ปาร์ตี้ลิสต์ (และ กกต.ฤทธิ์) : โดย กล้า สมุทวณิช

เดิมทีนั้น “ผู้แทนราษฎร” ผู้นั่งในสภาสามัญชนที่เรียกว่า “สภาล่าง” นั้นเกิดมาจากการที่ราษฎรผู้ต้องเสียภาษีนั้นคิดว่า ไหนๆ ก็จะต้องเสียภาษีให้รัฐเสียแล้ว ก็ควรจะมีสิทธิที่จะมี “เสียง” (แบบตรงตามตัวอักษร) ในการพูดต่อผู้ปกครองบ้าง

และเมื่อเดิมนั้นผู้แทนราษฎรในระบบรัฐสภาอังกฤษ พัฒนามาจากเขตการปกครองศักดินา (Feudal) ส่งอัศวินสักคนเป็นผู้แทนออกไปพูดกับกษัตริย์ที่เมืองกรุง ดังนั้นผู้แทนราษฎรจึงผูกพันกับ “พื้นที่” ระดับย่อย เช่น ตำบลหรือจังหวัด ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนจึงเป็นตัวแทนในแต่ละพื้นที่ซึ่งภายหลังแบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง

หน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรพัฒนามาเรื่อยๆ เป็นหน้าที่ในการออกกฎหมายและการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งรัฐบาลขึ้นมาใช้อำนาจบริหารและปกครองประเทศตามลำดับ โดยเฉพาะในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบรัฐสภา ซึ่งถือว่าประชาชนจะไม่เลือก “ผู้นำในทางบริหาร” โดยตรง แต่จะให้ผู้แทนของตนนั่นแหละไปว่ากัน นั่นคือผู้แทนราษฎรในระบบนี้จะทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ออกกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้เลือกตั้งรัฐบาล และเช่นนี้จึงมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลเนื่องจากถือว่ารัฐบาลจะต้องบริหารภายใต้ความไว้วางใจของราษฎรผ่านทางผู้แทน เป็นที่มาของอำนาจสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดอภิปรายว่าจะยังไว้วางใจรัฐบาลนี้ให้ทำงานต่อไปหรือไม่ หรือเรียกรัฐบาลมานั่งฟังความทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ผ่านการตั้งกระทู้ถาม

เมื่อระบบผู้แทนราษฎรนี้พัฒนาไปอีกขั้นก็เริ่มมีคำถามว่า การที่ผู้แทนราษฎรที่ยึดโยงกับพื้นที่นั้น บางครั้งทำให้ขาดความรู้สึกของความเป็น “ตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ” หรือไม่ เพราะจะว่าไป ผู้แทนของแต่ละจังหวัดก็ได้รับเลือกมาโดยผู้คนประชาชนในจังหวัด ดังนั้นเพียงเขาทำอะไรเพื่อประโยชน์ของคนในจังหวัดนั้นก็น่าจะเพียงพอหรือไม่

Advertisement

จึงเริ่มมีความคิดจะให้มี “ผู้แทนราษฎรของประเทศ” ที่มาจากการเลือกของคนทั้งประเทศ เกิดเป็นระบบผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ซึ่งเกิดจากการนำคะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งระดับที่ใหญ่ขึ้นกว่าเขตเลือกตั้งมาหาสัดส่วนโดยมีผู้สมัครเป็น “พรรคการเมือง” ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของประเทศสำหรับแต่ละพรรค แล้วคิดสัดส่วนแบ่งกันไปตามคะแนนเสียงความนิยม

ประเทศไทยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 ในฉบับแรกนั้นก็มีการบิดเล็กน้อย ให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนของกลุ่มจังหวัด 10 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ทั่วประเทศ เหมือนเป็น ส.ส.ของภูมิภาค ต่อมาก็เห็นว่าไม่เวิร์ก (เอาเข้าจริง ที่ผู้มีอำนาจบางกลุ่มเห็นว่าไม่เวิร์กเพราะพอเลือกตั้งจริงไปหนึ่งครั้งก็พบว่า ถ้ามีพรรคการเมืองใดได้ความนิยมในบางภาคหรือกลุ่มจังหวัดแบบถล่มทลาย พรรคนั้นก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากจนได้เปรียบ ดังนั้นถ้าจะให้พรรคนั้นไม่ได้เปรียบละก็ ให้เป็นการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของทั้งประเทศแบบปี 2540 ดีกว่า)

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คนไทยเราก็รู้จักกับ ส.ส.ของเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.ของประเทศ ที่แบ่งแยกความนิยมระหว่างตัวบุคคลและพรรคการเมืองได้ชัดเจน เป็นคำพูดติดปากคล้องจองว่า “ใบหนึ่ง (บัตรเลือกตั้งระบบเขต) เลือกคนที่รัก อีกใบหนึ่ง (บัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ) เลือกพรรคที่ชอบ”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ระบบบัญชีรายชื่อก็มีข้อเสีย ซึ่งอาจถือเป็นข้อเสียจริงๆ ของมัน หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “ข้อเสียเปรียบ” ของบางพรรคการเมืองหรือกลุ่มอำนาจก็ได้ เพราะในกรณีที่พรรคไหนเป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศมากๆ ก็จะมีโอกาสที่จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นได้รับไม่สอดคล้องกับความนิยมจริงของคนทั้งประเทศ

เช่น ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่งในสภา คิดเป็นร้อยละ 53 แต่เมื่อมาพิจารณา “คะแนนดิบ” จากการเลือกของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศแล้ว พรรคเพื่อไทยมีคนลงคะแนนให้ในระบบบัญชีรายชื่อราวเกือบ 15.7 ล้านเสียง จากคะแนนเสียงของผู้ไปเลือกตั้งที่เลือกพรรคต่างๆ 32.5 ล้านเสียง เป็นจำนวนราวๆ 48% เท่านั้น

นั่นคือถ้าหากเราเห็นด้วยในหลักการว่า จำนวนที่นั่งในสภาควรจะสอดคล้องกับจำนวนผู้ที่เลือกพรรคการเมืองแต่ละพรรค โดยตัวเลขดังกล่าว พรรคเพื่อไทยควรได้ ส.ส.ราวๆ 240 คนเท่านั้น

เรื่องนี้เป็นทั้งปัญหาจริงๆ และปัญหาที่ทำให้ฝั่งฝ่ายทางการเมืองมองว่าพรรคเพื่อไทยนั้นต่อสู้ด้วยยากในสนามเลือกตั้ง แต่ความพยายาม “เกลี่ย” จำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาของแต่ละพรรคให้สะท้อนเสียงผู้เลือกตั้งทั้งประเทศก็มีอยู่ในระดับสากล ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) จึงได้รับการคิดค้นและนำมาใช้ในหลายประเทศ

อธิบายระบบที่ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยประเทศสมมุติประเทศหนึ่ง ที่มีประชากร 3,000 คน แบ่งเป็น 10 จังหวัด มีสภาเล็กๆ ขนาด 10 ที่นั่ง มีพรรคการเมืองสองพรรคชิงชัยกัน

ในการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง (เพื่อความง่าย ประเทศเล็กๆ นี้ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองมาก มาใช้สิทธิกันเต็ม 100%) ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นแบบนี้ (ดูตารางประกอบ)

ถ้าสภามีที่นั่งให้ ส.ส.ได้ 10 คน จะเห็นว่า แม้พรรค A จะได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงเป็นสัดส่วน 60% ของทั้งประเทศ แต่เพราะแต่ละจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่เท่ากัน และเมื่อชนะในจังหวัดไหนก็เหมือนเสียงในจังหวัดนั้นยกให้พรรคที่ชนะทั้งหมด ทำไปทำมาเลยกลายเป็นว่า พรรค A มีที่นั่ง 8 จาก 10 ที่นั่งทั้งสภา ซึ่งผิดจากสัดส่วนจริงไประดับหนึ่งทีเดียว

ระบบ MMA ที่ว่าจึงให้มี “เก้าอี้ชดเชย” เอาไว้อีก 2 ที่นั่ง เป็นว่าระบบใหม่ สภาของประเทศนี้จะมี 12 ที่นั่ง โดย 10 ที่นั่งมาจากการแบ่งเขตจังหวัด แล้วจากนั้นจะนำคะแนนเสียงผู้เลือกตั้งทั้งประเทศมาคิดสัดส่วนกัน ดังนั้น จากสัดส่วน 60/40 ดังกล่าว ถ้าสภามีที่นั่ง 12 ที่แล้ว พรรค A ควรได้ 7.2 ที่นั่ง ส่วนพรรค B ควรได้ 4.8 ที่นั่ง

แต่อย่างไรก็ตาม พรรค A ได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 8 ที่นั่ง เยอะกว่าจำนวนที่ควรได้ แต่เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบหลักนั้นคือระบบแบ่งเขต เราจึงไม่ลดที่นั่ง ส.ส.พรรค A (ซึ่งก็ไม่รู้จะลดได้อย่างไรเหมือนกัน) จึงให้เขามี 8 ที่ ส่วนที่นั่งชดเชย 2 ที่ จึงเป็นของพรรค B ซึ่งจะมีที่นั่งในสภารวม 4 ที่นั่ง ซึ่งอัตราส่วนนี้ พรรค A จะมีที่นั่งในสภา 66.67% และพรรค B มี 33.33% ซึ่งถึงไม่ตรงสัดส่วนผู้เลือกตั้งเสียทีเดียว แต่ก็ยังใกล้เคียงกว่า 80/20 แน่นอน

เมื่อกลับมาที่ประเทศไทยที่มีผู้สงสัยว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายคือพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเลยสักที่นั่งเป็นไปได้อย่างไรและเพราะอะไรนั้น ก็คือสาเหตุเดียวกับที่พรรค A ไม่ได้ ส.ส.เพิ่มนั่นแหละ

คือต้องปรับมุมคิดว่า ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการ “ชดเชย” ไม่ใช่การ “ให้เพิ่ม” คือพรรคที่จะได้ ส.ส.เพิ่มก็ต้องเป็นกรณีที่มีผู้เลือกพรรคนั้นทั่วประเทศคิดเป็นสัดส่วนแล้วมากกว่าจำนวน ส.ส.เขตที่ได้ไปแล้ว

ดังนั้นที่เขาโฆษณาว่า ระบบนี้เสียงผู้เลือกตั้งจะไม่ตกน้ำก็มีส่วนจริง ตัวอย่างที่ดีที่สุดของผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้อย่างมีเหตุผล คือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแม้จะได้ ส.ส.เขตเพียงราวๆ 30 กว่าที่นั่ง แต่เพราะว่าพรรคนี้ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 3 จากทั่วประเทศ คือในทุกเขต พรรคอนาคตใหม่จะมาเป็นที่ 1 ถึงที่ 3 แทบทุกหน่วยเลือกตั้ง คะแนนจากผู้ที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ทั้งประเทศจึงมารวมกันแล้วคิดคำนวณจนได้รับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อชดเชยไปอีก 50 กว่าที่นั่ง (แต่จะได้จริงเท่าไร ขึ้นกับว่า กกต.จะใช้วิธีคำนวณแบบไหน ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาที่จะกล่าวกันต่อไป)

แต่ “ระบบดีๆ” นี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะแม้ว่าโดยหลักการแล้วมันยุติธรรม แต่เพราะเจตนารมณ์ของผู้ร่างนั้นต้องการที่จะสกัดไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้ที่นั่งมากเกินไป (ซึ่งถ้าเขาไม่เหนียมคงเขียนชื่อพรรคลงไปในรัฐธรรมนูญแล้ว) จึงออกแบบให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจยากขึ้นไปอีกนิด ด้วยการให้ใช้บัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ เลือก ส.ส.เขต และเอาคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตนั่นแหละไปคำนวณสัดส่วนระบบบัญชีรายชื่อ (และเราไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องที่กำหนดให้แต่ละพรรคในแต่ละเขตมีหมายเลขต่างกันด้วย ยังดีที่เขาปรานีอยู่ที่ให้มีโลโก้พรรคอยู่ในบัตรเลือกตั้ง)

หมดยุค “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ปล่อยให้ประชาชนไปชั่งน้ำหนักเอาว่า ระหว่างการสนับสนุนคุณ ส.ส.คนเดิมที่ทำงานอย่างดีคนจริงไม่ทิ้งเขต กับพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่เรานิยมในอุดมการณ์ เราจะเลือกทางไหนดี แถมบัตรใบเดียวกัน เป็นการเลือก “นายกรัฐมนตรี” อีกต่างหาก

แต่ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ “ผู้คุมกฎและกำกับดูแลการเลือกตั้ง” ต่างหาก ที่ไม่มีความชัดเจนอะไร หากจะให้กล่าวถึงความบกพร่องประดามีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็อาจจะไปเขียนคอลัมน์ได้อีกตอนหนึ่งเลย หากเอาแต่ที่เกี่ยวกับเรื่อง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนี้ ก็ได้แก่ เรื่องที่ กกต.ไม่ยอมออกมาชี้แจงเสียทีว่า ตัวเองใช้สูตรไหนในการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ปล่อยให้สำนักข่าวและประชาชนเปิดโปรแกรม Spreadsheet ขึ้นมาเทียบกับ
พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งแบบตัวใครตัวมัน บางสูตรก็ได้จำนวนพรรคที่ได้เสียงข้างมากลำดับแรกๆ แต่บางสูตรก็กวาดกองลงไปยันพรรคเล็กพรรคน้อยที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ ได้กันไปกระจัดกระจายคนละที่นั่ง แถม กกต.ก็ไม่ยอมบอกว่าตกลงแบบไหนถูกแบบไหนผิดอีกต่างหาก

เป็นเรื่องที่เราไม่รู้ว่าเขาเองก็ยังไม่รู้จริง แกล้งไม่รู้ เพราะยังตกลงกันเองและ “ผู้เกี่ยวข้อง” ไม่ได้ข้อสรุป หรือด้วยเหตุผลไหนอย่างไรกันแน่อีกเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image