‘คสช.-ส.ว.’…ดับไฟการเมือง? : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ปล่อยวาทะเด็ดจนฮือฮาไปทั่วบ้านทั่วเมือง “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” หลังเลือกตั้งผ่านไปมีวาทะเด็ดไม่แพ้กันตามมาอีก “ผู้เขียนรัฐธรรมนูญออกแบบ 250 ส.ว.แต่งตั้งเพื่อช่วยดับไฟการเมือง”

เป็นเหตุให้ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาชี้แจง ฟื้นความจำทุกฝ่ายว่าประเด็น 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจลงมติเลือกนายกฯร่วมกับ ส.ส. กรธ.ไม่ได้เป็นผู้คิด

แต่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งข้อเสนอแนะมาว่าในช่วง 5 ปีแรกให้มี ส.ว.มาจากการแต่งตั้งคอยทำหน้าที่กำกับการปฏิรูปช่วงเปลี่ยนผ่าน

ในขั้นตอนของกรรมการยกร่างเขียนให้มี ส.ว.200 คนมาจากการเลือกจาก 20 สาขาวิชาชีพ แต่ในชั้นกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสียงข้างมากแปรญัตติแก้ไขให้ ส.ว.มีจำนวน 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. 200 คน และอีก 50 คน คัดมาจากการเลือกตามสาขาวิชาชีพที่มีการปรับให้เหลือ 10 กลุ่ม

Advertisement

ส่วนที่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกฯร่วมกับ ส.ส. เป็นการเสนอคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการลงประชามติ

เมื่อผ่านประชามติแล้ว กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงนำข้อเสนอแนะของ คสช.และคำถามพ่วงมาเรียบเรียงไว้ในรัฐธรรมนูญ

ครับ ติดตามอ่านวาทะเด็ดและคำชี้แจงของอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องจำนวน ส.ว. ที่มา และบทบาทในการโหวตเลือกนายกฯแล้ว ทำให้คิดถึงบทบาทของ คสช. ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทำหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง

Advertisement

นอกจากมีอำนาจพิจารณาเสนอแต่งตั้ง ส.ว.250 คน ซึ่งมีสิทธิโหวตชื่อนายกฯร่วมกับ ส.ส.แล้ว บทบาทสำคัญอีกข้อหนึ่งของ คสช.ก็เพื่อเป็นกลไก ช่วยฝ่ายบริหาร ประคับประคองสถานการณ์ประเทศหลังเลือกตั้งให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น จนรัฐบาลใหม่เข้ารับหน้าที่

ในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของการคงอำนาจ หน้าที่ของ คสช.ไว้ คงเป็นไปอย่างที่ว่ามา

จะมีเจตนารมณ์แฝงอยู่เบื้องหลังเพื่อเป็นช่องทางการสืบทอดอำนาจหรือสืบทอดงานอันเป็นมรดกของ คสช.ก็แล้วแต่ รวมอยู่ด้วยหรือไม่ ความจริงยังไม่ปรากฏชัดในขณะนั้น

เพราะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังไม่ประกาศการตัดสินใจว่าจะยอมรับการถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

จนกระทั่งการตอบรับเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งไม่นาน ทำให้สถานะทางการเมืองของหัวหน้า คสช. และ คสช.เปลี่ยนไปทันที จากที่ควรจะเป็นกรรมการ เปลี่ยนมาเป็นผู้เล่นเอง

ผลจากกติกาตามรัฐธรรมนูญที่เขียนให้ คสช.เป็นผู้เสนอแต่งตั้งวุฒิสมาชิก และให้วุฒิสมาชิกมีอำนาจโหวตผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้หัวหน้า คสช.ได้เปรียบคู่แข่งในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เป็นเงื่อนไขให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน ระหว่าง บทบาทของความเป็นหัวหน้า คสช. กับ ผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ความลักลั่น ไม่เป็นธรรมทางการเมืองเกิดขึ้นทันที

เจตนารมณ์เดิมในการดำรงบทบาทของ คสช.และวุฒิสมาชิก ที่หวังให้เป็นเครื่องมือประคับประคองสถานการณ์ ช่วยแก้ปัญหาจุดอับทางการเมือง ถูกเบี่ยงเบนไป กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับบุคคล หรือคณะบุคคลเพื่อดำรงอำนาจต่อไปตามเป้าหมายที่ต้องการ ใช่หรือไม่

ยิ่งเมื่อ คสช.มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายแจ้งความดำเนินคดี ร้องทุกข์กล่าวโทษฝ่ายที่เห็นต่าง กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ถูกแจ้ง 2 ข้อหาความผิดอาญา ได้แก่ ดูหมิ่นศาล และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากกรณีแถลงการณ์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ทำให้บทบาทการเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. ยิ่งชัดเจนขึ้น

พฤติกรรรมของนายปิยบุตรที่ถูกนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษ กระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นเป้าหมายของการคงบทบาทของ คสช.ต่อไปจริงๆ

หรือ การร้องทุกข์กล่าวโทษมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงอยู่ด้วย เพราะเป็นแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ได้รับการเลือกตั้งจากผู้ใช้สิทธิจำนวนมาก จึงต้องหาทางสกัดกั้นการเติบโตเสียแต่เนิ่นๆ

ด้วยเหตุนี้เองทำให้สังคมเกิดความข้องใจสงสัยว่า ในที่สุดแล้ว ระหว่างหลักการ ต้องการให้รัฐบาลและการเมืองมีเสถียรภาพ กับหลักตัวบุคคล ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่ายอยู่บริหารต่อไป อะไรคือเจตนารมณ์หลักในการเขียนรัฐธรรมนูญ

และเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ลงประชามติคือประการใดแน่ คงเป็นคำถามทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ให้ถกเถียงกันต่อไปอีกนาน

รวมถึงคำถามที่ว่า ในความเป็นจริง คสช. และ ส.ว. …ดับไฟการเมือง หรือ จุดไฟการเมือง กันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image