การเลือกตั้งอินโดนีเซีย บทเรียนประชาธิปไตยสำหรับผู้นำทหารและชนชั้นนำไทย : โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์

Islamist protests against Basuki in Jakarta, 31 March 2017. Photo: Wikimedia Commons

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

(17 เม.ย.) มีการเลือกตั้งทั่วไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศกว่า 193 ล้านคน โหวตเลือกทั้งประธานาธิบดี, ส.ว., ส.ส. รวมถึงสมาชิกสภาท้องถิ่นรวมมากกว่า 20,000 ที่นั่ง
ผลการนับคะแนนเบื้องต้น (เขียน วันที่ 20/4/62) หรือที่เรียกว่า “quick count” ซึ่งจัดทำโดยสำนักโพลหลายแห่ง ต่างระบุว่า นายโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีคนล่าสุด มีคะแนนนำคู่แข่งคนสำคัญอย่าง นายปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) อดีตนายทหารและลูกเขยของอดีตผู้นำเผด็จการซูฮาร์โต อยู่ประมาณ 10% โดยโพลหลายสำนักระบุตรงกันว่า นายวิโดโดได้คะแนนโหวตประมาณ 55% ส่วนนายพราโบโวได้รับเสียงสนับสนุนประมาณ 44% หากผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาตรงกับผลการนับคะแนนเบื้องต้น ก็จะทำให้นายวิโดโดได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย และจะมีวาระทั้งสิ้น 5 ปี อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะถูกประกาศอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค.

แม้ผลเบื้องต้นของการเลือกตั้งอินโดนีเซียเป็นที่ชัดเจนว่า ปธน.โจโก วิโดโด จะคว้าชัยเป็นผู้นำสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งกว่า 10% แต่ปรากฏว่าฝ่ายของ พล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต ก็ยังไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง และอ้างว่าตัวเองต่างหากที่เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ

จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งในอินโดนีเซียครั้งนี้เห็นพัฒนาการด้านประชาธิปไตยอย่างมากและนักวิเคราะห์การเมืองโลกยอมรับว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีความรุดหน้าด้านประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดผิดกับก่อนหน้านี้โดยเฉพาะในยุคของซูฮาร์โต

Advertisement

สิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชนชั้นนำไทยโดยเฉพาะผู้นำทหารต้องออกมาเรียนรู้ (ที่ไทยหลังเลือกตั้งผู้นำกองทัพยังออกมาขู่ผ่านสื่อตลอด 555)

“หากอยากส่งเสริมประชาธิปไตย ทหารไทยควรเรียนรู้จากทหารอินโดนีเซีย”
นี่คือคำกล่าวของสื่ออินโดนีเซีย (โปรดดู https://voicetv.co.th/read/UzCxGd-RG)

ภาวะปกติใหม่: ยี่สิบปีของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียยุคหลังซูฮาร์โต

Advertisement

มีอยู่สองประเด็นอยากร่วมแลกเปลี่ยนถึงการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย
1.พลวัตประชาธิปไตย

อาจารย์ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงคำถามที่หลายคนสนใจ คือทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียขึ้นมาได้ ซึ่งด้านหนึ่งคือการลดบทบาทและอำนาจของกองทัพลง พื้นฐานเหตุการณ์สำคัญ คือการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนครั้งใหญ่ในปี 1998 ที่โค่นล้มรัฐบาลซูฮาร์โตลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ส่งผลถึงความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน

กระแสของสังคมอินโดนีเซียตอนนั้น มีพลังมากพอทำให้ระบอบเผด็จการที่อยู่มายาวนาน 30 กว่าปีล้มลงได้ บรรยากาศความคิดของคนในตอนนั้นปฏิเสธการปกครองแบบเก่าโดยสิ้นเชิง ไม่เอาเผด็จการชี้นำของซูฮาร์โต การมีบทบาทของทหารอย่างมากก็ไม่เอาแล้ว ขณะเดียวกันกองทัพก็มีภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงอย่างมากภายหลังการปราบปรามประชาชน พร้อมๆ กับความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะทำให้สังคมดีขึ้นก็ขยายไปกว้างขวาง

ประธานาธิบดีคนแรกภายหลังจากซูฮาร์โตถูกโค่นล้มไป ได้แก่ ฮาบีบี ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของซูฮาร์โต ในยุคนี้มีเหตุการณ์ใหญ่คือเรื่องการลงประชามติในเรื่องเอกราชของติมอร์ตะวันออก ในช่วงเรียกร้องเอกราช ก็ปรากฏว่ากองทัพอินโดนีเซียก็ไปแสดงบทบาทในการปราบปรามกดขี่ชาวติมอร์อย่างมาก

ประธานาธิบดีคนต่อมา คืออับดุลเราะห์มาน วาฮิด เป็นผู้นำของกลุ่มองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดตอนนั้น และมีความพยายามท้าชนกับกองทัพอินโดนีเซียในตอนนั้น มีความกล้าริเริ่มการปฏิรูป แต่ก็ถูกกดดันอย่างมากจากกลุ่มต่างๆ ในสังคมตอนนั้น ทำให้ต้องลงจากตำแหน่งไปในเวลาปีกว่าๆ

ประธานาธิบดีที่ขึ้นมาแทนคือ นางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ได้หันไปร่วมมือกับกองทัพ และในช่วงราวปี 2002 กองทัพเริ่มกลับมามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นบ้าง จากการเข้าไปดูแลปัญหาความไม่สงบในอาเจะห์ จนในสมัยประธานาธิบดีสุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน ที่มาจากการชนะเลือกตั้งถึงสองวาระ เขาเป็นทหารเก่าสมัยซูฮาร์โตในสายปฏิรูป มีแนวคิดที่เอียงทางประชาธิปไตย ยุทโธโยโนได้พยายามบางส่วนในการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย ได้แก่ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร โดยสั่งย้ายนายทหารระดับสูงบางคนที่มีแนวคิดขัดกับรัฐบาล หรือการพยายามยึดเอาธุรกิจทหารมาเป็นของรัฐ แม้จะไม่สำเร็จมากนัก รวมทั้งการปฏิรูประบบค่ายทหารในท้องที่ต่างๆ โดยพยายามยุบเลิกบางค่ายทหารทิ้งไป แต่ก็คืบหน้าไปค่อนข้างน้อย

อาจารย์ภาณุวัฒน์ยังมองถึงอนาคตของบทบาทกองทัพในอินโดนีเซียว่า เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยไปได้เรื่อยๆ จากกรณีการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ที่มีคู่แข่งสำคัญสองคนคือ โจโก วิโดโด กับพราโบโว ซูเบียนโต โดยก่อนการเลือกตั้งโพลสำนักต่างๆ มองว่าโจโกชนะแน่ๆ และชนะอย่างมหาศาลด้วย แต่พอใกล้การเลือกตั้งจริงๆ ปราโบโวทำคะแนนตีตื้นได้อย่างมาก แทบจะเท่ากันจนเกือบชนะเลือกตั้ง

พราโบโวนั้นมีประวัติเป็นทหารเก่า ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการปราบปรามนักศึกษาในปี 1998 เป็นคนที่ภาพลักษณ์ไม่ดีนัก เขาขายความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง และแทบจะไม่กระมิดกระเมี้ยนที่จะแสดงออกว่าประชาธิปไตยคือของวุ่นวาย แต่แม้ภาพลักษณ์พราโบโวแบบนี้ยังเกือบชนะเลือกตั้ง มันมีส่วนสะท้อนถึงความคิดของชาวอินโดนีเซียบางส่วนที่ยังถวิลหาความมั่นคงของชีวิตแบบเก่า เศรษฐกิจที่ดี ความสงบภายใต้เผด็จการ และเกลียดชังความวุ่นวายของประชาธิปไตย
(โปรดดู https://prachatai.com/journal/2014/
09/55515)

2.อุดมการณ์ ภาคประชาสังคมยืนอยู่ข้างมาตรฐาน ประชาธิปไตย
อุดมการณ์ ภาคประชาสังคมยืนหยัดอยู่ข้างมาตรฐาน ประชาธิปไตยอย่างมั่นคงแม้จะแตกต่างกลุ่ม กล่าวคือ ภาคประชาสังคมขยายตัวอย่างน่าทึ่ง สื่อมวลชนรูปแบบต่างๆ ผุดขึ้นมามากมาย ในสังคมการเมือง การเลือกตั้งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและการมีส่วนร่วมก็ขยายเป็นวงกว้าง

ภาคประชาสังคมเป็นเวทีที่อิสระจากรัฐ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มและสมาคม ภาคประชาสังคมของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย มีส่วนในการโค่นล้มประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998 ด้วยการประท้วงต่อเนื่องหลายเดือน หลังจากผู้นำเผด็จการร่วงจากบัลลังก์แล้ว สาธารณชนอินโดนีเซียยังคงสนใจมีส่วนร่วมและรวมตัวกันสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งเตาะแตะของประเทศ กลุ่มใหม่ๆ ปรากฏตัวขึ้น องค์กรเก่าๆ ได้พื้นที่ใหม่ๆ ในการแสดงออก ชาวอินโดนีเซียร่วมมือกันให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ติดตามตรวจสอบการเลือกตั้ง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น กลุ่มเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยเป็น
ปทัสถานใหม่ของสังคม
(โปรดดู https://kyotoreview.org/issue-24/new-normal-indonesian-democracy-after-suharto-thai/)
แม้ตามทรรศนะผู้เขียนจะเห็นแย้งกับนักวิเคราะห์เสรีนิยมตะวันตกที่มองว่าขบวนการอิสลามที่กำลังเติบโตที่ไม่ได้สนับสนุนความเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย โดยตะวันตกมองว่าขบวนการอิสลามอาศัยประโยชน์จากเสรีภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อรวมตัวจัดตั้งก็ตาม เช่นกลุ่ม “แนวหน้าปกป้องอิสลาม” (Front Pembela Islam, FPI) ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้ข้อห้ามตามศาสนาอิสลาม จึงใช้กำลังและการข่มขู่ต่อเป้าหมายต่างๆ เช่น ประชาชนที่ฉลองวันคริสต์มาส ดื่มสุรา

พลเมืองที่เป็น LGBT กลุ่มแนวหน้าปกป้องอิสลามประสบความสำเร็จในการรุกเข้าสู่เวทีการเมือง โดยเข้ามาขัดขวางมิให้ผู้ว่าการจาการ์ตา นายบาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (หรือที่เรียกกันว่า อาฮก) ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีนและนับถือคริสต์ ไม่ได้รับการเลือกตั้งสมัยที่สองในปี 2017 FPI และองค์กรอื่นๆ ร่วมมือกันรณรงค์ทางสื่อสังคมออนไลน์และเดินขบวนประท้วงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารว่า เขาคนนี้ไม่ควรเป็นผู้นำต่อหรือจะสมัครเป็นผู้นำเพราะเหยียดหยามหลักการอิสลามเรียกร้องให้ดำเนินคดีเขา (อาฮก) ในข้อหานี้

สุดท้ายเขาถูกลงโทษจำคุกถึงสองปี แต่ก็ถูกสื่อด้านตะวันตกหรือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการอิสลามกล่าวหาอีกแบบ คือกล่าวหาว่า เขาคือผู้ที่ไม่ใช่เชื้อสายคนพื้นเมืองและไม่ใช่มุสลิมไม่ควรเป็นผู้นำของคนมุสลิมที่เป็นเสียงส่วนใหญ่อินโดนีเซีย

อย่างไรก็แล้วแต่ระหว่างประชาสังคมกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยกับขบวนการอิสลามคือมีจุดร่วมเหมือนกันคือต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่ล้มผลเลือกตั้ง อันเป็นเหตุให้ชนชั้นนำทหารออกมาทำรัฐประหาร หรือสร้างปัจจัยเอื้อที่สั่นคลอนประชาธิปไตยด้วยอำนาจนอกระบบ

เพราะประชาสังคมทราบดีว่า แม้ปัจจุบัน กองทัพของอินโดนีเซียจะอยู่นิ่ง ดูสงบ เจียมตัว ไม่ได้มีบทบาทการเมืองอย่างชัดเจน แต่ (อย่าลืม) บทบาทในด้านธุรกิจนั่นกลุ่มชนชั้นนำทหารยังมีอำนาจและอิทธิพลอยู่อีกมาก ดังนั้นหากประชาสังคมไม่ยืนหยัดข้างมาตรฐาน ประชาธิปไตยด้วยแนวคิดแตกต่างแต่ไม่แตกแยกแล้วทะเลาะกันเองแล้วละก็จะเข้าทางชนชั้นนำทหารทันที

ครับหวังว่า การเลือกตั้งอินโดนีเซียในครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนด้านประชาธิปไตยสำหรับผู้นำทหารและชนชั้นนำไทยที่ยังฉุดรั้งให้ประชาธิปไตยไปไม่ถึงไหน ตามที่เราเห็นปรากฏการณ์ กระแสโซเชียลอยู่ทุกวันนี้

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์
(อับดุลสุโก ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image