สูตร ส.ส. …เรื่องง่ายๆ ทำให้ยาก : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำคู่มือประชาชนรณรงค์เผยแพร่ แจกจ่ายไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกครัวเรือน

ข้อความในหน้า 4 ของคู่มือ กล่าวถึง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนี้

พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละ 1 บัญชี มีจำนวนไม่เกิน 150 คน โดยรายชื่อต้องไม่ซ้ำกับพรรคอื่นหรือซ้ำกับแบบแบ่งเขต

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีจำนวน 150 คน มาจากบัญชีรายชื่อแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ที่พึงจะได้รับโดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

Advertisement

1.นำคะแนนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกคนของทุกเขตเลือกตั้งและทุกพรรคที่ส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อ หารด้วยจำนวน ส.ส.คือ 500
2.นำคะแนนเฉลี่ยตามข้อ 1 ไปหารคะแนนของแต่ละพรรคที่ได้รับจากคะแนนของผู้สมัครแบบแบ่งเขต ผลลัพธ์ที่ได้คือ จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี
3.นำจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีตามข้อ 2 ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตของแต่ละพรรคที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

ถ้าพรรคใดได้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับหรือมากกว่า ส.ส.ที่พรรคพึงมีตามข้อ 2 พรรคนั้นจะได้ ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยจะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก

ถ้าพรรคใดได้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคพึงมีตามข้อ 2 จะได้รับการจัดสรร ส.ส.จากบัญชีรายชื่อให้ครบตามจำนวนที่พึงมี

ใครอ่านข้อความทุกประโยค ทุกตัวอักษรที่ยกมาอ้างถึงนี้จบ คงเข้าใจแจ่มชัด ตรงกันว่า คะแนนเฉลี่ยที่จะนำมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี จะได้มาตามหลักเกณฑ์ ข้อ 1 กับข้อ 2

จากตัวเลขเบื้องต้นคะแนนรวม ส.ส.แบบแบ่งเขตของทุกพรรค ทุกเขตเลือกตั้ง ที่ได้ประมาณ 35,000,000 คะแนน เมื่อหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ตัวเลขเฉลี่ยจะออก เป็น 70,000 คะแนน

จากนั้นจะเอาตัวเลข 70,000 คะแนนไปหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคที่ได้รับ ผลออกมาเป็นจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

คิดตามสูตรตามคู่มือที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแจกจ่ายนี้ ไม่น่าจะยุ่งยาก สลับซับซ้อนอะไร

แต่ภายหลังการนับคะแนนซึ่งยังไม่จบสิ้นสมบูรณ์กลับมีเสียงเรียกร้องให้ กกต.ชี้แจงวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้ชัดเจน

พร้อมกันนั้นมีข้อเรียกร้องหรือความเห็นเพิ่มมาว่า พรรคที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย หรือ ได้แค่ 30,000-40,000 คะแนน ควรมีสิทธิได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วย โดยอ้างหลักการพื้นฐานการเลือกตั้งระบบนี้ คะแนนเสียงทุกคะแนนของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีความหมาย ไม่มีคะแนนสูญหายหรือตกน้ำ ทำนองนั้น

ข้อเสนอที่ให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย 70,000 คะแนน มีสิทธิได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตด้วยนี้ จึงขัดแย้งกับข้อความในคู่มือของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างชัดเจน ซึ่งที่มาของวิธีการคิดคำนวณตามคู่มือก็มาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560

หลักการคะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธิทุกคะแนนมีความหมายได้รับการยอมรับปฏิบัติตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ตามแนวทางในคู่มือข้อ 1 นำคะแนนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกคนของทุกเขตเลือกตั้งและทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ก่อนหารด้วยจำนวน ส.ส.คือ 500 นั่นไง ชัดแจ๋ว แจ่มแจ้งอยู่แล้ว

ข้อเท็จจริงจากหลักฐานข้อความในคู่มือประชาชนประจักษ์ชัดขนาดนี้แล้ว การเรียกร้องให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยมีสิทธิได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงขัดกฎหมายและไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง

เมื่อเกิดเสียงเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้ชัดอีกครั้ง แนวทางปฏิบัติจึงไม่น่ายุ่งยากซับซ้อน
แค่นำข้อความทั้งหมดตามเอกสารคู่มือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ออกมาบอกกล่าวสาธารณชนอีกครั้ง ปัญหาความกดดันต่างๆ ก็จะลดลง ไม่จำเป็นต้องรอผลการนับคะแนนจนครบถ้วนและประกาศรับรองใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเคยพูดไว้อย่างไรก็ทำตามนั้น ปัญหาข้อนี้ก็จะหมดไป ทำเรื่องง่ายๆ ให้มันง่ายขึ้น ไม่น่าจะยากเย็น เหตุที่ไม่ออกมายืนยันสิ่งที่เคยชี้แจงแถลงไขไว้จึงเกิดแรงกดดันถาโถมเข้าใส่โดยไม่จำเป็น
ทำให้เกิดข้อวิตกสงสัย วิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้ง การนับคะแนน วิธีการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อผลทางการเมืองประการหนึ่งประการใดหรือไม่

จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการล่ารายชื่อถอดถอน ซึ่งวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่น่าจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจทั้งหลายด้วยเลย

แต่เพราะยังอมพะนำ ไม่ยอมทำให้กระจ่างในเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่อง เรื่องง่ายๆ กลายให้ยาก ผู้คนถึงก่นสวดทั่วบ้านทั่วเมือง จนถึงวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image