ยุทธการยึดเมือง ยุทธภูมิตั้งรัฐบาล กระสุนตก กกต.

มีแนวโน้มสูงยิ่ง ที่การเมืองไทยจะตกอยู่ในสภาพชักเย่อ

เมื่อสองขั้วการเมืองมีจำนวนเสียงสนับสนุนในระดับใกล้เคียงกัน

ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่า “จำนวน” หรือ “เวลา”

ล้วนมีความสำคัญยิ่ง

Advertisement

10.00 น. วันพุธที่ 27 มีนาคม

6 พรรคการเมืองที่ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ครองอำนาจทางการเมืองต่อไป

อันได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนชาวไทย

Advertisement

จึงร่วมกันแถลงข่าวแสดงท่าที 2 ประการ

ประการหนึ่ง ทั้ง 6 พรรคจะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

ประการหนึ่ง กดดันให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งเปิดเผยผลการเลือกตั้งจากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดกว่า 90,000 หน่วยทั่วประเทศ

คำถามคือ ในสถานการณ์ที่ยัง “ฝุ่นตลบ” ที่แม้แต่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ยังไม่ได้รับการประกาศ บางพรรคการเมืองยังไม่แสดงท่าทีให้ชัดเจนเด็ดขาดไปว่าจะยืนอยู่ฝั่งหรือฝ่ายไหน

ทำไมต้องรีบแถลง ทำไมต้องเร่ง

คำตอบก็คือเพราะความไม่แน่นอน เพราะอาการฝุ่นตลบนี่เอง

ที่เร่งให้ปฏิกิริยาและการรวมตัวอย่างรวดเร็วนี้เกิดขึ้น

ด้านหนึ่ง การรวมตัวกันไม่เพียงแต่จะเป็นการยืนยันหลักการเรื่องต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

แต่ยังเป็นการเรียก “ความมั่นใจ” ระหว่างกัน เรียกความมั่นใจจากสังคม เรียกความมั่นใจผู้ลงคะแนนเสียงที่ให้การสนับสนุน

และเรียกความมั่นใจจากพรรคหรือผู้ที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจว่าจะยืนอยู่ฝ่ายไหน

ด้านหนึ่ง การรวมตัวกันเป็นเสมือนการใช้ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ต่อพรรคพลังประชารัฐ

ผู้ประกาศแนวทางมาตลอดว่า ใครที่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้ก่อน-ได้มากกว่า

ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

แม้กระทั่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจะออกมาแล้วว่า พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส.มากกว่า และพรรคพลังประชารัฐมีเหตุผลอ้างว่า มีจำนวนประชาชนผู้ให้การสนับสนุนมากกว่า

ยุทธการย้อนศรเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐไม่มากก็น้อย

ด้านหนึ่ง เป็นการสร้างแรงกดดันต่อ กกต.

ในภาวะที่คนจำนวนไม่น้อย-อย่างน้อยก็เฉียด 1,000,000 คนเข้าชื่อร่วมกันถอดถอน กกต.-ไม่เชื่อมั่น ไม่วางใจการทำงานและผลการเลือกตั้งที่ “คลุมเครือ”

แรงกดดันจากพรรคการเมืองที่มีจำนวนเสียงรวมกันครึ่งสภาหรือมากกว่า

จะบอกว่าไม่ส่งผลต่อจิตใจและการทำงานของ กกต.เลย ย่อมเป็นไปมิได้

เมื่อฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ชิงเป็นฝ่ายรุก

ถามว่าการตั้งรับหรือตอบโต้ของฝ่ายสนับสนุน คสช. คืออะไร

ดูจากท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าเร็วเกินกว่าที่จะมีความเห็นใดๆ เพราะต้องรอการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต. ในวันที่ 9 พฤษภาคม

ดูจากท่าทีของหัวหน้าและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่า ผลการเลือกตั้งยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ การจับขั้วตั้งกลุ่มหรือตั้งรัฐบาล จึงยังเป็นเพียงความฝันอันเลื่อนลอย

ก็จะเห็นยุทธวิธีการต่อสู้ชัดเจน

นั่นคือการลากถ่วงเวลาออกไป เพื่อให้กระบวนการ “มัดรวม” กับพรรคการเมืองอื่นๆ กระชับมั่นคง

และมั่นใจว่าจะต้องได้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 250 เสียงเช่นกัน

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ไม่มีความคลุมเครือว่าสนับสนุนฝ่ายใด

พรรคตัวแปรกลายเป็นพรรคระดับ “ต่ำสิบ” อย่างเช่นพรรคเศรษฐกิจใหม่และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

ที่แม้จะประกาศผ่านเฟซบุ๊กอย่างองอาจ ว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

แต่ก็มิได้ไปปรากฏตัวและร่วมลงนามในสัตยาบันของฝ่ายที่ประกาศตัวเปิดเผยว่าไม่รับ คสช.

สมรภูมิการเมืองวันนี้จึงถูกชี้ขาดโดย กกต. และพรรคการเมืองขนาดเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image