สะพานแห่งกาลเวลา : ชวนไปรู้จัก5จีที่จุฬาฯ

วันที่ 3 เมษายนนี้ ใครอยู่ว่างๆ ผมอยากเชิญชวนให้แวะเวียนไปที่ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และอัพเดตความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่อง 5จี ทั้งความคืบหน้าของ      ทั่วโลก และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยกัน

ที่นั่นเขาจะมีงานสัมมนาชื่อ “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” เป็นความพยายามอีกครั้งเพื่อเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจและจัดสรรองค์ความรู้มาให้เลือกเสพกันได้ตามใจชอบ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมติชน

ใครอยากฟังสัมมนา ก็ฟังได้ อยากเดินชมนิทรรศการ ก็ใช้เวลาได้ตามสะดวก แม้แต่ใครที่อยากเห็น อยากทดลองมีประสบการณ์ 5จี ก่อนใครๆ ก็ทำได้อีกเหมือนกัน เพราะมีสารพัด “ยูสเคส” มานำเสนอไว้

ทุกวันนี้ยังคงมีหลายคนมากที่เมื่อพูดถึง 5จี แล้วยังคงคิดถึงแต่เรื่องของการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน หรืออย่างมากก็นึกถึงเพียงแค่การสตรีมมิ่ง ภาพยนตร์ 4เค มาดูกัน

Advertisement

นั่นเป็นผลประโยชน์เพียงส่วนเสี้ยวของ 5จี เท่านั้น และเป็นการจำกัดวงของ 5จี ให้เหลือแคบลงเหมือนๆ กับการสื่อสารไร้สายในยุค 4จี เพียงแค่คิดว่าคงเร็วกว่ากันเท่านั้นกระมัง

ในความเป็นจริงแล้ว 5จี นำเสนอคุณสมบัติเชิงเทคนิคอีกหลายอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงไม่สามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายยุคที่ผ่านๆ มาเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอีกมากมายหลายอย่างมาก

5จี ช่วยให้เกิดการพัฒนาฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ขึ้นมาให้ได้คุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการ แต่ไม่เคยทำได้มาก่อน ตัวอย่างเช่น เมื่อมี 5จี เป็นตัวควบคุมการทำงาน ฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ สามารถสร้างให้เล็กลง ราคาถูกลงได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องพลังงาน เพราะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด AA แค่สองก้อนเท่านั้นเองแต่สามารถใช้งานได้นานหลายปี เป็นต้น

เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5จี ยังสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เคยอยู่แต่ในจินตนาการก่อนหน้านี้ให้เป็นไปได้อีกมากมาย ตั้งแต่ สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทคาร์ เรื่อยไปจนถึง โรงงานอัจฉริยะ และเกษตรกรรมอัจฉริยะ

สิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ไม่เพียงน่าตื่นเต้น แต่ยังจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ และก่อให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ขยายตัวออกไปตามความต้องการของสังคม ไม่ติดกรอบจำกัดแคบอยู่เหมือนเดิมที่ผ่านมา

ก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมใดจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจและนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ให้กับสังคมนั้นๆ ได้มากแค่ไหน

เพราะคุณสมบัติทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้นี่เอง หลายๆ ประเทศถึงได้พยายามก้าวไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ ยิ่งเร็วและสมบูรณ์พร้อมเท่าใด ยิ่งก่อผลในทางบวกมากขึ้นเท่านั้น

ไม่เพียงแต่สหรัฐอเมริกากับจีนเท่านั้นที่แย่งชิงกันเป็น “ผู้นำโลก” ในด้านเทคโนโลยี 5จี แม้แต่ในยุโรปและประเทศอื่นๆ ในเอเชียเองก็ตระหนักและพยายามดำเนินการเรื่องนี้ให้ทันท่วงทีเช่นเดียวกัน

ในสหภาพยุโรป มีการจัดทำวิสัยทัศน์ยุโรปที่เรียกว่า “เอช2020” เอาไว้นานแล้ว กำหนดให้ชาติสมาชิกแต่ละประเทศต้องมี “เมือง 5จี” อย่างน้อยที่สุด 1 เมืองในประเทศตน

ในสหรัฐ ปลายปีนี้จะมี “เมือง 5จี” เกิดขึ้นอย่างน้อย 10-12 เมือง ในจีน นอกจากปักกิ่งแล้วหัวเมืองใหญ่ๆ ตั้งแต่เฉิงตู หังโจว เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น เรื่อยไปจนถึงอู่ฮั่น ถูกกำหนดให้เป็นเมือง 5จี แรกๆ ของประเทศไปแล้ว ที่ญี่ปุ่น โตเกียว นางาซากิ โอกินาวา และโยโกฮามา คือเมือง 5จี ระลอกแรกของประเทศ ส่วนเกาหลีใต้ ทั้งโซล ซูวอน พยองยาง รวมถึงเค-ซิตี้ เมืองจำลองที่สร้างขึ้นเพื่อทดลองรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับมาตั้งแต่ปีสองปีก่อน คือหัวหอกในการสื่อสาร 5จี ของประเทศ

ประเทศเหล่านี้เริ่มต้นจริงจังกับเรื่อง 5จี กันมานานหลายปีแล้ว เพราะรู้ดีว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตนในอนาคตขึ้นอยู่กับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย

เรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการ “ตามแห่” แต่เป็นเรื่องของการดำเนินความพยายามเพื่อ “เพิ่ม” หรืออย่างน้อยที่สุดก็ “รักษา” ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเอาไว้

อยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่าไทยเราอยู่ตรงจุดไหน? ไปหาคำตอบได้ในงาน “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน”         ที่จุฬาฯ วันที่ 3 นี้ครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image