เด็กหลังห้อง

กรณีกลุ่มเยาวชนบุกทำร้ายผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เนื่องจากไม่พอใจที่คณะครูขอร้องให้งดใช้เสียงแห่นาคงานบวช เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนสมาธิของนักเรียนขณะสอบวัดผลระดับประเทศ PAT2 และ PAT5 ที่ผ่านมานั้น กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคม เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ประณามการกระทำของกลุ่มเยาวชน ท้ายที่สุดพฤติกรรมรุนแรงนี้จะถูกจัดการด้วยกลไกกระบวนการยุติธรรม ผู้กระทำผิดต้องได้รับการลงโทษ เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวสะท้อนถึงกระบวนการหล่อหลอมเด็กและเยาวชนที่ขาดสมดุลและไม่ยั่งยืน ด้วยกรอบความคิดแบบติด fixed mindset ที่มุ่งส่งเสริมเด็กแถวหน้าของห้อง 2-3 แถวที่เรียนดี ละเลยเด็กหลังห้องที่เกเร พฤติกรรมเสี่ยง ไม่ตั้งใจเรียน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความรุนแรง เมาสุรา ลวนลามนักเรียนหญิง จากกลุ่มเยาวชนที่ไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา ขัดขวางอนาคตทางการศึกษาของเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งๆ ที่เยาวชนกลุ่มนี้บางคนต้องนั่งอยู่ในห้องสอบนั้นด้วยซ้ำไป อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยออกกลางคัน เป็นผู้แพ้ หันหลังให้กับการศึกษา จนนำไปสู่กลุ่มแก๊งอันตรายที่พบเห็นอยู่ทั่วไป

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาคงต้องย้อนกลับมามองตนเองว่าสามารถจัดการศึกษาที่เข้าถึง ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มได้มากน้อยเพียงใด ทำไมเด็กและเยาวชนที่เคยอยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับถึงตัดสินใจไม่ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น แล้วยังคงเมยเฉยปล่อยให้เด็กเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาไปเรื่อยๆ

แล้วประเทศไทยจะยกระดับศักยภาพประเทศ ในมิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่สําคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพได้อย่างไร

โรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงเรียนต้นแบบของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนตามศักยภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำของรองผู้อำนวยการโรงเรียน นายสายทอง เขียวขำ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เข้าถึงเข้าใจ บริบทของนักเรียนในโรงเรียนเป็นอย่างดี ใช้ข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนเป็นประโยชน์ในการออกแบบการจัดการศึกษาที่น่าสนใจ

Advertisement

โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนมาจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ หย่าร้าง นักเรียนต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย และยังประเมินพฤติกรรมเสี่ยง จนพบว่านักเรียนส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติด

สำหรับข้อมูลของนักเรียนในกลุ่มเรียนดีของโรงเรียนพบว่า ยังขาดทักษะอาชีพและทักษะชีวิตจนนำไปสู่โจทย์การพัฒนานักเรียนที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และเติมศักยภาพทางวิชาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มเก่ง

กอปรกับการมีภาคีร่วมคิดที่สำคัญ คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เข้ามาหนุนเสริมทางวิชาการให้เกิดการพัฒนาสู่โรงเรียนสุขภาวะ ตลอดจนสร้างเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยบูรณาการแนวทางเรียนรู้ (Active Learning) ใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ทั้งการลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา เพื่อสร้างโรงเรียนสุขภาวะที่มีองค์ประกอบด้านความสุขครบทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ผู้เรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ชุมชนเป็นสุข และสภาพแวดล้อมเป็นสุข

Advertisement

ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะชีวิตผ่านการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กิจกรรมของโครงการมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มเด็กหลังห้องและกลุ่มเด็กแถวหน้าห้อง โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียน สร้างกิจกรรมทางวิชาชีพที่นักเรียนทั้งสองกลุ่มสนใจร่วมกัน เช่น เลี้ยงไก่ชน เลี้ยงหมู ปลูกสวนกล้วย เพาะต้นอ่อนทานตะวัน เป็นต้น

ผลจากการดำเนินโครงการสามารถช่วยเหลือกลุ่มเด็กหลังห้องที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งจากปัญหายาเสพติด มั่วสุม และพฤติกรรมไม่เหมาะสม เด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีอยู่ในโรงเรียนจาก 36 คน ได้ถึง 35 คน คิดเป็นร้อยละ 97.22 และเด็กกลุ่มนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก มีความตั้งใจ สนใจในการเรียน และมีความรับผิดชอบสูงขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มเด็กแถวหน้าห้องยังมีทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำเพิ่มขึ้น รวมทั้งเด็กทั้งสองกลุ่มยังเกิดสัมพันธไมตรีอันดี ทำงานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอีกด้วย

ในปีการศึกษาปัจจุบัน โรงเรียนยังคงดำเนินกระบวนการดูแลเด็กหลังห้องอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเติมกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายสินค้า การอบรมเพื่อสร้างอาชีพตัดผมชายและเสริมสวยหญิง เพื่อปรับให้ตรงกับความชอบ ความต้องการของนักเรียนแต่ละรุ่น

จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาที่สอดรับกับความต้องการของนักเรียน จะสามารถสร้างแรงขับจากภายในของนักเรียนได้ ฉุดรั้งให้นักเรียนที่กำลังจะตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาให้ยังคงอยู่ และเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหานักเรียนที่กำลังจะหลุดออกจากระบบได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การจัดการศึกษายังจำเป็นต้องเพิ่มทางเลือกในการศึกษาต่อให้แก่นักเรียนกลุ่มนี้อย่างหลากหลาย ไม่ใช่ติดกรอบแต่การศึกษาต่อในสายสามัญ สายอุดมศึกษาเท่านั้น ประเทศยังมีความต้องการกำลังคนสายวิชาชีพในระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา โดยสรุปผลความต้องการกำลังแรงงานของสถานประกอบการทั่วประเทศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ระบุว่า สถานประกอบการชั้นนำภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ มีความต้องการกำลังคนกว่า 300,000 อัตราในระยะ 1-3 ปี

ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ในช่วง 5 ข้างหน้าจำเป็นต้องมีการสร้างแรงงานในระดับอาชีวศึกษาทั้งปริมาณและคุณภาพถึง 1.99 ล้านคน เฉพาะอย่างยิ่งใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มสัดส่วนสายอาชีพและสามัญอยู่ที่ 50:50 ของรัฐบาล เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนโมเดลประเทศไทย 4.0 ได้

ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาคงไม่ใช่ในมิติของการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังต้องหมายรวมถึงการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่หลากหลาย และเหมาะสมกับธรรมชาติของนักเรียนทุกกลุ่มด้วย จึงจะทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง เพื่อให้การขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น อันดับแรกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาและคนในสังคมต้องเริ่มเปิดใจ ปรับกรอบแนวคิดเป็นแบบเติบโต (growth mindset) ให้โอกาสเด็กหลังห้องได้มีพื้นที่ เพิ่มโอกาสในการแสดงออกตามศักยภาพ และความถนัดของตน

ทั้งนี้ จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสง่างาม ลดการก่อพฤติกรรมความรุนแรงที่สร้างผลกระทบให้กับคนในสังคมอีกต่อไป

สุดท้ายนายสายทอง เขียวขำ ให้ข้อคิดสำคัญทางการศึกษาที่แหลมคมยิ่ง ทำไมครูสนใจให้ความสำคัญเด็กเก่งแถวหน้าไม่กี่คนที่สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนแต่ทอดทิ้งเด็กมีปัญหา เด็กหลังห้องจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เด็กเก่งต้องเรียนต่อสูงขึ้น ใช้ชีวิตในเมืองไม่กลับท้องถิ่นมากนัก ผิดกับเด็กหลังห้อง ถ้าเราดูแลให้ทักษะชีวิต อาชีพการงาน เด็กหลังห้องจะเป็นผู้นำชุมชน นายก อบต. ผู้ใหญ่บ้านดูแลและสร้างความเจริญให้ชุมชนต่อเนื่อง เด็กเก่งทอดกฐินได้เงินหลักร้อย แต่เด็กหลังห้องหาเงินได้เป็นแสน กว้างขวาง เป็นที่รู้จัก กตัญญูรู้คุณครู เอาใจใส่ปัญหาต่างๆ เพราะผ่านประสบการณ์มามาก

เราลองมาเปลี่ยน mindset รักและทุ่มเทเด็กหลังห้องจะดีกว่าไหม

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
กมลวรรณ พลับจีน

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image