที่จะเป็นเราเองผู้เลือกว่าจะป้อนอาหารให้ฝ่ายไหนได้ชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image