ปรัชญาโรงเรียนคืออะไร

โรงเรียนในชุมชนเป็นหน่วยสำคัญของการสร้างพลเมืองให้ท้องถิ่น ขัดเกลาให้เป็นคนดี ถ่ายทอดวิถีชีวิต การเติบโตจากวัยเด็กเป็นเพื่อนวิ่งเล่นมาด้วยกันถึงแม้จะเติบโตแยกย้ายกันไปมีครอบครัว หน้าที่การงานแตกต่างกันแต่ความสัมพันธ์รักใคร่ผูกพันมีรากเหง้ามาด้วยกันยังทำให้ชุมชนแต่ละแห่งยังเข้มแข็งเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง มีจำนวนเด็กลดลงจนน่าตกใจเพราะอัตราการเกิดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นเกิดอุปาทานหมู่ว่าโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่หมู่บ้านด้อยคุณภาพ ขาดแคลนครู ใกล้ถูกยุบทิ้ง พ่อแม่ผู้ปกครองเกรงว่าลูกหลานจะไม่ฉลาด สู้คนอื่นไม่ได้ จึงนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนต่อในตัวเมือง คมนาคมสะดวก อันเป็นเหตุให้โรงเรียนประจำจังหวัดล้น ห้องเรียนเนืองแน่นด้วยจำนวนนักเรียน 40-50 คนต่อห้อง กระจายอยู่ตามโรงเรียนเอกชน ท้องถิ่น รัฐบาล จนเกิดระบบสอบเข้า แป๊ะเจี๊ยะ การกวดวิชาและอื่นๆ เด็กนักเรียนในแต่ละชุมชนจึงเติบโตเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองมากกว่าชนบท ไม่ได้วิ่งเล่นเติบโตด้วยกัน เวลาส่วนใหญ่จึงตื่นเช้า เรียนหนังสือ กลับบ้านมืดค่ำ เสาร์-อาทิตย์กวดวิชาเรียนพิเศษเพิ่มเติม เล่นเกม พักผ่อนตามห้างสรรพสินค้า เข้าวัดลดลง ความสัมพันธ์คล้ายหมู่บ้านจัดสรร ต่างคนต่างอยู่ ขาดการพึ่งพาช่วยเหลือกัน

จนสุดท้ายแทบไม่มีใครรู้สึกรักท้องถิ่นของตนเอง เพื่อนรักน้อย เด็กพร้อมจะเรียนต่อและค่อยๆ ถูกสังคมเมืองกลืนมากขึ้น ปัจจุบันชนบท ท้องถิ่นจึงอ่อนแอลงมีแต่ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ใหญ่เชิงเครือญาติห่างไกลกัน เสมือนรู้จักกันแต่ไม่พึ่งพากัน เริ่มมองผลประโยชน์ที่ตนเองควรจะได้รับมากขึ้นตามลำดับ อุปาทานหมู่ดังกล่าวกำลังทำลายโครงสร้างของสังคมไทยลงทีละเล็กทีละน้อย จนชุมชนอ่อนแอ ขาดการพึ่งพา ตัวใครตัวมันมากขึ้นทุกที

สิ่งที่คืบคลานเข้าสู่สังคมชนบทมากขึ้นคือเด็กและเยาวชนเริ่มมีภาวะเสี่ยงมากขึ้น วัยรุ่นชายติดเกม หัดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ลองยาเสพติด แต่งรถมอเตอร์ไซค์ เด็กแว้น สาวสก๊อย เที่ยวกลางคืน วัยรุ่นหญิงแต่งตัวเปิดเผยสรีระมากขึ้น เลียนแบบดารา ศัลยกรรม การตั้งครรภ์ในวัยใสเพิ่มจำนวนจนน่าตกใจ เรากำลังเจริญด้านวัตถุแต่คุณภาพพลเมืองด้อยลงและสุ่มเสี่ยงเป็นที่สุด โรงเรียนขนาดเล็กจึงแทบไม่ได้ทำหน้าที่ที่เหมาะสมได้ต่อไปเพราะแทบทุกแห่งใกล้ถูกยุบ ขวัญและกำลังใจกระเจิดกระเจิง

Advertisement

ในทางตรงกันข้ามที่ นายสิทธิชัย ซาวคำเขตร หรือ หนานบูม เจ้าหน้าที่มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย พร้อมกับเพื่อนๆ ชมรมรากดิน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองอย่างชัดเจน คนหนุ่มสาวเหล่านี้ตระหนักถึงความล่มสลายของหมู่บ้านและเด็กรุ่นใหม่ที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น ในชุมชนมีเด็กหัวโจก 5-7 คนแต่งรถอย่างมืออาชีพ ขับมอเตอร์ไซค์ส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน เด็กวัยรุ่นริสูบบุหรี่ ชวนเณรเข้าร่วมด้วย เด็กติดเกมเล่นหามรุ่งหามค่ำ ไม่พักผ่อน เสียการเรียนจนพ่อแม่เอือมระอา เด็กติดเน็ตดูคลิปโป๊วันละ 4-5 ชั่วโมง จนมีภาวะเสี่ยงการละเมิดทางเพศ เด็กว่างไม่มีอะไรจะทำมาร่วมกลุ่มกันทำกิจกรรมอันตรายที่มีสิ่งนำ ยั่วยุและกระตุ้นให้ลองทำด้วยกัน


หนานบูมนำเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กปกติ พี่เลี้ยงมาเปิดโรงเรียน “ระเบียงเรียนรู้” ไม่มีรั้ว ไม่มีฝาห้อง ห้องเรียนเปิดโล่ง เป็นชั้นเรียนแบบคละทั้งประถมและมัธยมจำนวน 20-25 คน บรรยากาศเป็นธรรมชาติ มีสวนป่าไม้สักลำธารเล็กๆ ไหลผ่าน เด็กเฝ้ารอโรงเรียนนี้แม้บ่อยครั้งจะเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ยอมทิ้งเกม รถมอเตอร์ไซค์ บุหรี่ ยาเสพติด มาโรงเรียนแต่เช้าเพื่อมาพบเพื่อนสนิทและพี่นักศึกษาที่เข้าใจ ร่วมกันเล่นเกมอย่างสนุกสนาน หัวเราะเป็นกันเอง มีจิตอาสากวาดลานโรงเรียนสวนป่าสัก เก็บขยะรอบๆ ลำธาร เรียนรู้บทเรียนที่มีการแบ่งกลุ่ม สื่อการสอนจากธรรมชาติ ร่วมตั้งคำถามและเรียนรู้ไปด้วยกันแบบพี่สอนน้องโดยมีพี่นักศึกษาเป็นนักกระบวนกร ช่วงบ่ายยิ่งตื่นเต้นน่าเรียนรู้

Advertisement

ท้าทายกับการลงมือปฏิบัติจากปราชญ์ชาวบ้านที่มาสอนวิชาสมุนไพรกว่า 40 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นใบยวนใต้มีสรรพคุณแก้หวัด ผีเสื้อน้อยแก้อาการปวดเหงือกปวดฟัน ใบมะขามช่วยบำรุงผิว หญ้ารีแพร์ช่วยกระชับมดลูก พลับพลึงแก้อาการปวดเมื่อย และอื่นๆ เริ่มลงมือต้มน้ำ หย่อนสมุนไพรจนเดือดได้ควันพวยพุ่งขึ้นมาในห้องสมุนไพร เด็กๆ อยากรู้อยากเห็นวิ่งเข้าวิ่งออกเหงื่อออกเต็มตัว สรรพคุณยาเริ่มออกฤทธิ์ เริ่มแรกเด็กนั่งได้ไม่นานแต่พอทนร้อนได้ก็มีบรรยากาศสนุกสนานเฮฮาเป็นที่สุด สุดท้ายจับกลุ่มเขียนค้นคว้าหาคำตอบ นำเสนอในประเด็นที่ได้รับมอบหมาย

ผู้เขียนได้ลองมาดูและศึกษาโรงเรียน “ระเบียงเรียนรู้” หลายครั้ง ทำไมเด็กทิ้งวัตถุเสี่ยงอันตราย เวลาว่างที่ไม่มีอะไรทำ เด็กมาโรงเรียนแบบนี้เพราะอะไร โรงเรียนที่มีอยู่จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ไม่ได้หรือ ทำไมเด็กชอบมาโรงเรียนระเบียงเรียนรู้มากกว่า เด็กเรียกพี่นักศึกษาว่าแม่หรือพี่ ใกล้ชิดจนพูดคุยปรึกษาได้ทุกเรื่อง มาโรงเรียนแต่เช้าก่อนโรงเรียนเปิด เด็กบอกว่าโรงเรียนที่ไปทุกวันไม่สนุก จำไม่ไหว ครูดุ ไม่ชอบสอบ เบื่อหน่ายอยู่แต่ในห้อง ผู้เขียนถามเด็กว่าทำไมชอบระเบียงเรียนรู้มากกว่า เด็กตอบแบบไม่ลังเลว่า “สนุก มีเพื่อน ได้ลงมือปฏิบัติ พี่เป็นกันเองคุยได้ทุกเรื่อง”

ปรัชญาง่ายๆ สามัญทำนองนี้เหตุใดโรงเรียนทั่วไปจึงทำไม่ได้ เรากำลังทำโรงเรียนเป็นโรงกักขังเด็ก ห้ามพูดคุยกัน ให้เงียบ ห้ามซุกซน ครูสอนเนื้อหาให้จดจำหรือการเป็นนักกระบวนกรออกแบบกิจกรรมนั้นอะไรสำคัญกว่ากัน การได้ลงมือปฏิบัติจริงสำคัญน้อยกว่าการสอบแบบปรนัยใช่หรือไม่ โรงเรียนกำลังทำอะไรกับชีวิตของนักเรียนที่แทบจะไม่ชอบโรงเรียนดังที่เป็นอยู่เลย

เราจะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงแก้ไข ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ความสนใจ ความต้องการและปัญหาของเด็กแต่ละคนได้อย่างไร หรือเราจะปล่อยโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนไปตามยถากรรมแล้วรอยุบควบรวมตามนโยบายจากส่วนกลาง ระเบียงเรียนรู้จึงเป็นทางเลือกและทางออกของการศึกษาไทยที่น่าท้าทายเป็นที่สุด

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ศรัญย์ภัทร แซ่หวอง

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image