โศกนาฏกรรมในอาระเบียหรรษา : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

คาบสมุทรอาระเบีย

ชาวกรีซเรียกดินแดนบริเวณทิศหรดีของคาบสมุทรอาระเบียว่า Arabia Felix หรืออาระเบียหรรษา ที่ในปัจจุบันคือดินแดนในประเทศเยเมน โดยที่ดินแดนแถบนี้มีปริมาณน้ำฝนที่ชุ่มฉ่ำที่สุดในคาบสมุทรอาระเบียที่เป็นทะเลทรายส่วนใหญ่ ดังนั้นบริเวณที่เรียกว่า “อาระเบียหรรษา” จึงเป็นดินแดนที่เขียวขจีอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้นานาชนิดและในสมัยโบราณบริเวณนี้ก็ยังเป็นศูนย์กลางผูกขาดการค้าอบเชยและเครื่องเทศของเส้นทางการค้าเครื่องเทศอีกด้วย จึงเป็นดินแดนที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์และหรรษาสมชื่อนั่นเอง

ปัจจุบันดินแดน “อาระเบียหรรษา” คือดินแดนส่วนหลักของประเทศเยเมนหรือสาธารณรัฐเยเมน ประกอบด้วยอดีตเยเมนเหนือและเยเมนใต้ เป็นประเทศในคาบสมุทรอาระเบียในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของตะวันออกกลาง มีชายฝั่งจรดทะเลอาระเบีย และอ่าวเอเดนทางทิศใต้ จรดทะเลแดงทางทิศตะวันตก มีพรมแดนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับโอมาน ส่วนพรมแดนด้านอื่นๆ ติดกับซาอุดีอาระเบีย

เยเมนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่แปลกประหลาดพอสมควร เนื่องจากประเทศเยเมนเคยถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนมานานกว่า 200 ปี โดยเยเมนเหนือตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมาน ส่วนเยเมนใต้นั้นกลับตกไปเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ สองดินแดนนี้เพิ่งเข้ามาผนวกรวมเป็นชาติเดียวกันเมื่อ พ.ศ.2533 หรือประมาณ 29 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยมีกรุงซันอา (Sanaa) เป็นเมืองหลวงแม้จะรวมตัวกันได้ในที่สุด แต่ความแตกต่างทางแนวคิดการเมือง รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละดินแดนที่กินเวลากว่า 200 ปี จึงยากต่อความเป็นเอกภาพภายหลังการรวมชาติสำเร็จ

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” อันเป็นกระแสการชุมนุมขับไล่ผู้นำประเทศในโลกอาหรับซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมหรือเผด็จการทหารที่กดขี่ประชาชนชาวอาหรับทุกประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเริ่มขึ้นที่ประเทศตูนิเซียเป็นอันดับแรก ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2553 ทำให้ประธานาธิบดีซัยนุลอาบิดีน บิน อาลี ต้องลี้ภัยไปอยู่ในซาอุดีอาระเบีย

Advertisement
แผนที่ของอาระเบียหรรษาเขียนโดยชาวฝรั่งเศส

ต่อมากระแสการขับไล่ผู้นำก็ไปยังอียิปต์ จนทำให้ประธานาธิบดีฮุสนี มุบารัค ซึ่งครองอำนาจมายาวนาน 30 ปี ต้องยอมลงจากอำนาจ ความจริงกระแสการลุกฮือขึ้นของประชาชนได้แพร่ขยายต่อไปอีกหลายประเทศในย่านตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ผู้เผด็จการถูกโค่นจากอำนาจในตูนิเซีย, อียิปต์, ลิเบีย, เยเมน การก่อการกำเริบพลเมืองอุบัติขึ้นในบาห์เรนและซีเรีย การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในอัลจีเรีย, อิรัก, จอร์แดน, คูเวต, โมร็อกโก และซูดาน และการประท้วงเล็กเกิดในเลบานอน, มอริเตเนีย, โอมาน, ซาอุดีอาระเบีย,
จิบูตี และเวสเทิร์นสะฮารา การประท้วงมีเทคนิคการดื้อแพ่งร่วมกันในการรณรงค์ต่อเนื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงาน การเดินขบวน การเดินแถว และการชุมนุม เช่นเดียวกับการใช้โซเชียลมีเดียในการจัดระเบียบ สื่อสารและสร้างความตระหนักเมื่อเผชิญกับความพยายามของรัฐในการปราบปรามและตรวจพิจารณาอินเตอร์เน็ต การเดินขบวนอาหรับสปริงหลายประเทศก็เจอการตอบโต้อย่างรุนแรงจากทางรัฐบาลจนเกิดการล้มตายกันไปก็มี

สำหรับประเทศเยเมนเมื่อ พ.ศ.2554 ได้เริ่มเกิดการต่อต้านประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซอและห์ ซึ่งเป็นผู้นำเยเมนมานานกว่าสองทศวรรษ จนกระทั่งประธานาธิบดีซอและห์ลาออกเมื่อต้นปี พ.ศ.2555 รัฐบาลใหม่นำโดย อับดุรร็อบบะฮ์ มันศูร ฮาดี (อดีตรองประธานาธิบดีของรัฐบาลซอและห์) พยายามที่จะรวมดินแดนของประเทศและจัดการกับภัยคุกคามจากกองกำลังอัลเคด้าและกลุ่มกองกำลังของพวกฮูษี (พวกมุสลิมชีอะห์ที่แตกต่างจากชาวเยเมนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นมุสลิมซุนนีซึ่งก่อความไม่สงบมาเป็นเวลาหลายปี)หลังการสู้รบในกรุงซานาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2557 กลุ่มฮูษี (Houthis) ก็เข้ายึดเมืองหลวงได้สำเร็จ โดยกลุ่มฮูษีได้แต่งตั้งมุฮัมมัด อะลี อัลฮูษี ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ในขณะที่ประธานาธิบดีฮาดีหลบหนีไปยังเมืองเอเดน และประกาศว่าตนยังคงเป็นประธานาธิบดีแห่งเยเมน พร้อมทั้งประกาศให้เอเดนเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศ กลุ่มฮูษีและกองกำลังสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซอและห์ตอบโต้ด้วยปฏิบัติการบุกเอเดน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลฮาดีถูกจับตัวได้ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2558 ในวันเดียวกัน ชาติอาหรับหลายประเทศนำโดยซาอุดีอาระเบียเริ่มปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มฮูษีทางอากาศได้เกิดการสู้รบระหว่างกัน

แผนที่ประเทศเยเมนที่กลุ่มต่างๆ ยึดครองอยู่

ครับ ! สงครามกลางเมืองของเยเมนดำเนินเข้าปีที่ห้าแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติคาดกันว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กในเยเมนอยู่ที่ประมาณ 10 คนต่อนาที จากโรคต่างๆ ที่สามารถรักษาได้หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ ขณะที่เด็กน้อยอายุต่ำกว่า 5 ปี อีกกว่าห้าแสนคน กำลังตกอยู่ในสภาพหิวโหยทนทุกข์ทรมานจากการอดอาหาร องค์กรทางการของสหประชาชาติประเมินว่าประชากรเยเมนจำนวนสองในสาม หรือประมาณ 19 ล้านคน กำลังจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยเร่งด่วน หลังประเทศตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบยืดเยื้อมานานร่วม 5 ปีแล้ว ระหว่างกองกำลังกบฏฮูษีกับรัฐบาลของประธานาธิบดีฮาดีที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังผสมที่นำโดยซาอุดีอาระเบียและชาติอาหรับหลายประเทศในขณะนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจเลย

Advertisement

เศร้าใจนักสำหรับชาวเยเมน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image