ทุนประชาธิปไตย : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ก่อนเลือกตั้ง นักการเมืองบางท่านเสนอว่า หากได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะออกกฎหมายเอาผิดผู้ทำรัฐประหารถึงขั้นประหารชีวิต

ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ นอกจากเพราะผมไม่เห็นด้วยกับโทษประหารในทุกกรณีแล้ว การยับยั้งหรือสกัดกั้นการทำรัฐประหารด้วยกฎหมาย ได้มีความพยายามมาหลายครั้งแล้วในรูปอื่นๆ เช่น รับรองสิทธิการต่อต้านรัฐประหารแก่พลเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ในกฎหมายอาญาก็มีโทษอย่างหนักอยู่แล้ว (ม.114 และ 116) แต่ก็ไม่เคยยับยั้งหรือสกัดกั้นมิให้กองทัพออกมายึดอำนาจได้สักที อย่าลืมว่าเมื่ออำนาจตกอยู่ในมือของผู้ทำรัฐประหาร กฎหมายเหล่านั้นย่อมถูกฉีกหรือถูกทำให้เป็นหมันไปโดยปริยาย

แม้กระนั้น ความพยายามหาหนทางที่จะสกัดกั้นการทำรัฐประหารให้สำเร็จ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในพัฒนาการของการเมืองไทยปัจจุบัน ผมยอมรับว่ารัฐประหารเคยตอบโจทย์ของการเมืองไทยในสมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่การเมืองยังจำกัดตัวอยู่แต่เฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ รัฐประหารของกองทัพทำให้ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำลงเอยไปในทางใดทางหนึ่ง แม้ไม่ “สงบ” นักเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ถึงกับกลายเป็นสงครามกลางเมืองอย่างที่เกิดในบางประเทศ

แต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว มีสามัญชนคนธรรมดาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เข้ามาร่วมตัดสินใจทางการเมืองอย่างที่ไม่มีทางจะกีดกันให้ออกไปได้ ดังนั้น นอกจากการรัฐประหารไม่อาจตอบโจทย์ได้อีกแล้วเท่านั้น ยังต้องอาศัยความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ยิ่งไม่ตอบโจทย์ ยิ่งอาศัยความรุนแรง    ก็ยิ่งละเมิดกฎหมาย จนกระทั่ง จำเป็นต้องทำรัฐประหารไม่รู้หยุดหย่อนตลอดไป การเมืองไทยปัจจุบันทำให้รัฐประหารทุกครั้งย่อมให้กำเนิดแก่การรัฐประหารครั้งต่อไปเสมอ

Advertisement

ดังนั้น การสกัดกั้นการรัฐประหารให้ได้ จึงมีความสำคัญมากขึ้นอย่างยิ่ง เพราะมีหรือไม่มีรัฐประหารเป็นทางสองแพร่งที่จะกำหนดอนาคตของไทยสืบไปอีกนาน ไม่เฉพาะแต่การเมืองเท่านั้น ยังรวมถึงเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมด้วย

ผมจึงพยายามคิดข้อเสนอยับยั้งสกัดกั้นการรัฐประหาร ที่ไม่อาศัยกฎหมายเป็นหลักเพียงอย่างเดียว และอยากเชิญชวนนักการเมือง, พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไป ที่อยากเห็นประเทศไทยก้าวไปตามวิถีประชาธิปไตยอย่างมั่นคงได้ร่วมกันคิดและเผยแพร่ความคิดเหล่านี้ไปในวงกว้าง

การกระจายอำนาจเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างหนึ่ง อันสามารถยับยั้งมิให้กองทัพยึดอำนาจได้ แต่กระจายอำนาจต้องมีความหมายมากกว่ามี อปท.ไว้เก็บขยะและดับเพลิง หน้าที่ต่อพลเมืองของรัฐสมัยใหม่ประกอบด้วยภารกิจเพียงสองอย่าง หนึ่งคือกำหนดกฎเกณฑ์และกำกับ (regulation) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล ความสัมพันธ์ทางสังคมมีความสงบราบรื่น และสองให้บริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบัน

Advertisement

อปท.ต้องมีบทบาทหน้าที่ในสองอย่างนี้อย่างขาดไม่ได้ โดยเฉพาะด้านบริการซึ่งเกือบทั้งหมดควรอยู่ในมือของ อปท. เช่น โรงเรียน, ศาสนสถาน, สถานพยาบาล ฯลฯ อีกทั้งควรมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรสาธารณะในท้องถิ่นของตน เช่น ป่า, ถนนหนทาง, แหล่งน้ำ, โรงงาน ฯลฯ แม้แต่การกำหนดกฎเกณฑ์ซึ่งรัฐส่วนกลางยังต้องทำในบางเรื่อง อปท.ก็ควรมีส่วนร่วมในอำนาจนั้นๆ ด้วย

หน้าที่ของระบบราชการของรัฐส่วนกลาง นอกจากกำกับควบคุมเฉพาะเรื่องที่จำเป็น และให้บริการชนิดที่เกินกำลังท้องถิ่นจะทำได้อย่างคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คือการสนับสนุน อปท. ไม่ใช่การบังคับควบคุม อปท. การสนับสนุนที่สำคัญคือการสนับสนุนด้านทักษะและเทคนิควิชาการ ซึ่งไม่คุ้มที่ อปท.ทุกแห่งจะสะสมผู้เชี่ยวชาญระดับสูงเช่นนี้ไว้เอง

กระจายอำนาจให้ทรัพยากรจำนวนมากอยู่ในมือประชาชนในท้องถิ่น ใครก็ตามที่ใช้กำลังทหารยึดอำนาจในส่วนกลางได้ ก็จะเหลือทรัพยากรในส่วนกลางน้อยลงกว่าที่จะสะสมนาฬิกาหรูได้เป็นสิบๆ เรือน ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่าไม่มีทางจะบริหารประเทศได้เพราะขาดกลไกของระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะในการควบคุมท้องถิ่น เพราะหากกระจายอำนาจได้จริง ราชการส่วนกลางย่อมมีงบประมาณในมือไม่มากนัก, มีกำลังคนน้อยลง และขาดสมรรถนะในการให้บริการที่จำเป็นหลายอย่าง

จักรกลสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้คณะรัฐประหารประสบความสำเร็จในการสถาปนาและรักษาอำนาจของตนคือระบบตุลาการ จึงจำเป็นต้องให้ “ประชาชน” มีส่วนในการกำกับควบคุมตุลาการมากขึ้น เช่น การขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่งในระบบตุลาการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่ถูกโกงของประชาชน สมาชิกของ ก.ต.ต้องมีสัดส่วนของตุลาการเป็นเสียงข้างน้อยเสมอ สภาผู้แทนราษฎรต้องตั้งคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วน เพื่อทบทวนและเสนอความคิดเห็นทางวิชาการแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ พร้อมทั้งทำรายงานเสนอต่อสภา (ซึ่งหมายความว่าเป็นสาธารณะ) ในระยะยาว สภาจะมีความรู้เกี่ยวกับความสามารถและเที่ยงธรรมของตุลาการแต่ละคนได้มากขึ้น อันเป็นเรื่องจำเป็นในการใช้อำนาจแต่งตั้งถอดถอนตำแหน่งในฝ่ายตุลาการของสภาเอง ฯลฯ เป็นต้น

ต้องหาหนทางผูกมัดให้ศาลต้องพิจารณาคดีตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้เท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญถูกฉีก อำนาจของตุลาการก็หมดไปด้วย ธรรมนูญการปกครองที่เนติบริกรร่างขึ้นรับใช้คณะรัฐประหารไม่อาจทดแทนได้ คดีที่ถูกพิพากษาด้วยอำนาจของธรรมนูญการปกครอง จะไม่เป็นเด็ดขาดเพราะรัฐธรรมนูญของประชาชนกลับมามีผลอีกเมื่อไร ก็อาจถูกนำมาร้องต่อศาลให้ทบทวนพิจารณาใหม่ได้เสมอ

แน่นอนว่า คงต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะทำให้การพิจารณาคดีภายใต้ธรรมนูญของนักรัฐประหาร หรือกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา จะหาความแน่นอนมั่นคงไม่ได้ในระยะยาว แต่นี่คือ “ทุนประชาธิปไตย” ซึ่งจะมีความมั่นคงถาวรได้ ก็ต้องร่วมกันสั่งสมโดยคนฝ่ายต่างๆ ทั้งสังคม แต่สังคมไทยไม่ได้สั่งสม หรือไม่ได้โอกาสที่จะสั่งสม จึงทำให้ “ทุนประชาธิปไตย” ของเรามีน้อย

มาตรการดังที่เสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสม “ทุน” ประเภทนี้

ข้อเสนอของพรรคการเมืองบางพรรคให้ยกเลิกผลพวงของการรัฐประหารนั้นมีความสำคัญมาก ถอนคำสั่งทั้งหมดของคณะรัฐประหารออกจากระบบกฎหมายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จุดหมายปลายทางคือทำให้การกระทำทุกอย่างด้วย “ปืน” เป็นหมันลงให้หมด นับตั้งแต่การแต่งตั้งถอดถอนทุกอย่างโดยอำนาจปืนของคณะรัฐประหารถือเป็นโมฆะหมด ผู้ได้รับประโยชน์ใดๆ จากคำสั่งเช่นนั้น นับตั้งแต่ค่าตอบแทนเป็นต้นไป ต้องถูกเรียกคืน (ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือสัมปทาน)

ผมยังคิดเลยไปถึงสัญญาและข้อผูกมัดระหว่างประเทศที่คณะรัฐประหารทำไว้ด้วย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่ยอมรับสัญญาและข้อผูกมัดเหล่านั้น จนกว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งให้การรับรองเสียก่อน ทั้งนี้ รวมถึงสัญญาซื้อ-ขายด้วย รัฐสภาย่อมพิจารณาโดยอาศัยผลประโยชน์ของประเทศเป็นเกณฑ์ ในกรณีที่ประเทศจะไม่ขาดทุน รัฐสภาอาจไม่รับรองสัญญาบางฉบับ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการจ่ายเงินด้วย ส่วนจะมาลากเรือดำน้ำหรือรถถังกลับไป ก็เป็นภาระของบริษัทต่างชาติหรือรัฐบาลต่างชาติจัดการเอาเอง

หากทำได้ดังนี้ ทั้งประชาชนไทยและต่างชาติ (ทั้งเอกชนและรัฐบาล) จะไม่เสี่ยงรับใช้หรือให้ความร่วมมือแก่คณะรัฐประหารอีก ทำให้การยึดอำนาจบ้านเมืองด้วยกำลังทหารไม่นำไปสู่รัฏฐาธิปัตย์ได้ในทางปฏิบัติ รัฐบาลของคณะรัฐประหารไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ ระบบราชการไม่แต่เพียง “เกียร์ว่าง” เท่านั้น บางส่วนอาจไม่รับคำสั่งด้วย เพราะเสี่ยงเกินไปที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง อาจต้องรับผิดชอบทางแพ่ง (หรือแม้แต่อาญา) ในภายหน้าได้

ถึงรัฐธรรมนูญอาจถูกฉีกทิ้ง แต่ในที่สุดก็จะเกิดรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดจนได้ รัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนร่างขึ้นเองนี้ ต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจที่จะทำตามข้อเสนอดังกล่าวได้ ถึงจะถูกฉีกทิ้งอีก แต่การล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ทำให้ผู้ทำรัฐประหารและผู้ให้ความร่วมมือไม่มีวันแน่ใจได้ว่า ตนจะสามารถ “ลอยนวล” ได้เหมือนเดิม

และนี่คือ “ทุนประชาธิปไตย” อีกอย่างหนึ่งที่สังคมไทยต้องช่วยกันสั่งสมให้มีมากขึ้น

การปกป้องประชาธิปไตยด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทำให้เราได้แต่เดินหน้าหนึ่งก้าว แล้วรัฐประหารก็ดึงเรากลับมาหนึ่งก้าว (หรือบางครั้งสองก้าว) โดยที่ “ทุนประชาธิปไตย” ไม่เพิ่มขึ้นเลยข้อเสนอของผมตั้งอยู่บนหลักการว่า ทุกครั้งที่โอกาสเปิดขึ้นแก่ประชาชน ต้องทำให้การรัฐประหาร “แพง” มากขึ้นไปทุกที จนกระทั่งวันหนึ่งในอนาคต การฉีกรัฐธรรมนูญจะมีต้นทุนสูงเกินกว่าที่ใครจะยอมเสี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image