อาศรมมิวสิก : ดนตรีคลาสสิก อนาคตที่ยากแก่การคาดเดา

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น ผู้เขียนเป็นแฟนตัวยงของรายการ “เพลงเพลินใจ” (รายการเพลงคลาสสิกทางสถานีวิทยุ) ของคุณพิชัย วาศนาส่ง จำได้แม่นว่าท่านมักจะพูดอยู่เสมอๆ “ในทำนองที่ว่า” ดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีอมตะที่ไม่มีวันตาย และจะอยู่คู่โลกนี้ไปตราบนานเท่านาน หากท่านทั้งหลายลองหลับตานึกย้อนหลังไปในสังคมยุคก่อนปี พ.ศ.2530 ได้ก็คงจะไม่กล้าโต้แย้งคำพูดนี้เลย

ในยุคนั้นพวกเราต่างมองดูว่าดนตรีคลาสสิกจะอยู่คู่โลกไปตราบนานเท่านานจริงๆ และวงซิมโฟนีออเคสตราก็คือ สื่อในการถ่ายทอดบทเพลงคลาสสิกที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยจินตนาการอันวิจิตรบรรจงและซับซ้อน ไม่ค่อยมีใครไหวตัวกันนักว่า วงออเคสตราชั้นดีที่ต้องเลี้ยงดูนักดนตรีชั้นครูราวๆ 100 ชีวิตในแต่ละวงนั้น จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการดำรงอยู่ของศิลปะดนตรีที่เก่าแก่ของมนุษยชาติชนิดนี้ในกาลต่อมา

ดนตรีคลาสสิกนั้นเสมือน ปรัชญาหรือแม้แต่ศาสนาที่มีคุณค่าในตัวเองอย่างแน่ชัดอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการดำรงอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การดำรงอยู่อย่างมีความหมายต่อวิถีชีวิตและสังคมร่วมสมัยอย่างแท้จริง

ซึ่งเมื่อพูดถึงประเด็นนี้แล้ว ก็คงน่าที่จะหยิบยกเอา สาระความคิดของ “นิโคเลาซ์ อาร์นองกูท์” (Nikolaus Harnoncourt) วาทยกร, นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรีย ที่กล่าวว่า นับแต่ยุคมัธยสมัย (Middle Ages) มาจนถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ดนตรีเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งต่อวัฒนธรรม, สังคมในชีวิตประจำวัน แต่ทุกวันนี้เราใช้ดนตรีเป็นเพียงสิ่งประดับเพิ่มเติม, ตกแต่งให้กับชีวิต

Advertisement

ความย้อนแย้งเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อเสียงดนตรีที่มีดาษดื่นมากขึ้นในปริมาณ (โดยเฉพาะจากสื่อชนิดต่างๆ) กลับทำให้ดนตรีลดความหมายในชีวิตอันแท้จริงลงไป ดนตรีกลายเป็นเสียงที่ใช้ลดความเงียบเหงาในชีวิตเท่านั้น

ดนตรีคลาสสิกที่มีลักษณะพื้นฐานโดยธรรมชาติในตัวของมันเอง ที่อยู่ในลักษณะ “Serious Music” (หมายถึงดนตรีที่ต้องใช้สมาธิทุ่มเทในการฟังอย่างแท้จริง มิได้หมายถึง “ดนตรีเคร่งเครียด”) จึงเริ่มดำรงอยู่ได้ยากมากขึ้นในโลก, ในสังคมที่ผู้คนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการเคลื่อนไหวทั้งทางกายและจิตใจอย่างไม่ได้หยุดนิ่งนับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นจนหลับตานอนไปอีกครั้งในยามสิ้นวัน

การจะต้องหยุดกิจกรรมเคลื่อนไหวทั้งกาย, ใจทั้งหมดให้นั่งอยู่เฉยๆ นิ่งๆ เพื่ออุทิศสมาธิ, จิตใจทั้งหมดให้กับเสียงดนตรีจึงดูจะฝืนธรรมชาติกับโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งจนแนวโน้มภาวะสมาธิสั้นของผู้คนดูจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไปเสียแล้ว

Advertisement

ประเด็นที่น่าคิดก็คือลักษณะแนวโน้มการมีสมาธิสั้น (สนใจอะไรได้ไม่นาน) นี้ เป็นปัญหาในการดำรงชีวิตของมนุษย์หรือไม่ ถ้าเราถือว่าการมีสมาธิสั้นไม่ใช่ปัญหา เป็นเพียงแค่ลักษณะธรรมดาๆ ของวิถีชีวิตในปัจจุบัน ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเราเริ่มมองว่าภาวะสมาธิสั้นเป็นปัญหาแล้ว ดนตรีและศิลปะนั่นแหละคือกุศโลบายอันสำคัญอย่างหนึ่งในอันที่จะเป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิ, ความสนใจของมนุษย์ให้ดำดิ่งลึกซึ้งผสมผสานกับธรรมชาติมากขึ้น และยังดึงชีพจรความคิด (ที่อาจฟุ้งซ่าน) ของมนุษย์ให้ช้าลงหรือหยุดนิ่ง นั่นคือการฝึกลักษณะการคิดใคร่ครวญ, ไตร่ตรองในตนให้มากขึ้น

วิสัยทัศน์ที่ว่านี้เองเป็นคุณค่า, เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการถ่ายทอดส่งผ่านกันแบบรุ่นต่อรุ่น ด้วยการเห็นถึงความสำคัญในกุศโลบายทางการศึกษานี้เอง การธำรงรักษาดนตรีคลาสสิกให้ผ่านเข้าสู่ยุคสมัยที่ชีพจรชีวิตมนุษย์เต้นเร็ว-สับสนในโลกและสังคมที่วุ่นวายมากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ดูย้อนแย้งกันอย่างมาก

อุดมการณ์, ความเชื่อในเรื่อง “คุณค่า” ของคนรุ่นเก่าที่ต้องการจะส่งผ่านมรดกทางความคิดนี้มาสู่คนรุ่นใหม่ผ่านกาลเวลา นับเป็นเรื่องที่ต้องผ่านแรงเสียดทาน, อุปสรรคนานัปการในวิถีชีวิตยุคปัจจุบัน ตัวผู้เขียนเองเคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนผู้รักดนตรีคลาสสิกด้วยกันว่า การดำเนินกิจการของวงซิมโฟนีออเคสตราชั้นดีที่จะต้องเลี้ยงดูนักดนตรีร่วมร้อยชีวิตนั้น “ในบางด้าน” ก็เปรียบเสมือนการเลี้ยงไดโนเสาร์ไว้ให้ลูกหลานได้ดูเพื่อการศึกษา (นี่อาจเป็นการเปรียบความที่ขัดต่อความรู้สึกของคนหลายคน) ไดโนเสาร์เป็นสัตว์โบราณ, ย้อนยุค ตัวใหญ่, งุ่มง่าม ข้อสำคัญก็คือ กินจุ, ดูแลยากและเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสูง แต่ก็คุ้มค่าถ้าหากเราสามารถเลี้ยงดูให้มันมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างสง่างามในโลกยุคปัจจุบัน

ความยากและแรงเสียดทานต่อการดำรงอยู่ของวงออเคสตรา ซึ่งใช้เป็นสื่อ, เครื่องมือในการถ่ายทอดความงามของดนตรีคลาสสิก เริ่มสะท้อนให้เห็นชัดเจนมากขึ้นๆ ในช่วงราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2530 “เออร์เนสท์ ไฟลช์มันน์” (Ernest Fleischmann) ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนดูแลของวงลอสแองเจลิส ฟิลฮาร์โมนิกในขณะนั้น ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The Orchestra is Dead – Long Live The Community of Musicians” (วงออเคสตรากำลังจะตาย-ประชาคมศิลปินดนตรีจงเจริญ)

นั่นนับเป็นการเปิดประเด็นความคิดที่ใหม่และแรงทีเดียวในตอนนั้น ส่งผลให้เกิดการสัมมนาใหญ่ในอีกราวเกือบ 2 ปีต่อมาในหัวข้อ “The Symphony Orchestra : Dead or Transfiguration?” (วงซิมโฟนีออเคสตรา : มรณกรรมหรือการเปลี่ยนผ่าน?) มีบุคคลสำคัญในวงการดนตรีเข้าร่วมมากมาย ทั้งศิลปินดนตรี, ผู้บริหารในวงออเคสตรา, นักวิชาการ, นักวิจารณ์-สื่อมวลชน ตลอดไปจนถึงวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “ควร์ท มาซัวร์” (Kurt Masur)

การสัมมนานี้จัดขึ้นที่ สถาบันดนตรีแห่งเมืองคลีฟแลนด์ (Cleveland Institute of Music) ได้แนวทางแก้ไขปัญหาและข้อสรุปมากมาย ซึ่งที่สำคัญมากประการหนึ่ง (และกำลังถือเป็นมาตรการอันสำคัญยิ่งในทุกวันนี้ทั่วโลก!)

นั่นก็คือ “การพยายามสร้างผู้ฟังหน้าใหม่” ที่มีความสำคัญเปรียบเสมือนการสร้างนักดนตรีที่ดีทีเดียว

ในปี พ.ศ.2539 “นอร์แมน เลเบรชท์” (Norman Lebrecht) นักวิจารณ์ดนตรีระดับโลกชาวอังกฤษ สร้างความฮือฮาครั้งใหญ่ ด้วยผลงานหนังสือที่เขาเขียนที่ใช้ชื่อว่า “When the Music Stop” (ซึ่งตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาในชื่อที่ท้าทายกว่าว่า “Who Kill Classical Music?”) สะท้อนปัญหาใหญ่ที่ซุกไว้ใต้พรมของวงการดนตรีคลาสสิกและอุปรากรตะวันตก เมื่อคอนเสิร์ตสาธารณชน (Public Concert) ที่เริ่มก่อกำเนิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้พัฒนาเติบโตทางธุรกิจเรื่อยมา จนเริ่มเกิดภาวะพองตัวอย่างไร้ขอบเขต จนเริ่มเกิดเป็น “ฟองสบู่แตก”

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 บรรดาคนกลาง, ตัวแทนศิลปิน (Agency) ทั้งหลายที่เข้ามากุมอำนาจในการบริหารจัดการแสดงคอนเสิร์ตและอุปรากร ปั่นค่าตัวดาราสูงลิ่วจนวงออเคสตราหลายวงต้องล้มพับกิจการไปในที่สุด ในวงการดนตรีคลาสสิกระดับนานาชาติ นอร์แมน เลเบรชท์ ผู้ออกมาตีแผ่ ปัญหาซุกใต้พรมที่ว่านี้ อาจดูเป็นแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ “ในบางด้าน” ของวงการ แต่เขาก็เป็นเสมือนดาบสองคม, เหรียญสองด้านอันเป็นธรรมดาโลกที่ไม่มีใครดีไปทั้งหมดทุกเรื่อง แต่ในผลงาน “ใครฆ่าดนตรีคลาสสิก?” นั้น

ผู้เขียนขอเลือกยืนเคียงข้างเขา เพราะในเรื่องนี้เขาปกป้องดนตรีคลาสสิกโดยปราศจากเงื่อนไขและเหตุผลอื่นอย่างแท้จริง

ปัญหา “ฟองสบู่แตก” ในวงการดนตรีที่เขานำเสนอไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เริ่มออกดอก, ออกผลให้เห็นชัดเจนในช่วงราวหลังคริสต์ศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านมานี้ วงซิมโฟนีออเคสตราชั้นนำทั้งหลายโดยเฉพาะในสหรัฐต้องประสบปัญหานี้เป็นอย่างมาก บางวงต้องเผชิญวิกฤตถึงขั้นต้องปิดวงชั่วคราว แพแตก ก่อนที่จะต้องมีการเจรจาต่อรอง ระหว่างฝ่ายบริหารจัดการและกลุ่มสหภาพแรงงานนักดนตรี (อาทิ วง Atlanta Symphony และวง Minnesota Orchestra) ซึ่งผลที่ออกมาก็คล้ายๆ กันคือ การลดขนาดวงดนตรีด้วยการลดการว่าจ้างนักดนตรีประจำวง ไปจนถึงขั้นลดเงินเดือนและสวัสดิการเพื่อความอยู่รอด (ของสายพันธุ์ไดโนเสาร์?)

และที่ดูว่ากำลังร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ก็เห็นจะไม่มีใครเกินวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับวง “ชิคาโก ซิมโฟนีออเคสตรา” (CSO) วงที่ได้ชื่อว่าเป็นหมายเลข 1 ของสหรัฐ และแทบจะกล่าวได้โดยไม่ผิดเลยว่าเป็น 1 ใน 5 ของวงที่ดีที่สุดในโลก กำลังเผชิญวิกฤตหนักที่สุดในรอบเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา นักดนตรีในวงนัดหยุดงานจนต้องมีการยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ตไปหลายรายการ ซึ่งแน่นอนที่สุดมันย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรในอนาคต เมื่อวงที่ได้ชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่สภาพกระเป๋าสตางค์ในปัจจุบัน ไม่พองโตเท่าวงที่เคยได้ชื่อว่าเล็กกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับวงลอสแองเจลิส ฟิลฮาร์โมนิก และ ซานฟรานซิสโก ซิมโฟนี ที่เคยด้อยกว่าในอดีต แต่ปัจจุบันมีสถานะทางการเงินที่มั่งคั่งกว่า สามารถหยิบยื่นข้อเสนอทางการเงินและสวัสดิการที่ดีกว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่เปิดกว้าง ข้อเสนอทางการเงินและสวัสดิการที่ดีกว่าย่อมมีแรงดึงดูดนักดนตรีที่มีฝีมือดีๆ ให้เข้ามาร่วมงานได้มากกว่า

นั่นคือมีโอกาสเลือกคนดีมีฝีมือเข้ามาร่วมงานในวงได้ก่อนวงอื่นๆ

จนล่าสุดเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 8 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง กลุ่มสหภาพนักดนตรีในวง CSO ยังคงปฏิเสธข้อตกลงแรงงาน ที่ทางคณะผู้บริหารประกาศว่ามันคือ “ข้อเสนอครั้งสุดท้าย ที่ดีที่สุดแล้ว” (last, best and final offer) ซึ่งทางสหภาพแรงงานมองว่าคณะผู้บริหารกำลังทอดทิ้งให้วง CSO เข้าสู่สภาวะถดถอยล้าหลังกว่าวงอย่างลอสแองเจลิสและซานฟรานซิสโก โดยเฉพาะข้อเสนอที่ปฏิเสธการประกันรายได้บำนาญผลประโยชน์หลังเกษียณอายุต่อสมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาในวง คงไม่มีใครอยากทำงานกับองค์กรที่ไม่ดูแลผลประโยชน์หลังพวกเขาเกษียณอายุ (ถ้าพวกเขาเลือกได้)

ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้การนัดหยุดงานของนักดนตรียังคงดำเนินต่อจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ วิกฤตนี้ของวง CSO ยังไม่สิ้นสุดลง เป็นวิกฤตที่หลายวงในอเมริกาผ่านมาได้อย่างทุลักทุเลนับแต่เปลี่ยนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21

นับว่าน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยทีเดียวสำหรับการดิ้นรน ดำรงอยู่ของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของโลกชนิดนี้ โดยธรรมชาติในตัวของมันเองก็ดิ้นรนอยู่ยากเต็มทน เมื่อมันถือกำเนิดขึ้นมาในบริบททางสังคมอันเรียบง่าย ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังมีวิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบ, ไม่ซับซ้อน ในยุคสมัยนั้นดนตรีถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะสิ่งจำเป็นอันขาดเสียมิได้สำหรับชีวิต (ตราบจนถึงช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ตามความเห็นของ N.Harnoncourt) แต่ทว่าวิถีชีวิตมนุษย์ยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง

ความหมายของดนตรี (คลาสสิก) ที่เคยเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต แทบจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจสัมผัสได้, รู้สึกได้ หรือแม้แต่จะจินตนาการไปให้ถึงสำหรับคนในยุคปัจจุบัน (ที่เขามี “ของเล่น” ที่เร้าใจกว่าให้เลือกมากมาย) ความพยายามในการสืบต่อลมหายใจของไดโนเสาร์ ยังคงมีอยู่ด้วยความเห็น, ความเชื่อมั่นที่สืบต่อกันมาหลายชั่วคนว่า ดนตรีคลาสสิกเป็นสิ่งมีคุณค่าทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริงสำหรับมนุษย์ (ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด) แต่ทว่ามันจะมีความหมายอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อมันได้รับการปลูกถ่าย, ปลูกฝัง (ผู้เขียนชอบคำว่า “Cultivate” ที่มีความหมายอันเป็นเลิศกว่าในนิยามของ “การศึกษา”) เข้าไปสู่เบื้องลึกแห่งจิตใจและความรู้สึก ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียรพยายาม, ความเอาจริงเอาจังอุทิศตนให้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราคงต้องยอมรับว่าปัจจัยเหล่านี้จะหาได้ยากยิ่งขึ้นทุกทีในโลกยุคปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้จึงอาจฟังดูเป็นบทสรุปที่ยังดูจะมืดมนอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็ขอกลั้นใจนำเสนอความจริงในบางด้านให้ท่านผู้อ่านได้ร่วมคิดไปด้วยกัน ศิลปะคืออุบายที่นำมนุษย์เข้าสู่ไตรลักษณ์แห่งความเป็นเลิศอยู่แล้ว นั่นก็คือ ความดี, ความงาม และ…ความจริง (ที่เราต้องยอมรับ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image