สืบทอดอำนาจ แค่วาทกรรมจริงหรือ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา มีผู้ไปใช้สิทธิล้นหลามทำสถิติสูงถึง 86.98% คำถามที่ตามมาไม่ได้มีเพียงแค่ว่า ทำไมจำนวนผู้ไปใช้สิทธิถึงสูงมากเป็นประวัติการณ์ขนาดนี้ เป็นภาพสะท้อนไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งวันจริงอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมนี้ จะมีปรากฏการณ์เดียวกันนี้หรือไม่ เท่านั้น

แต่คำถามที่น่าคิดวิเคราะห์และหาคำตอบลึกลงไปกว่านั้นก็คือ ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงสนับสนุนผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองใด เลือกพรรคดังกล่าวเพราะเหตุใด และผลการเลือกตั้งจะส่งผลให้รูปร่างหน้าตาของรัฐบาลต่อไปเป็นอย่างไร ระหว่างพรรคฝ่ายประชาธิปไตยกับพรรคฝั่งเผด็จการ

การตอบโจทย์คำถามข้อแรก การไปใช้สิทธิล่วงหน้าจำนวนมากเป็นเพราะว่าผู้คนอดทนรอคอยการเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกหลายครั้งมาเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งนับวันยิ่งสะสมดีกรีความอยากเลือกตั้งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกมีมากเกือบ 7 ล้านคน ความต้องการใช้สิทธิกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองและชะตาชีวิตของตัวเองจึงมีมากเป็นพิเศษ เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา

ส่วนโจทย์ข้อสองผู้ใช้สิทธิเลือกใคร พรรคใด ยิ่งน่าสนใจ เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ลงคะแนนเสียงใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินใจ จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ความใกล้ชิดสนิทสนม ความนิยม เชื่อถือศรัทธา ในตัวบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2.แนวทางนโยบายด้านต่างๆ ของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่สังกัด และ 3.จุดยืนทางการเมืองระหว่างแนวทางสนับสนุนประชาธิปไตยกับสนับสนุนเผด็จการ ซึ่งข้อนี้สะท้อนจากแนวนโยบายแต่ละด้านของพรรคด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางการเมือง อาทิ แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ กับไม่แก้ไข เป็นต้น

Advertisement

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกโดยเฉพาะข้อที่ 3 จุดยืนทางการเมืองมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยล่าสุด ประกาศหลักการไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทําให้พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดาหน้ากันออกมาตอบโต้ สวนกลับ สาดใส่ หมายความว่าจะไปร่วมกับพรรคฝ่ายทักษิณใช่หรือไม่ พร้อมกับยืนยันว่า การสืบทอดอำนาจเป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกยกขึ้นมาคัดค้าน ต่อต้าน โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น แต่เป็นการสืบทอดงานที่ดำเนินการมาให้เกิดความต่อเนื่อง

และเทียบเคียงย้อนกลับไปถึงการสมัครรับเลือกตั้งของผู้นำประเทศต่างๆ ในโลก ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่และกำลังหมดวาระลง อีกทั้งเทียบเคียงถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี 8 ปี ไม่เห็นมีการใช้วาทกรรมสืบทอดอำนาจขึ้นมาคัดค้าน แถมยังให้การสนับสนุนเสียอีก

Advertisement

การหยิบยกเหตุผลและตัวบุคคลดังกล่าวขึ้นมาเปรียบเทียบ ระหว่างผู้นำระดับโลก พล.อ.เปรม กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อสนับสนุนความคิดที่ว่าการสืบทอดอำนาจเป็นเพียงวาทกรรม จึงน่าวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของสถานการณ์แวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง

ข้อแรกที่มาของผู้นำต่างประเทศที่สมัครรับเลือกตั้งต่อ มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร ขณะที่ พล.อ.เปรมวางตัวเป็นกลาง ไม่โดดลงไปเป็นผู้เล่น แข่งขันในสนามเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน

กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์แตกต่างกัน เหตุสืบเนื่องจากเป็นเงื่อนไขในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่าแนวทางการเป็น “คนใน” มาจากการสนับสนุนของพรรคการเมือง ทำให้ภาพลักษณ์ คะแนนนิยมในรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี น่าจะดีกว่าการเป็น “คนนอก”

แต่ประเด็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และอธิบายได้ยากก็ยังคงเป็นเงื่อนไขจากรัฐธรรมนูญอยู่ดี นั่นคือ การที่รัฐธรรมนูญออกแบบให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้คัดเลือกและเสนอชื่อวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน โดยวุฒิสมาชิกมีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการสืบทอดอำนาจหรือสืบทอดงานก็แล้วแต่ อย่างชัดเจน ซึ่งสถานการณ์ในสมัย พล.อ.เปรมไม่มีกรณีเช่นนี้ ข้อกล่าวหาที่ว่ามีประโยชนทับซ้อนจึงไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น

การสืบทอดอำนาจ เป็นเพียงแค่วาทกรรม ไม่เป็นจริง หรือไม่ใช่แค่วาทกรรมแต่เป็นความจริง มีปัจจัยจากรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือรองรับชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องขบคิด พิจารณาก่อนวันที่ 24 มีนาคม จะมาถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image