สถานีคิดเลขที่ 12 : แก้ด้วยการเมือง

สถานการณ์การเมือง ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม ดูไม่ต่างจากห้วงประเทศ ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบพิเศษ นับเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมากระทั่งปัจจุบัน
เป็นสถานการณ์ที่ไม่ใช่ว่า ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเต็ม มิใช่แค่การรักษาการ
หากแต่ห้วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่า รัฐบาลใหม่นี้
บริบทของการต่อสู้ทางการเมือง ยังดำเนินไปในรูปแบบเดิม
จะว่าก็ไม่ต่างจากก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 อีกด้วยซ้ำ
ทั้งที่เมื่อเลือกตั้งแล้ว
เท่ากับการเห็นพ้องร่วมกันของทุกฝ่าย ที่จะใช้กระบวนการนี้เป็นทางออกในการยุติปัญหา
แต่เลือกตั้งแล้ว กลับไม่จบ ก้าวข้าม เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปกติไม่ได้
มีความพยายาม ใช้อำนาจ กลไกของข้าราชการฝ่ายประจำ เป็นเครื่องมือจัดการคู่แข่งทางการเมือง
คิดง่ายๆ ป้ายโทษ แบบที่เคยทำมาแล้ว ว่าหากไม่ผิดจะกลัวอะไร
ทิ้งภาระรกรุงรังในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตัวเองให้กับฝ่ายถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการบงการ ทำระบบเสียหาย

ก่อน คสช.ก่อการยึดอำนาจการปกครอง ล้มรัฐบาลเลือกตั้ง
บรรยากาศก็เป็นอย่างนี้
มีความขัดแย้ง แตกแยกเกิดขึ้นในบ้านเมือง มีการเสนอทางออกสันติวิธี มีการพยายามใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ปัญหา
แต่ฝ่ายมีอิทธิพลสูง เสียงดังกว่า ไม่ยอม
ระหว่างทาง มีการยืมมือองค์กรต่างๆ เข้ามาขจัดฝ่ายตรงกันข้ามตอกลิ่มความขัดแย้ง ให้ขยายวง และรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อฝ่ายถูกกระทำมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม องค์กรตัดสินปัญหาเลือกข้าง เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง เสียเอง
คสช.เองก็เคยออกคำสั่งเตือนมาแล้ว เมื่อยึดอำนาจใหม่ๆ ในนามของการขอความร่วมมือที่จะไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด แตกความสามัคคี ซึ่งอาจกระทบต่อการเข้ามาจัดการปัญหาให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

แต่จากวันนั้น จนถึงวันนี้ วันที่มีการเลือกตั้งแล้ว
หลายสิ่งหลายอย่างกลับสู่รูปรอยเดิม
เอาชนะด้วยวิธีการชอบธรรมไม่ได้ ก็ใช้วิธีการจัดการในระบบนอกระบบ
มีกองเชียร์ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าถูกต้องแล้ว เรียกร้องเดินหน้าต่อให้ถึงที่สุด มีฝ่ายสนับสนุนผู้ถูกกระทำ เห็นว่าลุแก่อำนาจปลุกจับมือต่อสู้ร่วมกัน
ยังไม่ทันไร ก็ทำท่าเกิดการเผชิญหน้า
ใครเป็นผู้สร้างเงื่อนไข จุดชนวนขัดแย้งนั้น

การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันโดยวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการบริหารบ้านเมือง
การเลือกตั้งมีแพ้-ชนะ
แพ้มาก แพ้น้อย ชนะมาก ชนะน้อย ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ มีประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
ตัดสินจากอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายที่นำเสนอ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพรรค
ผลของมันออกมาเป็นตัวเลขที่นั่งจำนวน ส.ส.
เลือกตั้งแล้วการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว
แต่ละขั้ว ต่างมีความชอบธรรมตามกติกา ในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล
ฝ่ายใดได้เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาล
เสียงข้างน้อยทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียงไม่มากพอ ก็ต้องหามาเพิ่ม โดยวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม

Advertisement

การใช้วิธีพิเศษ เขี่ยคู่ต่อสู้ให้พ้นทาง ไม่ว่าด้วยวิธีการอันใด ที่มุ่งให้เกิดความระส่ำระสาย ส่งผลได้ผลเสีย ต่อการเพิ่ม-ลดจำนวนเสียงในแต่ละฝ่าย นอกจากไม่ถูกต้อง ยังจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่
ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง
ใช้อำนาจ ยืมมือกฎหมายจัดการ แก้ไม่ได้-ไม่จบ
บทเรียนจากการเลือกตั้ง-หลักสูตรพิเศษ 4-5 ปี ก็มีให้เห็น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image