การจัดซื้อ กลุ่มยาราคาแพง จากสปสช. สู่กระทรวงสาธารณสุข : โดย ภก.สุรสิทธิ์ วัชระสุขโพธิ์

ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 7 มีข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 3.87 หมื่นรายเข้าถึง “ยาจำเป็น” เซฟ 8.56 พันล้าน สูงสุดรอบ 8 ปี โดยเนื้อหาของข่าวสรุปได้ว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษเปิดเผยว่า การเข้าถึงยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นของผู้ป่วย เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่ง สธ.โดยโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วางระบบการเข้าถึงยา และการชดเชยยา ระบบการจัดเก็บข้อมูลคุณภาพด้านยา รวมถึงการจัดให้มีระบบการตรวจสอบการใช้ยาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาราคาแพงตามความจำเป็น โดยไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว และหน่วยบริการ

ในปีงบประมาณ 2561 เป็นปีแรกของการดำเนินการตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช.ที่มอบให้โรงพยาบาลราชวิถี เป็นแม่ข่ายดำเนินการบริหารจัดการยา และเวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนแก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่มูลค่ายาที่ภาครัฐประหยัดงบประมาณจากการบริหารจัดการด้านยานี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2560 เป็นจำนวนเงินถึง 44,430.84 ล้านบาท โดยในปี 2560 ประหยัดได้ถึง 8,567.48 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ายาที่ประหยัดมากกว่าปีที่ผ่านมาทั้งหมด

ถ้าใครติดตามการจัดซื้อกลุ่มยาราคาแพงในอดีตจะเป็นการแถลงข่าวโดย สปสช. แต่ในปีงบประมาณ 2561 ที่เพิ่งสิ้นสุดไป กลับเป็นการแถลงข่าวโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เคยแถลงข่าวใน สปสช.แจงซื้อยาโรงพยาบาลทั่วประเทศ เน้นกลุ่มแพง จำเป็น ประหยัดงบรัฐ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 26 มกราคม 2559 หน้า 10 ซึ่งเนื้อหาของข่าวที่ สปสช.แถลงมีความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“….ภารกิจหลักของ สปสช.คือทำอย่างไรให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับยาในขณะที่งบประมาณมีจำกัด ดังนั้นจึงต้องหาวิธีให้ได้รับยาราคาถูก เช่น ยารักษามะเร็ง ซึ่งเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ จ(2) บางรายการที่ สปสช.จัดซื้ออยู่ในขณะนี้เป็นยาต้นแบบของบริษัทต่างประเทศ (Original) สปสช.สามารถจัดซื้อได้ต่ำกว่าราคาตลาดที่จำหน่ายทั่วไปถึงร้อยละ 80 การให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อเองหรือจัดซื้อร่วมระดับเขตทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองราคา…”

อันเป็นที่มาให้ข้าพเจ้าเขียนบทความคัดค้านการซื้อยาของ สปสช. เรื่อง การบริหารจัดการกลุ่มยาราคาแแพงของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 26 เมษายน 2559 หน้า 21 ความตอนหนึ่งว่า ย้อนหลังกลับไปเมื่อ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจจาก นายทักษิณ ชินวัตร แล้วเกิดรัฐบาลขิงแก่ โดย พลเอก สรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือ นพ.มงคล ณ สงขลา นโยบายที่สำคัญของ นพ.มงคล ณ สงขลา ที่คนไทยบางคนอาจจำได้ก็คือการทำให้ผู้ป่วยชาวไทยได้เข้าถึงยาราคาแพงมากขึ้นโดยนำนโยบายการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยา ข้าพเจ้าเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญคณะทำงานด้านยามะเร็งและหลอดเลือดเพื่อจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติในตอนนั้นมียารักษามะเร็งเต้านมรายการหนึ่งที่เมื่อเทียบข้อบ่งใช้ความปลอดภัยและคุณสมบัติอื่นๆ ไม่แตกต่างและดูดีกว่ายารายการเดิม แต่เนื่องจากยารายการนี้ยังไม่หมดสิทธิบัตร ราคาจะแพงมากเมื่อเทียบกับยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เดิมตอนแรกยารายการนี้จะไม่ได้รับพิจารณาให้เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติแต่เมื่อคณะทำงานได้รับสัญญาณจากทีมงาน นพ.มงคล ณ สงขลา ว่า ยารายการนี้จะถูกทำซีแอล ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลงคณะทำงานจึงเสนอยารายการนี้เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่ตอนนั้น

นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่ข้าพเจ้าถาม สปสช.คือ สปสช.เป็นผู้ควบคุมการใช้เงิน เป็นผู้ซื้อบริการจากทางโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ป่วยโรงพยาบาลควรเป็นผู้มีอำนาจจัดซื้อเองหรือ สปสช.เป็นผู้มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง

Advertisement

ต่อมา ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เขียนบทความเรื่อง การจัดซื้อยารวมระดับประเทศ Save ชีวิตผู้ป่วย Save งบประเทศ 7 พันล้าน ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ข้าพเจ้าจึงเขียนบันทึกข้อความเรื่อง การจัดซื้อยารวมระดับประเทศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คัดค้านการดำเนินการจัดซื้อยารวมระดับประเทศของ สปสช.ส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของ สปสช.

ประเด็นที่ข้าพเจ้ามองว่าการจัดซื้อยารวมระดับประเทศของ สปสช.น่าจะไม่ถูกต้อง แยกออกได้ 2 ประเด็น คือ

1.ประเด็นเรื่องอำนาจดำเนินการ
ในขณะที่ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โรงพยาบาลเป็นผู้จัดซื้อจัดหาเอง แต่กลุ่มยาราคาแพงหรือยาโรคเรื้อรัง สปสช.กลับดำเนินการจัดซื้อเองโดยมอบให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ส่งยาให้กับโรงพยาบาลคำถามคือ สปสช.ใช้ระเบียบข้อใดในการจัดซื้อ สปสช.ดำเนินการโดยไม่มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้างใช่หรือไม่

2.ประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของ สปสช.ว่าถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ (ปัจจุบันคือ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560) หรือไม่

โดยประเด็นนี้ข้าพเจ้ายกตัวอย่างไปยังกลุ่มยาราคาแพง (ยาบัญชี จ.2) ที่หมดสิทธิบัตรยาแล้ว โดย สปสช.จัดซื้อโดยวิธีต่อรองราคากับบริษัทที่ผลิตยาต้นแบบ แล้วให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ส่งมอบยาให้กับโรงพยาบาลที่เป็นผู้ใช้ยาให้กับผู้ป่วย ในการจัดซื้อพัสดุตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุจะใช้วงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างมาเป็นหลักในการแยกประเภทการจัดซื้อ เนื่องจากยากลุ่มนี้เป็นยาราคาแพง แต่ละรายการคงไม่มีการจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคาแต่ต้องใช้วิธีประกวดราคา (ปัจจุบันคือ e-bidding) การที่ สปสช.ไปต่อรองราคากับบริษัทผู้ผลิตยาต้นแบบแล้วมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมจัดส่งยาให้กับโรงพยาบาลนั้น จึงน่าจะผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ นอกจากนี้ เนื่องจากยาในข้อนี้หมดสิทธิบัตรยาแล้ว อาจมีบริษัทยาอื่นนำยาตัวเดียวกันมาจำหน่ายในประเทศไทย (ยาเลียนแบบ) ทำให้มีการแข่งขันด้านราคา การเลือกต่อรองราคากับบางบริษัทยังอาจผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐอีกด้วย

ต่อมาข้าพเจ้าพบว่ามีข่าวลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 หน้า 9 ค้าน สธ.ดึงงบ สปสช.ซื้อยาห่วงแพง ซึ่งเนื้อหาในข่าวส่วนหนึ่ง มีดังนี้

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เริ่มทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจในการจัดหายา โดยมีข้อแนะนำว่าควรที่จะมีการแก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อยาที่จำเป็นได้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำลังโอนอำนาจจัดซื้อยาจำเป็นให้ สสจ.ดำเนินการแต่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายเพราะ 2 หน่วยงานนี้ไม่เข้าเกณฑ์เป็นหน่วยบริการ ซึ่งกำลังแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องเกณฑ์การพิจารณาหน่วยบริการ

จากเนื้อหาที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าที่สุดแล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็หาทางออกในการจัดซื้อกลุ่มยาราคาแพงแทน สปสช. โดยแทนที่จะให้แต่ละโรงพยาบาลไปจัดซื้อกันเองก็มอบให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นแม่ข่ายดำเนินการบริหารจัดการยา และเวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะทำให้อำนาจการต่อรองราคากับบริษัทยามีมากขึ้น และในกรณีที่ยาหมดสิทธิบัตรแล้ว โรงพยาบาลราชวิถีจะต้องให้บริษัทผู้ขายยารายการเดียวกัน เสนอราคาเข้าแข่งขันไม่ได้มีการต่อรองราคาเฉพาะกับบริษัทที่ผลิตยาต้นแบบทำให้การแข่งขันราคามีมากขึ้น จนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในปี 2560 ปีเดียว ประหยัดได้ถึง 8,567.48 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ายาที่ประหยัดมากกว่า ปีที่ผ่านมาทั้งหมด

เมื่อราคายาของกลุ่มยาราคาแพงที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ของประเทศราคาลดลง ในผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคม และผู้ป่วยที่ใช้สิทธิข้าราชการ ที่ต้องใช้ยาในกลุ่มนี้ ก็จะเข้าถึงยาในกลุ่มนี้มากขึ้นด้วย เพราะราคายาในกลุ่มยาราคาแพงถูกลง ทำให้ภาพรวมของประเทศในการบริหารจัดการกลุ่มยาราคาแพง ประชาชนทุกสิทธิได้เข้าถึงยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น

ภก.สุรสิทธิ์ วัชระสุขโพธิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image