ต่อยอด หรือสืบทอดอำนาจก็ครื้อกั๋น : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

การเลือกตั้งครั้งนี้มีเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นพัฒนาการของการหาเสียงผ่านจอโทรทัศน์ในรายการ “ดีเบต” ของหลายช่องที่นำบุคคลสำคัญของแต่ละพรรคการเมืองมาเสนอนโยบาย แนวทาง ความคิดเรื่องที่พรรคจะนำไปปฏิบัติหากได้เป็นรัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้เป็นเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ ทีวี ที่จัด “ดีเบต” ด้วยเวลาไม่ยาวนัก ให้หัวหน้าพรรค และบุคคลสำคัญในพรรคมาพูดกับคนฟังด้วยแนวทางความคิดสั้นๆ เช่นสิ่งที่ต้องทำทันทีตามสัญญา 3 ข้อ เป็นต้น

ความสำคัญของการ “ดีเบต” ไม่ใช่การโต้ตอบหรือถกเถียง หรือใช้คารมเข้าต่อกรลับฝีปาก ปะทะคารม ซึ่งกันและกัน หากแต่เป็นการแสดงทรรศนะ ความคิดเห็น ในสิ่งที่พรรคจะปฏิบัติ จะทำในเรื่องที่เป็นไปได้

แนวทางความคิดนี้ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนซึ่งเสนอข่าวสารการเมืองเป็นหลักพยายามนำเสนอเป็นเจ้าแรกด้วยการนำหัวหน้าพรรคและบุคคลในพรรคจำนวนหนึ่งมาขึ้นเวทีพูดจาปราศรัยเพื่อให้ผู้ฟังจำนวนหนึ่งได้รับฟัง ทั้งจะได้นำเรื่องที่พรรคการเมืองนั้นพูดจาปราศรัย เป็นสัญญาประชาคมนำไปเผยแพร่ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งมีอยู่มากถึง 4 ฉบับ

Advertisement

แต่เมื่อถึงกำหนดจัด เพื่อความรอบคอบได้หารือไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลัง หรือมีปัญหาอะไรที่จะเป็นอุปสรรคหรือไม่

ได้รับคำตอบว่า ทำได้ เพียงแต่หากมีผู้สมัคร หรือหัวหน้าพรรคอื่นที่ไม่ได้รับเชิญร้องเรียนขึ้นมาถึงความไม่เท่าเทียม อาจจะเป็นปัญหาภายหลัง

กองบรรณาธิการมติชนจึงปรับเปลี่ยนความคิดที่จะนำหัวหน้าพรรค ผู้นำพรรคมาเป็นนักวิชาการ นักคิดนักวิจารณ์ทางการเมือง มาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนำความคิดเห็นและเสียงวิจารณ์นั้นนำเสนอผ่านสื่อของมติชนซึ่งมีมากถึง 4 ฉบับ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ทราบก่อนใคร

Advertisement

ในที่สุด รายการโทรทัศน์หลายช่องหลายรายการได้นำแนวทางความคิดนี้ไปเสนอให้หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้นำพรรคการเมืองมา “ดีเบต” แม้ไม่ครบทุกพรรค กลับไม่มีเสียงเรียกร้องจากพรรคเล็กขึ้นมาเป็นปัญหาแต่ประการใด

อันที่จริง การนำเสนอหัวหน้าพรรคการเมือง ผู้นำพรรคการเมืองมาพูดจาปราศรัยให้ผู้ฟังและนำเนื้อหาสาระมาเสนอผ่านสื่ออีกต่อหนึ่ง เป็นการเผยแพร่แนวทางนโยบายของพรรคการเมือง แม้ไม่ทุกพรรค เป็นสิทธิของสื่อมวลชนจะเลือกว่าควรนำใคร พรรคการเมืองใด ที่ประชาชนสนใจมาให้แนวทางนโยบาย และความคิดเห็นได้โดยอิสระอยู่แล้ว ทั้งแม้พรรคการเมืองอื่นที่ต้องการนำเสนอนโยบายบ้าง โดยให้สื่อมวลชนนั้นดำเนินการจัดการ อาจไม่ได้ตามต้องการ

เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นอาจไม่เห็นด้วยว่า พรรคการเมืองนั้นจะมีโอกาสได้รับเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด และแนวนโยบายเป็นที่สนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

ทั้งนี้ ย่อมเป็นสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน เช่นเดียวกับประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการฟังหรือต้องการทราบนโยบาย หรือต้องการพบกับนักการเมืองคนนั้นหรือไม่

กรณีเช่นนี้ ขณะนี้จะเห็นได้ว่า สื่อมวลชน โดยเฉพาะในรายการโทรทัศน์พยายามจัดบุคคลเช่นนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มา “ดีเบต” กับผู้มีรายชื่อรับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้รับฟังและมีโอกาสเลือกด้วยเสรีภาพ

แต่เป็นเพราะ ณ วันนี้ รัฐธรรมนูญก็ดี กฎระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ดี เป็นอุปสรรคกับกรณีเช่นนี้ ทั้งที่เป็นไปโดยระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้มีโอกาสเลือกผู้นำรัฐบาลของเขาด้วยวิจารณญาณของตนเอง

ไม่ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบอกว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการต่อยอดการบริหาร งานในหน้าที่รัฐบาล ถึงอย่างไรย่อมหมายความว่าต้องการอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อ ว่างั้นเถอะ จริงหรือไม่จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image