การเมืองเรื่องรุ่น : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การเมืองเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่สามารถสถาปนาตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ในรัฐสภาได้นั้นเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จากเดิมที่การพูดถึงการเมืองของคนรุ่นใหม่นั้นอาจจะถูกอธิบายผ่านเหตุการณ์ใหญ่ๆ สักห้าเหตุการณ์ แต่ทั้งสี่เหตุการณ์ไม่ได้มีลักษณะความเป็นคนรุ่นใหม่ในแบบเดียวกับการเมืองของคนรุ่นใหม่ในรอบนี้

การเมืองของคนรุ่นใหม่ในรอบแรก นั้นอาจจะต้องกล่าวถึงคณะขุนนางและเชื้อพระวงศ์ที่กราบบังคมทูลถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ห้า เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ และท้ายสุดสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเรื่องของการปฏิรูประบบราชการ แต่ถ้าจะอธิบายในแง่นี้ก็คงต้องพิจารณายุคสมัยนั้นเกี่ยวเนื่องไปสู่เรื่องของการขึ้นสู่อำนาจและการเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัชกาลที่ห้าเอง ด้วยพระองค์เคยปรารภถึงสภาวะแรงกดดันของการที่พระองค์ยังเยาว์วัยอยู่ภายใต้การสำเร็จราชการ ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาปกครอง แต่จุดเน้นก็ยังควรที่จะอยู่ที่คณะผู้ทำคำกราบบังคมทูล เพราะมีการพูดในลักษณะของกลุ่มก้อนมากกว่า

การเมืองของคนรุ่นใหม่ในรอบสอง คงจะต้องกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร ในฐานะที่มองตนเองเป็นคณะ เป็นกลุ่มก้อน และในฐานะที่ถูกกล่าวหาเสมอว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนเมืองนอกเมืองนา และใจร้อนชิงสุกก่อนห่ามในมุมมองของคนอีกหลายคน ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองภายใต้การนำของคณะราษฎรนั้นมีส่วนสำคัญที่ก่อร่างสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การเมืองของคนรุ่นใหม่ในรอบที่สาม คงจะต้องกล่าวถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคม นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาฯ 2519 คือมีทั้งความรุ่งเรืองและความสูญเสียมหาศาล และยังคงประทับรอยบาดแผลให้กับสังคมและผู้คนมาจนถึงวันนี้

Advertisement

การเมืองของคนรุ่นใหม่ในรอบที่สี่ น่าจะหมายถึงการเมืองในช่วงพฤษภาทมิฬ ที่คำอธิบายหลักมักจะเป็นการพูดถึงการเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง ซึ่งชนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้ไม่ได้อยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่จะถูกขับเน้นเป็นคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ในเมือง และอยู่ในเครือข่ายเทคโนโลยีใหม่ เช่น ม็อบมือถือ และงานวิจัยจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสมัยนั้นก็เปิดเผยให้เห็นว่า คนที่มาชุมนุมขับไล่รัฐบาลสุจินดานั้นเป็นพวกคนที่มีการศึกษาสูง ไม่ได้ถูกจัดตั้งหรือเกณฑ์มา

การเมืองของคนรุ่นใหม่ในรอบที่ห้า นี้มีความแตกต่างจากสี่รอบแรกตรงที่เกิดจากการต่อสู้ในช่วงเปลี่ยนผ่านของระบอบเผด็จการ และการรวมตัวในรอบนี้เป็นการรวมตัวของคนที่หลากหลาย ที่มีจุดมุ่งหมายเข้าสู่ระบอบการเมืองผ่านการเลือกตั้งและจัดตั้งพรรคการเมือง ต่างจากสี่ครั้งแรกที่ไม่ได้มีการสถาปนาพรรคการเมือง หรือจัดตั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น หัวหน้าพรรคถูกลอบสังหาร หรือนอกจากไม่ตั้งพรรคแล้ว ยังไม่ให้กลุ่มอื่นตั้งพรรคแข่งด้วย

แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือ คนรุ่นใหม่ที่ถูกอ้างอิงถึงนั้นจริงๆ แล้วเป็นคนรุ่นใหม่ในแบบที่เราเข้าใจง่ายๆ คือเป็นคนหนุ่มสาวหรือไม่? คำตอบก็คือไม่ใช่ทั้งหมด เราเห็นคนวัยอื่นมากมายที่เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน

Advertisement

รวมทั้งผู้บริหารพรรคหรือผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเองของพรรคคนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่คนหนุ่มสาวในความหมายที่เคร่งครัด คือเขาไม่ใช่รุ่นเดียวกับคนที่ลงคะแนนเสียงครั้งแรก หรือคนรุ่น “ฟ้า” หากเราเชื่อในการแบ่งรุ่นของคนออกเป็นสักสี่รุ่น คือเกินหกสิบ เกินสี่สิบกว่า เกินยี่สิบห้า และต่ำกว่ายี่สิบห้า โดยประมาณ

จึงเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ในรอบนี้นั้นเป็นเรื่องของการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์และอุดมการณ์ใหม่ ที่หลอมรวมเอาคนหลายๆ รุ่นและช่วงวัยอายุเข้ามาด้วยกัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “รุ่น” ในความหมายนี้คือสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้น และถูกให้ความหมายใหม่

สิ่งที่สำคัญเพิ่มเติมไปกว่านั้นก็คือ การเมืองของคนรุ่นใหม่ในรอบนี้ประสบความสำเร็จด้วยความบิดเบี้ยวของกติกาในการปกครองประเทศที่วางบนวาทกรรมการนับทุกเสียง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่านับไปแล้วทุกเสียง เพราะถ้านับทุกเสียงจริงพรรคต่ำเจ็ดหมื่นกลับได้คะแนนเท่ากับพรรคเจ็ดหมื่นในปาร์ตี้ลิสต์ และยังมีคะแนนตกหล่นในที่อื่นๆ อีกมากมายที่หลงลอดออกไปจากสูตรคำนวณ

การนับเสียฝั่งบัญชีรายชื่อนี้เองที่ทำให้พรรคคนรุ่นใหม่ซึ่งได้คะแนนเป็นที่สองในเขตเกือบทั้งหมดสามารถถูกนับและกลายเป็นพรรคที่มีคะแนนมากที่สุดในฝั่งของบัญชีรายชื่อ
ทั้งที่หากไม่มีระบบนี้แล้วกลับไปเป็นระบบแบบเดิมคือไม่มีบัญชีรายชื่อ พรรคคนรุ่นใหม่จะเป็นเพียงพรรคระดับกลาง คือมีเสียงแค่สามสิบเสียงจาก ส.ส.ในสังกัดที่ชนะในพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่พรรคระดับสามของประเทศดังที่เป็นอยู่

นอกจากนั้นแล้ว ความผิดพลาดของฝั่งพรรคที่เคยมีคะแนนเสียงมากที่สุดที่ไม่ตัดสินใจส่งผู้สมัครอีกร้อยเขตในนามพรรคตนเอง แต่กลับปล่อยให้พรรคพันธมิตรไปลงในพื้นที่นั้น แล้วพรรคดังกล่าวล้มคว่ำลงในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งก็มีส่วนทำให้พรรคคนรุ่นใหม่ได้รับคะแนนอีกจำนวนไม่น้อยเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตามการอธิบายความถึงความสำเร็จของพรรคคนรุ่นใหม่นี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ไปทั้งหมด สิ่งที่น่าจะอธิบายเพิ่มเติมก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงโดยคนรุ่นใหม่มักจะเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ และการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของฝ่ายปฏิปักษ์คนรุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างเป็นระบบ และบ่อยครั้งยึดกุมอำนาจรัฐเอาไว้ด้วย

ประการต่อมา การวิเคราะห์แบบการเมืองเรื่องรุ่นนั้นอธิบายไม่ค่อยได้ว่า คนที่มองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ เหตุใดวันหนึ่งจึงกลายตัวเองเป็นคนรุ่นเก่าที่มีอุดมการณ์การเมืองไม่ใหม่อีกต่อไป หรือบางทีกลายตัวเองเป็นพลังฝ่ายอนุรักษนิยมของคนรุ่นถัดมา หรือแม้กระทั่งคนที่มองว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่นั้น เอาเข้าจริงรับฟังและยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อตนเองนั้นขึ้นมามีอำนาจ สิ่งนี้เป็นวัฏจักรหรือไม่ (หมายถึงมีหนุ่มก็ต้องกลายเป็นแก่เข้าสักวัน)

ข้อถกเถียงในการวิเคราะห์การเมืองด้วย ช่วงวัย (life course) และ รุ่น (generation) เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้วในวงการรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา นักวิชาการกลุ่มหนึ่งมองว่าคนเราเมื่อเข้าสู่วัยวัยหนึ่งจะมีความต้องการแบบหนึ่ง และเมื่อเข้าอีกวัยหนึ่งจะมีความต้องการที่แตกต่างไป แนวคิดนี้ทำให้เห็นว่าคนแก่อาจจะอยากได้นโยบายบางอย่าง คนรุ่นใหม่อาจอยากได้นโยบายบางอย่าง

ขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่า การเมืองนั้นเป็นเรื่องของรุ่น และรุ่นนั้นจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเป็นเรื่องของจุดยืนและทรรศนะทางการเมืองที่เกิดจากการปะทะประสานกันกับเงื่อนไขทางอุดมการณ์ การเมือง และประวัติศาสตร์ที่พวกเขาประสบมา นอกจากนี้บางส่วนยังเชื่อว่าจุดยืนทางการเมืองของคนพวกนี้ไม่เปลี่ยนง่ายๆ และจุดยืนที่มีในสมัยที่ก้าวเป็นวัยรุ่น หรือมีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างจริงจังครั้งแรกต่างหากที่กำหนดความคิดความฝันและจุดยืนทางการเมืองของพวกเขาไปตลอดชีวิต แนวคิดในแบบนี้จะให้ความสำคัญว่ารุ่นแต่ละรุ่นนั้นไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองง่ายๆ เพียงแค่ตอบสนองวัยของตนเอง

แต่หมายถึงการที่พวกเขาต้องเผชิญ ปะทะ ประสาน กับรุ่นอื่นๆ หรือความคิดอื่นๆ ในสังคมเสียมากกว่า

แม้ว่าจะมีความพยายามในการหลอมรวมเอาทั้งสองแนวคิด คือการเมืองเรื่องช่วงวัย กับเรื่องรุ่นเข้าด้วยกัน สิ่งที่น่าเรียนรู้ก็คือเราไม่ควรหมกมุ่นเรื่องการเมืองของรุ่นของวัยเพียงแค่จัดตารางทางประชากรศาสตร์ หรืออธิบายเรื่องราวของรุ่นเพียงแค่มุมมองในระดับกว้าง

แต่เราควรจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจว่า แต่ละรุ่นแต่ละวัยนั้นเขามีเรื่องราวอะไรที่เขาเห็น เขาเล่า เขาเรียนรู้ คือมองจากมุมมองของพวกเขาเองมากกว่าการมานั่งพรรณนาว่า เรารู้ดีไปเสียหมดว่าคนแต่ละรุ่นแต่ละวัยนั้นมีความเหมือนกันไปเสียทั้งหมด

ในอีกทางหนึ่งสิ่งที่จะต้องแสวงหาและสร้างสรรค์ขึ้นมาก็คือ การที่เมื่อการเมืองกลายเป็นถูกแบ่งออกเป็นเรื่องของรุ่นของวัยไปหมด คำถามหลักของการเมือง และประชาธิปไตยก็คือว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และเราจะสามารถสร้างและสถาปนาความเป็นองค์รวม และตัวตนทางการเมืองในแบบส่วนรวมได้อย่างไร เพราะประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความแค่ประชาชน และเสียงข้างมากเท่านั้น แต่ยังต้องหมายความไปถึงเรื่องของ self-government ที่แปลว่าเราจะร่วมกันเป็นองคาพยพเดียวที่จะปกครองตัวเรากันเองได้อย่างไร

ในแง่นี้การเมืองและประชาธิปไตยจึงไม่ใช่แค่การเข้าสู่อำนาจรัฐของคนกลุ่มเดียว การกันคนอื่นออกจากชุมชนการเมือง หรือการไม่มีการแข่งขัน ขัดแย้ง แต่อาจจะต้องหมายรวมถึงการจัดวางสมดุลของแต่ละฝ่ายในการร่วมกันใช้อำนาจด้วยข้อตกลงร่วมกันด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image