กอ.รมน.กับการบริหารการพัฒนา ด้านความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร : โดย พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส

ปัจจุบันภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงของประเทศชาตินั้น ประกอบไปด้วยสองส่วนใหญ่ๆ คือ 1)ภัยคุกคามรูปแบบเดิม (Traditional Security) เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ในปัญหาเขตแดนและการเกิดสงคราม 2)ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security) เช่นการก่อการร้าย การลักลอบขนอาวุธ/ค้ายาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้าสตรีและเด็ก ฯลฯ และสหประชาชาติได้จำแนกมิติของความมั่นคงของมนุษย์ออกเป็น 7 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ อาหาร สุขภาพ สภาพแวดล้อม ปัจเจกบุคคล ชุมชนและการเมือง ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องตามกฎหมายที่บัญญัติไว้
ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ได้กำหนดความหมายตามมาตรา 3 “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ ให้กลับสู่ภาวะปกติ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ กอ.รมน.สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็น “ผอ.รมน.”, ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน.และเสนาธิการทหารบกเป็นเลขาธิการ กอ.รมน. โดย กอ.รมน.เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1.ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

2.อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแผนและแนวทางนั้น

3.อำนวยการประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผน ในการปฏิบัติงานตาม (2) ในการนี้คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ กอ.รมน.มีอำนาจในการกำกับการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดด้วยก็ได้

Advertisement

4.เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ สร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อยของสังคม

5.ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือตามที่คณะรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

และในมาตรา 8 นอกจากมอบอำนาจตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ ผอ.รมน.ภาค (แม่ทัพภาค) ผอ.รมน.จังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) หรือผู้อำนวยการศูนย์ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติแทนก็ได้

ได้มีคำสั่ง กอ.รมน.ที่ 650/2559 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2559 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เรื่อง อัตราเฉพาะกิจ ศูนย์ประสานการปฏิบัติกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประจำปีงบประมาณ 2560 เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กอ.รมน.เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรทั้งในปัจจุบัน และอันอาจจะมีผลต่ออนาคตนั้น โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.รมน. พ.ศ.2551 มาตรา 3 มาตรา 7(5) และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 179/2552 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2552 จึงมีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติ (ศปป.) กอ.รมน. โดยกำหนดกรอบความรับผิดชอบเป็นกลุ่มงาน ดังนี้

1.ศปป.1 กอ.รมน.รับผิดชอบกลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงแห่งรัฐ

2.ศปป.2 กอ.รมน.รับผิดชอบกลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม

3.ศปป.3 กอ.รมน.รับผิดชอบกลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงแบบพิเศษ

4.ศปป.4 กอ.รมน.รับผิดชอบกลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร

5.ศปป.5 กอ.รมน.รับผิดชอบกลุ่มงานเสริมสร้างความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (จังหวัดชายแดนภาคใต้)

ศปป.4 กอ.รมน.มีภารกิจบูรณาการการวางแผน อำนวยการ ประสานการปฏิบัติและกำกับดูแลงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน อาหารและปัญหาอื่นๆ ที่ได้รับมอบในกรอบภารกิจ ตอบสนองภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของชาติในด้านนี้ โดยมีการจัดเป็น 5 ส่วนงาน คือ 1)ส่วนบังคับบัญชา 2)ส่วนแผนงานโครงการ งบประมาณและประเมินผล 3)ส่วนงานเสริมสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น ฝ่ายแผน ฝ่ายติดตามสถานการณ์ และฝ่ายประสานและปฏิบัติการ 4)ส่วนงานเสริมสร้างความมั่นคง ด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร โดยแบ่งส่วนย่อยออกเป็นสามฝ่ายเช่นกัน 5)ฝ่ายสนับสนุนโดยมีโครงสร้างอัตรารวมทั้งหมด 82 อัตรา กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบและหน้าที่ที่สำคัญ คือ

1.จัดทำแผนแนวทางปฏิบัติ และให้ข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

2.ติดตามตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มสถานการณ์ ในขอบเขตความรับผิดชอบที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร

3.อำนวยการ ประสานงานและเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบต่อประชาชน หรือรัฐ

4.เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษา และการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
ศปป.4 กอ.รมน.ปัจจุบันมี พลโท เรืองสิทธิ์ มิตรภานนท์ เป็นผู้อำนวยการ สามารถติดต่อแจ้งข่าวสารเพื่อช่วยกันพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร ได้ที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. (ศปป.4 กอ.รมน.) สวนรื่นฤดี ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร 0-2241-4896 โดยมีผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ยกตัวอย่างพอเป็นสังเขป 4 เหตุการณ์ ดังนี้

1.การแก้ปัญหาการครอบครองการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 เมื่อ 21 มิถุนายน 2561 คณะเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครอง การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่า ที่กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ในพื้นที่ อ.เขาค้อ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.และฝ่ายปกครองสนธิกำลังจำนวนกว่า 100 นาย เข้าปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายโดยปล่อยแถวกำลัง 5 ชุดปฏิบัติการ เพื่อเข้าจับกุม 135 รีสอร์ตเป้าหมายในพื้นที่ 4 ตำบล คือ ต.เขาค้อ ต.สะเดาะพง ต.หนองแม่น้ำ และ ต.ริมสีม่วง

2.เมื่อ 11 ธันวาคม 2561 กรมป่าไม้ได้ร่วมงานสรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2561 และแถลงแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2562 ของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4 กอ.รมน.) โดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ นำเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพรร่วมงานสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 และแถลงการปฏิบัติงานประจำปี 2562 ของ ศปป.4 กอ.รมน. ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานความคืบหน้าให้กับนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับทราบ โดยที่ผ่านมากรมป่าไม้และ ศปป.4 กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมบูรณาการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพลที่มีพฤติกรรมบุกรุกพื้นที่ป่า และขบวนการลักลอบค้าไม้ข้ามชาติ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้เป็นจำนวนมากในช่วงพฤศจิกายน 2561
เช่น กลุ่มนายทุนบุกรุกครอบครองป่าสาธารณะ บ้านห้วยน้ำ จ.ระยอง กว่าพันไร่ ขยายผลแก๊งปลอมใบ สป.15 ลักลอบสวมไม้เถื่อนส่งขายต่างประเทศ เปิดเบื้องลึกขบวนการฟอกไม้เถื่อนส่งขายต่างประเทศ เสียหายนับร้อยล้านบาท เป็นต้น

3.การปฏิบัติการของ ศปป.4 กอ.รมน.จะปฏิบัติงานร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อ 19 ธันวาคม 2561 นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ และพันเอก พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. ได้บูรณาการหน่วยงานนำกำลังเจ้าหน้าที่ ชุดพยัคฆ์ไพร, ตำรวจ บก.ปทส., เจ้าหน้าที่ป่าไม้, กอ.รมน.จังหวัดระยอง ที่ดินจังหวัดระยอง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาห้วยมะหาด ป่าเขานั่งยอง และป่าเขาครอก ท้องที่ตำบลห้วยป่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านพบการบุกรุกตัดไม้ประดู่เขตเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 1 ต้น และพบมีการขึงเชือก พ่นสี จองต้นไม้เพื่อรอการตัดอีกจำนวนกว่า 1,000 ต้น โดยอ้างเอกสารสิทธิ ส.ค.1 จำนวน 5 แปลง มาแสดงเพื่อที่จะตัดไม้ประดู่ออกไป โดย หน.ชป.ศปป.4 กอ.รมน.ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กำชับให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยให้ตรวจสอบการขออนุญาตตั้งโรงงาน การปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายโดยเคร่งครัด และเมื่อเอกสารสิทธิที่ดินถูกเพิกถอนแล้วต้องเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการทันที

4.ศปป.4 กอ.รมน.ร่วมกับ ศปก.พป. นำโดย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการฯ บูรณาการหน่วยงานทั้งกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนที่บุกรุกป่าโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัย ลุ่มน้ำก้อ ลุ่มน้ำชุบ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ โดยดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 9-22 มกราคม 2562 ถึง จับกุมนายทุน 8 ราย ยึดคืนพื้นที่ป่าได้จำนวน 685 ไร่

พร้อมเดินหน้าต่อ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการกับนายทุนผู้บุกรุกป่าอย่างเคร่งครัด และช่วยเหลือดูแลผู้ยากไร้ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน

สําหรับในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดด้วยนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2562 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม มอบของขวัญและอวยพรปีใหม่ 2562 ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี โดยมอบเงินสินไหมทดแทนแก่ทายาทที่เสียชีวิตจากการทำร้ายของช้างป่า จำนวน 3 ราย เป็นเงิน 650,000 บาท มอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย เป็นเงิน 400,000 บาท มอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ จำนวน 3 ราย เป็นเงิน 15,000 บาท ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติและปลูกต้นไม้ พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ 2562 จำนวน 10 หน่วย รวมทั้งสิ้น 1,600 คน เช่น กกล.บูรพา (ในนามหน่วย กอ.รมน.ภาค 1 ส่วนแยก 1) กองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรี-ตราด ของ ทร. กรมทหารพรานที่ 13 และหน่วยงานของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ โดยมีกรมทางหลวงชนบทและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) ได้ช่วยกันสร้างทางและคูกั้นช้างด้วย

จะเห็นได้ว่าการบริหารการพัฒนาด้านความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร นอกจาก ศปป.4 กอ.รมน.จะรับผิดชอบโดยตรงแล้ว ยังมีมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ในพื้นที่ของ กอ.รมน.ภาค 1 (ภาคกลาง) เป็นฝ่ายช่วยดูแลและสนับสนุนด้วย ถ้า กอ.รมน.ภาค 2 (อีสาน), ภาค 3 (เหนือ), ภาค 4 (ใต้) จะมีมูลนิธิ สมาคม เป็นชมรม ฯลฯ ช่วยดูแลและสนับสนุนด้วย ก็จะช่วยให้การปฏิบัติงานด้านทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ของประเทศไทยได้ผลสำเร็จดี
ยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image