สื่อสงบ ลดอคติชายแดนใต้

เหตุการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี ยิ่งเวลาผ่านไปความขัดแย้งและความรุนแรงก็ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นระบบ เกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นปัจจัยแทรกซ้อนก็เหมือนจะปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกัน นั่นคือเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากแรงผลักดันภายในที่เป็นระบบ ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม นำมาซึ่งความสูญเสียในทุกๆ ด้าน ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจซบเซา การท่องเที่ยว และธุรกิจโรงแรมต่างประสบกับภาวะขาดทุน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การมีงานทำในชุมชน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อยๆ ลดลง เงียบนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงในหลายปีที่ผ่านมา

จากวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลาที่เป็นศูนย์กลางของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาที่เป็นทางออกหรือแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การพูดคุยทำความเข้าใจ สร้างความไว้วางใจ ลดอคติ ลดความรุนแรง ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกคนในชายแดนใต้

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นสถาบันการศึกษาท้องถิ่นที่ช่วยพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างประชาชนในท้องถิ่นชายแดนใต้ให้มีอาชีพ วิถีชีวิต อยู่ดีกินดี และรักถิ่นฐานตนเอง

การพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นโดยใช้ทักษะการจัดการสื่อสมัยใหม่จึงเป็นกลไกสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถจัดการกับทรัพยากรในชุมชนให้เป็นที่รู้จัก อนุรักษ์ ถ่ายทอดและสามารถเพิ่มมูลค่าให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนได้

Advertisement

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นหน่วยงานทางการศึกษามีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการผลิตบัณฑิตและให้บริการทางวิชาการชุมชน การให้บริการทางวิชาการของคณะวิทยาการจัดการมีนโยบายที่มุ่งเน้นการบูรณาการศาสตร์ โดยการนำศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันได้ตรงกันกับความต้องการของชุมชน เช่น การจัดการการท่องเที่ยว การส่งเสริมการเรียนรู้ การสื่อสารสร้างการรับรู้

การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน มาทำงานร่วมกันสรรค์สร้างเรื่องราวในพื้นที่ร้อยเรียงเล่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของชุมชนโดยชุมชนจัดการแบบมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน

อีกทั้งมีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างครุศาสตร์ นิเทศศาสตร์ รวมถึงวิทยาการจัดการ มีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนที่ไม่ได้เน้นเฉพาะเชิงเทคนิคที่จำเป็นในสาขาวิชาหรือการสอนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นการใช้พื้นที่ชุมชนเป็นสนามการเรียนรู้ ให้นักศึกษาลงไปเก็บข้อมูลชุมชนมาบูรณาการเข้ากับเรื่องที่สอน

Advertisement

ดังจะเห็นจากคลิปวิดีโอเรื่องสั้นทั้ง 25 เรื่องราว ใน 13 ตำบล 2 อำเภอ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม อาชีพท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ประจำตำบล แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต ในจังหวัดยะลา เช่น

-การแข่งขันไก่แจ้ เป็นกีฬาที่เกิดขึ้นใหม่ในภาคใต้ของประเทศไทยที่ใช้ต้นทุนน้อยและสนุกสนาน สามารถสร้างอาชีพหรือรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ จากไก่ที่ขายได้ตัวละ 100 บาท กลับทำให้ราคาสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญยังเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความรักความสามัคคีของผู้คนในสังคม

-บาตูแนแซ คือป้ายหรือหินที่ปักหลุมฝังศพ เพื่อทำสัญลักษณ์ให้รู้ว่าพื้นที่นี้มีศพฝังอยู่ และเป็นการบันทึกวันที่เสียชีวิตของผู้ที่เสียชีวิต เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าเสียชีวิตวันที่เท่าไรในเดือนไหน บาตูเเนเเซสามารถประดับหรือแกะสลักลวดลายต่างๆ ที่สวยงามบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่

-ลอปะตีแก ขนมพื้นบ้านที่อยู่คู่ตำบลลิดลมาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นเกือบ 70 ปี ทำจากส่วนผสมหรือวัตถุดิบจากในพื้นที่โดยเฉพาะใบเตย และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายด้วยเพราะรสชาติที่อร่อย หอมหวาน ลอปะตีแกจึงเป็นของหวานที่เคียงคู่มื้ออาหารหลักของทุกครัวเรือน สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ที่ได้ลิ้มลอง และสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

-ปืนยิงปลาหรืออาวุธดำรงชีพ สำหรับชาวประมงหรือคนที่ชอบหาปลาเป็นงานอดิเรก ปืนยิงปลาเป็นเครื่องมือที่มีมาตั้งแต่อดีตและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ปืนยิงปลาในตำบลยุโปมีจุดเด่นที่ลวดลายมีความละเอียดสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ และที่สำคัญเป็นงาน Handmade เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบสะสม หรือมอบเป็นของกำนัลให้กับแขกผู้มาเยือนที่ยุโป

สําหรับวิดีโอเรื่องสั้นทั้ง 25 เรื่องราวในโครงการ “ชม” สื่อนั้น เป็นการลงพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างเด็กนอกระบบกับเด็กในระบบระดับอุดมศึกษา ตลอดจนขยายไปยังเด็กนักเรียนประถมศึกษา เป็นการดึงเด็กในระบบ นอกระบบให้หันมาทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ มีการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกลุ่มบุคคลทำงาน กลุ่มเยาวชน รวมไปถึงกลุ่มฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายอารี หนูจูสุง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล อัยเยอร์เวง อาจารย์มานะ ป.ปาน ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลยุโป ในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ให้ความร่วมมือ ปรับกระบวนการทางความคิด เปิดมุมมองแนวใหม่ที่ไม่ได้มองเฉพาะแต่เรื่องความมั่นคงแต่มองการพัฒนาตัวเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

เกิดการสร้างกิจกรรมและเปิดพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ สร้างโอกาสในการดึงเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบให้มีส่วนร่วม หาทางออกระหว่างทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ มหาวิทยาลัยท้องถิ่น ชุมชน เด็กและเยาวชน ใช้การเรียนรู้ การปฏิบัติ การสร้างแรงบันดาลใจ ความชอบในเรื่องทักษะเทคโนโลยี สร้างสารคดีเรื่องราวเป็นตัวเชื่อมของคนในชุมชน สร้างหลักสูตรภูมิสังคมเน้นการฝึกปฏิบัติลงพื้นที่มากกว่าเนื้อหาวิชาการ

นำสารคดี 25 เรื่องเชื่อมโยงแผนที่ท่องเที่ยว ถนนหลายสายจากอำเภอเมืองสู่อำเภอเบตงที่น่าเยี่ยมชม ลดอคติมายาที่อยู่ในใจ ดังเช่น การถ่ายทำสารคดีที่นักศึกษาต้องแบกกล้องใส่กระเป๋าไปถ่ายทำ กลับถูกมองว่ามีอาวุธร้ายแรงอยู่ในกระเป๋า ทำให้ถูกเข้าใจโดยมีอคติ และถูกตรวจค้นจากฝ่ายความมั่นคง หรือเรื่องราวที่นักศึกษานำน้ำบูดูขึ้นเครื่องบินในปริมาณที่ไม่เกินจากที่กำหนด แต่กลับถูกมองว่านำของเหลวที่สามารถผสมจนทำให้เกิดระเบิดได้ เรื่องราวดังกล่าวนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ไม่น่าเกิดขึ้น แต่บานปลายไปสู่การขยายการรับรู้ที่เพิ่มความไม่เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย

หากทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ เปิดมุมมอง ปรับกระบวนทางความคิด ลดความระแวง ที่มีอยู่ในตัวต่อเด็กและเยาวชนในชายแดนใต้ จะถือว่าเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่ช่วยลดอคติที่มีต่อเด็กและเยาวชนในชายแดน สร้างความไว้วางใจ นำไปสู่การเปิดมุมมองใหม่อย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนขยายสู่การแก้ปัญหาอีก 2 จังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี

ดังจะเห็นว่าหากทุกฝ่ายได้แก่ กลุ่มบุคคลทำงาน กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มฝ่ายความมั่นคง รวมไปถึงมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นดึงเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับชุมชน ช่วยแก้ปัญหาและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยปราศจากอคติที่แท้จริง เปิดมุมมองการทำงานแบบใหม่ เข้าถึงการทำงานของกลุ่มคนทำงาน

พื้นที่ชายแดนใต้ก็จะไม่ใช่พื้นที่หาผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลที่อาศัยสถานการณ์สร้างข่าวให้น่ากลัว แต่เป็นพื้นที่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งความรู้ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ชุติมา ชุมพงศ์

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการ ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image