ความแปลกของรัฐธรรมนูญไทย

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดโครงสร้างการบริหารประเทศอันประกอบด้วยอำนาจอธิปไตย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งภาพรวมหรือปรัชญาของรัฐธรรมนูญก็คือบทบัญญัติที่รองรับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่จะเป็นพื้นฐานให้การตรากฎหมายต้องสอดคล้องหรือไม่ขัดต่อปรัชญาพื้นฐานนี้

รัฐธรรมนูญของต่างประเทศก็มีปรัชญาพื้นฐานนี้เช่นกัน แต่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยอาจมีลักษณะเฉพาะของแต่ละฉบับซึ่งถือเป็น ความแปลก ได้แก่ ชื่อของรัฐธรรมนูญ เนื้อหาสาระ และบทบัญญัติที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ ดังนี้

ความแปลกประการแรก คือ ชื่อและการได้มาของรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ชื่อรัฐธรรมนูญใช้เป็น พระราชบัญญัติ การได้มาโดยพระมหากษัตริย์และคณะราษฎรร่วมกัน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จึงถือว่าอำนาจก่อตั้งระบอบและองค์กรทางการเมืองเป็นของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่มาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความแปลกประการที่สอง คือ วันที่ระลึกการมีรัฐธรรมนูญหรือ วันรัฐธรรมนูญ กำหนดเป็น วันที่ 10 ธันวาคม อันเป็นวันประกาศรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง แต่ถือเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มายาวนาน 13 ปี 5 เดือน มีการเลือกตั้งทั่วไป 4 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรี 9 คน และ มีรัฐบาล 15 ชุด

Advertisement

ความแปลกประการที่สาม คือ รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนนามประเทศ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482 มี 3 มาตรา ความสำคัญอยู่ในมาตรา 3 “นามประเทศนี้ให้เรียกว่า ประเทศไทย และบทแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า สยาม ให้ใช้คำว่า ไทย แทน” เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเษกษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2482 และมาตรา 2 ให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ประมวลสาระได้ว่าก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2482 ประเทศของเราเรียกว่า “สยาม” นับแต่วันดังกล่าว จึงใช้คำว่า “ประเทศไทย” มาถึงปัจจุบันนี้

Advertisement

ความแปลกประการที่สี่ คือ รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการทำรัฐประหาร โดยคณะรัฐประหารได้วางแผนร่างรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า แล้วซ่อนไว้ใต้ตุ่มแดง เพราะเกรงว่าอาจยึดอำนาจไม่สำเร็จจะได้ไม่มีหลักฐาน และถ้ายึดอำนาจสำเร็จจะได้นำมาประกาศใช้ได้ทันที ปรากฏว่า ยึดอำนาจสำเร็จและใช้รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มมา 1 ปี 4 เดือน 13 วัน มีนายกรัฐมนตรี 2 คน และมีรัฐบาล 3 ชุด

ความแปลกประการที่ห้า คือ รัฐธรรมนูญที่ใช้คำว่า “ธรรมนูญการปกครอง เป็นรัฐธรรมนูญ ที่เกิดจากการทำรัฐประหาร ได้แก่ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ธรรมนูญการปกครองนี้เป็นการใช้เพียงชั่วคราวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป ภายหลังไม่มีการใช้คำนี้แต่ใช้คำว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)

ความแปลกประการที่หก คือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พุทธศักราช 2560 ที่มีความแปลกในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 250 คน การนับคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ รวมถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกที่ไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันอาจนำมาถึงความแปลกใหม่อีกหลายประการที่ควรติดตามกันต่อไป

อนึ่ง ความแปลกอีกประการหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของรัฐธรรมนูญ คือ การใช้ชื่อรัฐธรรมนูญเมื่อแรกประกาศ ให้ใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ถ้ามีการแก้ไขจึงระบุฉบับและมีที่แก้ไข และการระบุปีให้ใช้คำเต็ม คือ “พุทธศักราช” ไม่ใช้คำย่อ “พ.ศ.” เหมือนกฎหมายอื่นๆ ทั่วไป

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image