การเมืองใหม่หนักแผ่นดิน? รัฐพันลึก สังคมพันลึก : โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

ผู้เขียนมีข้อสังเกตหลายประเด็นเรื่องการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.2562 ประเด็นแรกคือ ลักษณะของการแข่งขันทางการเมืองในครั้งนี้ ประเด็นที่สอง การแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นถึงวันนี้ (4 มี.ค.2562) บอกอะไรได้ไหมเกี่ยวกับสังคมไทย ปัญหาทางการเมืองหรือวัฒนธรรมการเมืองไทย

ในประเด็นแรก ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งในเชิงกลยุทธ์จะมีความสำคัญมาก ความสำคัญของนโยบายอาจเป็นเรื่องรอง แม้เราจะไม่มีการเลือกตั้งหลังจากความขัดแย้งทางการเมืองมาเกือบ 6 ปีแล้วก็ตาม ความคิดรวบยอดอาจสรุปได้ว่า การเมืองที่แบ่งขั้วเป็นเสื้อสี หรือวาทกรรมเอาทักษิณกับไม่เอาทักษิณ หรือในปัจจุบัน การแบ่งขั้วเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายที่จะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ (พรรคเพื่อไทยและเครือข่าย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย) กับฝ่ายสืบทอดอำนาจหรือมักถูกเรียกว่าเป็นฝ่ายเผด็จการ (พรรคพลังประชารัฐ พรรค รปช. ของคุณสุเทพ รวมถึงพรรคขนาดเล็กอื่นๆ)

และที่สำคัญ มีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะถูกรวมกับฝ่ายสืบทอดอำนาจ เพราะโอกาสที่พรรคนี้จะจับมือกับพรรคเพื่อไทย มีความเป็นไปได้น้อยมาก ด้วยเหตุนี้ฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่จัดให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยทั้งๆ ที่คุณอภิสิทธิ์พูดเสมอว่าพรรคของเขา Democrat เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม พรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคของคุณสุเทพ จะมีฐานคะแนนอยู่ในกลุ่มเดียวกันค่อนข้างมาก ผู้ออกเสียงที่เลือกกลุ่มนี้จะมีตั้งแต่กลุ่มที่เกลียดหรือไม่เอาทักษิณค่อนข้างรุนแรง ถ้าไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์และในทางกลับกัน ผู้ออกเสียงในกลุ่มนี้ ที่ไม่ได้เกลียดหรือรับพรรคของทักษิณไม่ได้แต่ไม่ชอบพรรคของคุณสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตยด้วยการล้มการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจนทำให้เกิดการรัฐประหารในปี 2557 มีความเป็นไปได้ที่คนกลุ่มนี้อาจจะมาเลือกฝ่ายประชาธิปไตย

แน่นอนว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่ที่ไม่จัดตัวเองว่าอยู่ในขั้วใด แต่จะดูประเด็นเชิงนโยบายเป็นเรื่องๆ เช่นวันนี้เอง คุณสุชาติ สวัสดิศรี ผู้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ บอกแก่สาธารณชนว่าครอบครัวรวมสามคนจะไปออกเสียงเลือกพรรคอนาคตใหม่ เมื่อได้ฟังการดีเบตเมื่อคืนที่ผ่านมาเพราะพรรคนี้จะทำหนึ่งในสามสัญญาคือ จะแก้มาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลิกคำสั่งกฎหมายต่างๆ ของ คสช. ที่ขัดกับหลักเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งคุณสุชาติอยากเห็นการนิรโทษกรรม “นักโทษที่เป็นนักคิด” ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ จึงทำให้ตัดสินใจเลือกพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่พูดเรื่องนี้

Advertisement

บางคนอาจสนใจเลือกพรรคภูมิใจไทยเพราะอยากเห็นกัญชาเสรีเกิดขึ้นในประเทศไทย นักศึกษาบางคนเลือกพรรคเพื่อชาติเมื่อได้ฟังคุณจตุพรบอกว่า จะเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรีให้เป็นหนึ่งหมื่นแปดพันบาท อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า อย่างน้อยสองในสามของผู้ออกเสียงน่าจะอยู่ในกลุ่มขั้วการเมือง หรือการเมืองแบบเลือกข้างซึ่งลึกๆ แล้ว ความแตกต่างทางด้านนโยบายเป็นเรื่องรอง แต่กระนั้นก็ตาม ในบริบทข้างต้นนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ก็พยายามจะขายนโยบายของพรรคตนเองให้ต่างจากพรรคอื่น แต่ผู้เขียนคิดว่า นโยบายที่ออกมาจากพรรคเก่าแก่ไม่มีอะไรที่ต่างกันมากมาย แต่มีพรรคการเมืองใหม่คือพรรคอนาคตใหม่ พยายามแสดงจุดต่างในการทำการเมืองใหม่ และกล้าเสนอวาระทางสังคมที่ก้าวหน้าท้าทายต่อกลุ่มอำนาจจารีต

ประเด็นที่สอง การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้เขียนคิดว่า ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ การเลือกตั้งคงจะไม่มีความตื่นเต้น สนุก และมีสีสันเหมือนที่เกิดขึ้น เป็นการเมืองใหม่ที่เน้นเจาะฐานเสียงคนรุ่นใหม่ อายุ 18-25 ปี ซึ่งมีอยู่ 8.3 ล้านเสียงเลือกตั้งครั้งแรก จากพรรคที่ตอนแรกๆ คนส่วนใหญ่คิดว่าคงเป็นพรรคต่ำสิบหรือยี่สิบ เวลานี้ดูจะไม่ใช่แล้ว เป้าหมายของการเป็นพรรคมวลชน เป็นพรรคหลักไม่ใช่พรรคเล็ก ทำท่าจะไปได้ถึงแล้ว ส่ง ส.ส. (ซึ่งเป็นคนธรรมดาไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง) ครบทุกจังหวัด 350 เขต และดูได้จากการเติบโตของพรรคอย่างรวดเร็วทั้งด้านสมาชิก การระดมทุนที่ไม่ได้เน้นการระดมทุนจากทุนใหญ่แบบเลี้ยงโต๊ะจีนของพรรค พล.อ.ประยุทธ์ แต่ระดมจากสมาชิกเพียงคนละร้อยบาท การบริจาค รวมทั้งการขายของ ซึ่งภายหลังถูกห้ามกระทำ ความนิยมของพรรคและหัวหน้าพรรคชัดเจนมากตั้งแต่แรกๆ อยู่อันดับสามหรือสี่เป็นเวลานาน จากโพลทุกๆ สำนัก บางครั้งชนะแม้กระทั่งคุณอภิสิทธิ์และรักษาความนิยมให้อยู่ในระดับร้อยละสิบบวกลบได้เป็นเวลานานจนถึงวันนี้ อีกจุดเด่นของพรรคนี้ นอกจากคุณภาพคับแก้วของผู้นำอย่างธนาธร-ปิยบุตร หรือโฆษกพรรคพรรณิการ์ วานิช ซึ่งข่มรัศมีคนของพรรคใหญ่ๆ มาแล้วเกือบทั้งนั้นในเวทีดีเบต ที่สำคัญด้วยเช่นกัน เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ของพรรคด้านนโยบายบอกถึงความเป็นมืออาชีพ เอาจริงเอาจัง ที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดในระดับประเด็นหรือ sector (ยังไม่พูดถึงประเด็นภาพใหญ่เรื่องปัญหาโครงสร้าง) คือการปฏิวัติการศึกษา (กุลธิดา) และการปฏิรูปกองทัพ (พลโทพงศกร) แรงงาน (วรรณวิภา) เกษตรก้าวหน้า (พิธา) ซึ่งเด่นกว่าพรรคเก่าแก่ทั้งหลายที่มีอยู่ นอกจากนั้นที่มีสีสันมากคือว่าที่สิบรัฐมนตรีของพรรค ตั้งแต่เกษตร การศึกษา ถึงกลาโหม ประกาศให้รู้กันเลยแต่เนิ่นๆ ก็เห็นจะได้แก่ตัวแทนแรงงาน คนธรรมดา (วรรณวิภา) อยู่ในอันดับสามของบัญชีรายชื่อ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นได้จากการมีตัวแทนของเพศทางเลือก LGBT เข้าไปนั่งในสภาแน่ๆ เพราะอยู่ในบัญชีรายชื่อสิบอันดับแรก (ธัญญวาริน) ทั้งหลายทั้งปวงนี้บอกถึงความสามารถที่สูงในด้านการบริหารจัดการหรือ Organizational Skills ของผู้นำและทีมคณะทำงาน ยังไม่พูดถึงการหาเสียงทั้ง 77 จังหวัด

แต่อะไรที่ทำให้การเติบโตของพรรคอนาคตใหม่ในเวลาอันสั้นกลายเป็นภัยคุกคามแก่พลังอำนาจเก่าในสังคมไทยจนถึงกับคู่ต่อสู้ทางการเมืองจากพรรคอื่นบอกว่านี่เป็นตัวร้ายใหม่ในสังคมไทย อันตรายกว่าทักษิณ

Advertisement

ในเวทีดีเบตเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาธรบอกผู้ฟังว่าศัตรูของพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่คู่แข่งซึ่งเป็นพรรคการเมืองแต่เป็นทหารที่ยึดอำนาจ ทุนผูกขาดและรัฐราชการรวมศูนย์ ธนาธร-ปิยบุตร เน้นอยู่เสมอว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการทำงานการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นสถาบันที่ถาวร นโยบายของพรรคและอุดมการณ์นั้นสำคัญ แต่ทั้ง 2 คนซึ่งมีความเป็นปัญญาชนทางด้านความคิดสูงกว่านักการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด เน้นว่าการปักธงความคิดคือหัวใจของการเลือกตั้งครั้งนี้ แก่นของความคิดหลักๆ คืออะไร แนวความคิดหลักของ ธนาธร-ปิยบุตร คือความคิดที่ว่าประเทศไทยล้าหลังความเหลื่อมล้ำสูงไม่สามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางเพราะปัจจัยและประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างต่อเนื่อง เพราะอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทหารมาเป็นเวลายาวนาน โครงสร้างอำนาจของประเทศกระจุกและผูกขาดอยู่ที่เครือข่ายของรัฐ ข้าราชการชั้นสูง นายทหาร การเมืองและทุนผูกขาด ประเทศจะเจริญได้ประชาชนต้องใช้ศักยภาพของคนไทยได้อย่างเต็มที่ซึ่งจะต้องมาจากอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชน ซึ่งก็คือการมีประชาธิปไตย หลุดพ้นจากระบบการปกครองการเมืองที่เป็นระบบอุปถัมภ์มายาวนาน วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งกดทับความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่งมาเป็นความสัมพันธ์เชิงแนวนอน คนต้องเท่าเทียมกันซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเท่าทันโลก ทหารการเมืองเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของการเมืองไทยมากกว่าเป็นคำตอบหรือทางออก

ในทรรศนะของผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่าวิธีคิดวิธีการนำเสนอภาษาที่ใช้หรือจะเรียกว่าวาทกรรมของ ธนาธร-ปิยบุตร หรือของพรรคอนาคตใหม่ มองในเชิงวิชาการแล้วเป็นวิถีทัศน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองโครงสร้าง ไม่มีอะไรที่บอกถึงว่ามันจำเป็นจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมถึงในระดับที่เป็นการปฏิวัติ ไม่มีอะไรที่บอกถึงว่ามันเป็นการถอนรากถอนโคน ไม่มีอะไรที่บอกถึงว่ามันจะต้องนำมาซึ่งความรุนแรงเพราะเส้นทางเดินของพรรคอนาคตใหม่ชูธงความสำคัญของระบบรัฐสภา ประเด็นสำคัญอยู่ที่อำนาจของประชาชนซึ่งควรจะต้องเป็นใหญ่กว่าอำนาจใดๆ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีเครื่องชี้หรือเนื้อหาใดๆ ที่บอกว่ามันเป็นกระบวนการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเนียนๆ แบบที่ หม่อมเจ้า ชนชั้นนำ นักการเมืองบางพรรคกล่าวหา

ปฏิกิริยาของฝ่ายตรงข้ามที่โจมตีธนาธรทั้งหมดบอกถึงระดับความตื้นเขินของการอภิปรายการโต้แย้งในประเด็น “ชุดของความจริง” สะท้อนออกมาให้เห็นจากการกล่าวหาที่ปราศจากน้ำหนักในเชิงเนื้อหา หลักฐานและวิชาการ วิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้มาตลอดคือการอ้างถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บ่อนทำลาย เป็นเรื่องตลกสิ้นดีว่าข้อเสนอ เช่น การปฏิรูปกองทัพเพื่อให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า การสถาปนาอำนาจพลเรือนเหนือกองทัพ การลดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯและเพิ่มในต่างจังหวัด ล้วนเป็นสิ่งที่สังคมสมัยใหม่ ประเทศที่เจริญแล้วเขามีกันทั้งนั้นมันเสียหายตรงไหน

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะมองการต่อสู้ทางความคิดในการแข่งขันทางการเมืองครั้งนี้ระหว่างพรรคอนาคตใหม่ภายใต้การนำของ ธนาธร-ปิยบุตร กับฝ่ายปฏิปักษ์ได้ในหลายๆ มิติตั้งแต่ระหว่างเสรีนิยมปีกซ้ายกับฝ่ายอนุรักษ์หรือจารีตนิยมซึ่งมุ่งทำลายพรรคอนาคตใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ จำนวนมากเป็นการสาดโคลนใส่ร้ายป้ายสีดีๆ นี้เอง

หรืออาจจะมองว่าเป็นความต่อเนื่องของการปะทะกันระหว่างรัฐพันลึก (Eugenie Merieau หรือ นิธิ ผาสุก) กับสังคมพันลึก (เกษียร)

รัฐเป็นอะไรที่มีขอบเขตและอำนาจมากกว่ารัฐบาล เช่นรวมถึงตำรวจ ทหาร ระบบยุติธรรม ศาล รัฐที่เรารู้และมองเห็นจึงเป็นรัฐที่เป็นทางการ แต่รัฐพันลึกเป็นอะไรที่ไม่เป็นทางการมองไม่เห็น ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย มีลักษณะเป็นรัฐซ้อนรัฐ ปรากฏการณ์โจมตี ธนาธร-ปิยบุตร เมื่อพรรคอนาคตใหม่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับคือหนังม้วนเก่า เหล้าเก่าในขวดใบใหม่ที่รัฐพันลึกพยายามทำลายฝ่ายที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้ยั่งยืนในสังคมไทย จะขอยืมคำอธิบายของ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เรื่อง deep state

“(รัฐพันลึก)… เป็นอิสระ มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลำดับชั้นของตนเอง ขนานไปกับรัฐปกติ รัฐพันลึกมีกลไกรัฐทำงานด้านอุดมการณ์เพื่อสร้างวาทกรรมว่าด้วยประชาธิปไตยอันถึงปรารถนา ที่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐพันลึก… การสร้างและจัดวางความคิดเห็น ทัศนคติสาธารณะ โดยใช้วิธีการต่างๆ รวมทั้งการสร้างสถานการณ์วิกฤต และภาวะฉุกเฉินเพื่อความมั่นคงของชาติ”

“แนวคิดรัฐพันลึก มักถูกใช้อธิบายกลุ่มอำนาจที่ร่วมกันต่อต้านขบวนการประชาธิปไตย หรือการเมืองเปิดที่ประชาชนในวงกว้างมีส่วนร่วมสูง มักประกอบด้วยกลุ่มทหาร ตำรวจ ตุลาการ ที่มีตำแหน่งหน้าที่บริหารราชการในรัฐปกติอยู่แล้ว แต่ยังร่วมทำกิจกรรมแอบแฝงที่มีอำนาจเหนือรัฐปกติ โดยกระทำการแบบไม่เปิดเผย หรือทำแบบลับๆ รัฐพันลึกสามารถสร้างสถานการณ์ เพื่อสั่นคลอนรัฐปกติ หรือเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร ล้มล้างรัฐปกติ”

ขณะเดียวกัน เกษียร เตชะพีระ มองสังคมพันลึก (deep society) เป็นคู่ประกบประชันต่อสู้ขัดแย้งทัดทานกับรัฐพันลึกมายาวนาน ทั้งก่อนและหลัง 2475 ตั้งแต่ อ.ปรีดี พนมยงค์ เรื่อยมา ความคิดของ ธนาธร-ปิยบุตร และวาระที่ก้าวหน้าทางสังคมของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่องเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ตั้งแต่ เช่น งานของ สุภา สิริมานนท์ ทวีป วรดิลก คนเดือนตุลาคม คนเดือนพฤษภาคม 2535 กระบวนการสมัชชาคนจน นปช.เสื้อแดง คณะนิติราษฎร์ (หรือแม้กระทั่งการก่อตั้งนิตยสารฟ้าเดียวกัน) ฯลฯ ขอยกคำอธิบายของ เกษียร เรื่องสังคมพันลึก “คือพลังสั่งสมตกทอดเหมือนเนื้อนาบุญในสังคมการเมืองวัฒนธรรมไทยจากการต่อสู้สิทธิเสรีไทยจากภารกิจก้าวหน้าในอดีต มันหยั่งยึดรากลึกอยู่ในสังคม เมื่ออยู่ภายใต้ระเบียบอำนาจที่กฎปราบ สังคมพันลึกก็ลงลึกเพื่ออยู่รอดคอยรักษาสายใยเครือข่าย ความเชื่อเพื่อรอโอกาสร่วมกันทำตามที่เชื่อและผลักดันบ้านเมืองต่อไป”

แต่กระบวนการของพรรคอนาคตใหม่ในการออกมาในที่แจ้งอย่างสง่าผ่าเผยกำลังชิงความได้เปรียบ รัฐพันลึกเพราะการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่และความก้าวหน้าของโซเชียลมีเดียและโลกแห่งอนาคตของศตวรรษที่ 21 รอดูผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ว่าคนไทยจะชอบฝ่ายใดมากกว่า “ประชาธิปไตยหรือเผด็จการสืบทอดอำนาจ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image