เดินหน้าชน : แจ้งเกิดใบขับขี่ดิจิทัล : โดย สัญญา รัตนสร้อย

กรมการขนส่งทางบกเปิดใช้งานใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือใบขับขี่ดิจิทัลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 15 มกราคมเป็นต้นมา เคลมว่าเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้รถใช้ถนน แทนพกใบขับขี่ให้ยุ่งยาก หากถูกตำรวจเรียกดู ก็เปิดมือถือโชว์ได้เลย

โอกาสลืมใบขับขี่เกิดขึ้นง่ายกว่าลืมโทรศัพท์มือถือที่จะสร้างปัญหาชีวิตหลายประการ

เอาเข้าจริงจนถึงขณะนี้ผ่านมาเดือนเศษ กลับมีผู้ดาวน์โหลดใบขับขี่ดิจิทัลไม่กี่มากน้อย

เหตุผลก็เพราะ แม้โหลดใบขับขี่ดิจิทัลมาแล้ว ยังต้องพกบัตรใบขับขี่เหมือนเดิม

Advertisement

ขืนไปเผลอเรอหรือตั้งใจทำผิดกฎหมายจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจขอยึดใบขับขี่ให้ไปเสียค่าปรับ แต่เกิดลืมพกขึ้นมา จะเปิดใบขับขี่ดิจิทัลให้ดู ใช้แทนกันไม่ได้นะครับ

ท่านตำรวจจะยึดมือถือก็ไม่ได้เสียด้วย เพราะคนละเรื่องกัน

ที่สุดผู้ขับขี่คนนั้นโดน 2 เด้ง ทั้งผิดกฎจราจรแถมขับรถไม่มีใบขับขี่

Advertisement

ล่าสุดใบขับขี่ดิจิทัลมีโอกาสแจ้งเกิดจริงจังมากขึ้น จากเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพิ่งโหวตผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.การจราจรทางบก

นำระบบ “ตัดแต้ม” คนทำผิดกฎจราจรกลับมาใช้อีกครั้ง จากก่อนหน้านี้เคยพยายามนำมาใช้ค่อนข้างล้มเหลวจนเงียบหายไป

สาระสำคัญภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องไปออกข้อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวข้องกับการตัดคะแนนผู้ขับขี่

เบื้องต้นร่างข้อกำหนดให้ผู้ขับขี่มีคะแนนเต็ม 12 คะแนน และจะถูกหักออกเมื่อทำผิดกฎจราจรมากน้อย หนักเบา ตามแต่โทษานุโทษ ตัวอย่าง ฝ่าไฟแดงโดนตัด 1 คะแนน หรือไม่หลีกทางรถพยาบาลฉุกเฉินโดน 3 คะแนน

เมื่อไหร่คะแนนถูกตัดทั้งหมดจะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ทันที

ไม่มีระบบปรับ ไม่ต้องยึดใบขับขี่ แค่โชว์มือถือก็เสร็จกระบวนการตัดแต้ม

อยากได้แต้มคืนต้องเข้าอบรมที่ต้องมีค่าใช้จ่าย

สิ่งที่ต้องติดตามคือ เมื่อไม่มีการลงโทษเป็นค่าปรับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปปฏิบัติ จะออกแบบอย่างไร ไม่ให้เกิดการใช้ดุลพินิจหรือใช้ให้น้อยที่สุด ป้องกันการเรียกรับค่าอำนวยความสะดวกไม่ต้อง “ตัดแต้ม”

นอกจากนั้นยังนำระบบสั่งห้ามการใช้รถมาใช้ ไม่ต้องยึดใบขับขี่ เป็นมาตรการที่สอดคล้องกับใบขับขี่ดิจิทัล เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพบผู้ขับขี่มีอาการมึนเมา เสี่ยงจะเกิดอันตรายกับผู้ใช้ทาง หรือชาวบ้าน จะให้สิทธิเจ้าหน้าที่ระงับการใช้รถของบุคคลดังกล่าวเป็นการชั่วคราว

เมื่อพฤติกรรมเสี่ยงพ้นจากภาวะอาจก่ออันตราย เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปล่อยให้ใช้รถต่อไปได้

ต้องบอกว่า เห็นด้วยกับความพยายามนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อป้องปรามปัญหาการจราจร หรือลดอุบัติเหตุจากกลุ่มที่ชอบแหวกกฎจราจร

เช่นเดียวกับการผลักดันของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ได้มีมติออกมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ที่มีการเก็บสถิติพบว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด ต้นเหตุสำคัญมาจากเมาแล้วขับ

จึงมีมตินำร่องให้วันที่ 13 เมษายน งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย นำเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเคาะอีกครั้งในเดือนมีนาคม

แต่ที่อดคิดไม่ได้ก็คือ วันก่อนหน้าวันที่ 13 เมษายน ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะพุ่งปรี๊ดนะสิ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image