รุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ในยุค Disruption

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ไปร่วมเป็นหนึ่งในผู้บรรยายในงานสัมมนาระดับโลกที่จัดในประเทศไทยชื่อ Rise Corporate Innovation Summit (CIS) งานนี้นอกจากจะมีนักคิด นักเขียน นักเทคโนโลยี นักลงทุนระดับโลก มาแล้วยังมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเป็นการรวมตัวกันของบริษัท/ธนาคารขนาดใหญ่และฝ่ายสตาร์ตอัพ    มาคุยกันว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่มาแต่เก่าก่อนกับสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ไฟแรงจะร่วมมือ เรียนรู้จากกันอย่างไรเพื่อสร้างนวัตกรรมและปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทัน

เวทีนี้ได้สะท้อนให้เห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลกของนวัตกรรมและสตาร์ตอัพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

ศึกระหว่างรุ่น (สมัยก่อน)
หากย้อนไปเพียงไม่กี่ปีที่แล้วเส้นเขตแดนแบ่งระหว่างบริษัทเก่าแก่และสตาร์ตอัพชัดเจนและหนากว่านี้มาก บริษัทใหญ่ ธนาคาร ถูกมองเป็นเสมือนผู้ใหญ่ที่มีอำนาจปกครองเพียงเพราะเกิดมาก่อน แต่ปัจจุบันตามกระแสเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไม่ทัน ตกยุครอที่จะถูกป่วน (Disrupt) จากสตาร์ตอัพ ส่วนสตาร์ตอัพถูกมองจากรุ่นใหญ่เป็นตัวป่วน (Disruptor) ที่จะมาทำลายโลกที่ตนเองคุ้นเคยโดยไม่สนใจประสบการณ์ที่สะสมมานานปี แม้แต่ บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่วันนี้คงไม่มีใครรู้จักก็เกิดขึ้นมาด้วยส่วนหนึ่งต้องการจะล้มล้างระบบการเงินแบบเก่าที่มีธนาคารกลางเป็นหัวใจ

เสมือนสงครามระหว่างระบบเก่ากับคลื่นลูกใหม่ที่เห็นได้ทั่วโลก สองฝั่งมีอุปนิสัยวัฒนธรรมและความคิด  แตกต่างกันจนทำให้คิดกันไปว่าไม่สามารถทำงานร่วมกันได้และสู้กันด้วยทัศนคติที่ว่า “เสือไม่สามารถอยู่ถ้ำเดียวกันได้” ต้องมีใครสักฝั่งเป็นผู้ไป

Advertisement

ฝ่ายสตาร์ตอัพมักใช้ยุทธศาสตร์เสริมจุดแข็งมากกว่ากลบจุดอ่อน ใช้ความเร็ว คล่องแคล่วขี่คลื่นแห่งเทคโนโลยีกะชนะศึกก่อนจุดอ่อนตนเองจะเปิด ฝ่ายธุรกิจดั้งเดิมบ้างก็ปรับตัวบ้างก็ใช้ “เกราะ” ที่เรียกว่ากฎกติกาการควบคุมของรัฐบาล (regulation) ในการชะลอการบุกเข้ามาของสตาร์ตอัพ ซึ่งหลายครั้งก็ได้ผล    เพราะสตาร์ตอัพจำนวนมากยังไม่ค่อยมี “กล้ามเนื้อ” ส่วนที่ใช้ดูแลเรื่องกฎกติกาที่มักจะซับซ้อนและไม่เอื้อกับธุรกิจใหม่

ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นวันนี้
เวลาผ่านไปไม่กี่ปีทั้งสองฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด สตาร์ตอัพได้เรียนรู้ว่าสามารถขยายธุรกิจและนำการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมากกว่าหากร่วมมือกับบริษัทดั้งเดิม ยกตัวอย่างในวงการฟินเทค สตาร์ตอัพจำนวนมากได้เบนเข็มจากการแข่งกับธนาคารและสถาบันการเงินไปเป็นผู้ให้บริการตอบโจทย์เรื่องเทคโนโลยี (technology solution provider) ให้กับธนาคาร ความเห่อ Bitcoin ว่าจะมาแทนที่ระบบการเงินโลกเริ่มจืดจางลงแต่ฟินเทคสายนี้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ของ Bitcoin ไปแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับทั้งธนาคาร บริษัทข้ามชาติและแม้แต่ภาครัฐ แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีการทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ในโครงการที่ชื่อ อินทนนท์

ฝั่งบริษัท “รุ่นใหญ่” เรียนรู้ว่าสตาร์ตอัพที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่ “ต้นตอ” ของการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเพียง “สัญญาณ” ของการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หยุดพวกเขาได้ก็ไม่สามารถสกัดการเปลี่ยนแปลงได้ ในทางกลับกันหากดึงคลื่นลูกใหม่เหล่านี้มาเป็นพวกได้นอกจากจะได้คู่หูคู่คิดด้านเทคโนโลยีมาแล้วยังสามารถใช้เป็น “ยากระตุ้น” ให้องค์กรเราปรับตัวให้คล่องแคล่วขึ้นได้อีก บริษัทและธนาคารขนาดใหญ่จึงได้ต่างทำ Accelerator ศูนย์บ่มเพาะสนับสนุนสตาร์ตอัพ ตั้ง Corporate Venture Capital เพื่อลงทุนในธุรกิจที่เสริมกันและกัน หรืออย่างน้อยก็สร้างพันธมิตรกับสตาร์ตอัพในสาขาต่างๆ

Advertisement

อย่าชนะศึกแต่แพ้สงคราม
ทั้งสองฝั่งต่างได้ตระหนักว่าศึกระหว่าง “รุ่น” นี้สู้กันไปยิ่งรุนแรงยิ่งเปลืองตัว ถึงชนะศึกก็อาจกลายเป็นแพ้ “สงคราม” กันทุกคน เพราะทุกคนกำลังเผชิญกับ “ข้าศึก” เดียวกันคือ การเปลี่ยนแปลงของโลก ที่โถมเข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรงในยุคดิจิทัล ดังคำกล่าวของ Graeme Wood ที่ว่า “โลกไม่เคยแปรผันรวดเร็วขนาดนี้ และจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าเช่นนี้อีก” ทุกบริษัท ทุกองค์กร ไม่ว่าจะรุ่นไหนต้องเข้าใจกระบวนการปรับตัวและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ไม่ตกขบวนรถไฟแห่งเทคโนโลยี

Dan Roam นักคิดและผู้เขียนหนังสือ best seller ระดับโลก เช่น The Back of the Napkin ได้พูดไว้น่าสนใจในงาน CIS ว่ากระบวนการสร้างนวัตกรรมมีสองแบบ แบบแรกคือ Pattern breaking หรือการปฏิวัติวงการ “ฉีกตำราเก่า” ที่จะโดดเด่นเห็นชัด แต่ยังมีอีกวิธีคือ Pattern optimizing หรือการค่อยๆ ปรับปรุงพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ เป็นวิวัฒนาการที่ไม่เด่นเท่าการปฏิวัติวงการ แต่ที่สำคัญคือเราจำเป็นต้องมีทั้งสองแบบ เช่นเดียวกับ “การหายใจ” ที่มีทั้ง เข้าและออก ขาดกันไม่ได้อาจแปลว่าสตาร์ตอัพต้องเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางครั้งต้องใจเย็นใช้ความอดทนค่อยวิวัฒนาการไป บริษัทใหญ่ต้องปรับทัศนคติให้เข้าใจว่าบางครั้งอาจต้องรื้อกรอบเดิมๆ เปลี่ยนมุมมอง ฉีกตำราดูบ้าง

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกวันนี้บริษัท-สตาร์ตอัพจับมือกันหมด จนไม่มีการแข่งขัน หากแต่มิติของการแข่งขันเปลี่ยนไปโดยไม่ได้แบ่งเส้นด้วย “รุ่น” ยกตัวอย่างในประเทศจีนปัจจุบันไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Alibaba (เจ้าของ Ant Financial ที่ทำอาลีเพย์) หรือ Tencent (เจ้าของ Wechat และวีแชตเพย์) แข่งกับธนาคารต่างๆ แต่กลายเป็นทั้งสองค่ายต่างก็จับมือกับสถาบันการเงินต่างๆ แล้วแข่งกัน แต่ละฝั่งมีทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ โดยเทรนด์นี้มีให้เห็นในอาเซียนและประเทศไทยเช่นกันไม่ใช่แค่ในประเทศจีน

สะพานเชื่อมรุ่นในองค์กร
และในแต่ละองค์กรเอง การสร้าง “สะพานเชื่อมรุ่น” กลายเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่รอด เพราะในยุคแห่ง Data นี้ข้อมูลคืออำนาจ บริษัทสตาร์ตอัพ คนรุ่นใหม่ มักเชี่ยวชาญคุ้นเคยกับการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลมหาศาลในยุคดิจิทัลมากกว่าคนรุ่นก่อน หากผู้ใหญ่ปิดโอกาสคนรุ่นใหม่เพียงเพราะวัยวุฒิ หรือความด้อยประสบการณ์ องค์กรนั้นย่อมเหมือน “ปิดตา” ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงและองค์กรความรู้ใหม่ๆ ทำให้ตกยุค ในขณะเดียวกันหากคนรุ่นใหม่มองคนรุ่นใหญ่เป็นเพียง “ไดโนเสาร์” ที่ไม่มีประโยชน์ องค์กรนั้นอาจมีตาแต่กลับโยนทิ้งข้อมูลและองค์ความรู้ที่อยู่ใน “เมมโมรี” ที่สะสมมาและอาจมีประโยชน์ในปัจจุบัน

แม้แต่ในวงการเทคโนโลยีที่เรามักจะคิดว่ามีแต่เจ้าของที่เด็กและจ้างแต่คนอายุน้อยก็มีการเปลี่ยนแปลง   การศึกษาโดยศาสตราจารย์ Benjamin F. Jones จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง Kellogg ของ Northwestern   พบว่าแท้จริงแล้วผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมักจะอยู่ในวัยกลางคน คนอายุช่วง 50 ปี มีโอกาสสร้างบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่าคนวัย 30 ปี ถึง 1.8 เท่า แม้แต่ Steve Jobs เองก็ริเริ่ม Iphone ตอนอายุ 50 กว่าแล้ว ในบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์น (มูลค่าเกินพันล้านเหรียญสหรัฐ) ทุกวันนี้แม้อายุพนักงานเฉลี่ยจะค่อนข้างต่ำก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปที่จะจ้างรุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์เกิน 15-20 ปี เข้ามาเสริมทัพ

ดังที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต” คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ารุ่นใหญ่หรือรุ่นใหม่เป็น “ฝ่ายชนะ” แต่ผู้ชนะที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อองค์กร กลุ่มบริษัท หรือสังคม ที่สามารถสร้างสะพานเชื่อมรุ่นดึงศักยภาพของคนทุกรุ่นออกมาได้เต็มที่

เมื่อเรารู้ว่ามีสงครามใหญ่ที่สำคัญกว่าศึกระหว่างรุ่น
เมื่อเราตระหนักว่า อาจมีความเหมือนในความต่างกว่าที่คิด
เมื่อเรายอมรับว่าแตกต่างไม่จำเป็นต้องแตกแยก
และเปลี่ยนความแตกต่างเป็นพลังสร้างสรรค์ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image