เจตนากับการกระทำความผิด : โดย ผศ.สมหมาย จันทร์เรือง

การกระทำความผิดทางอาญาโดยปกติต้องมีเจตนา ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา คือ
มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

การกระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
กรณีความรับผิดทางอาญาจากเจตนา ปรมาจารย์ด้านนิติศาสตร์สองท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ และศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้เสนอความเห็นไว้ดังนี้
ความเห็นของศาสตราจารย์จิตติ ตังศภัทิย์ ได้แบ่งเจตนาเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

1.เจตนาโดยตรง

เจตนาโดยตรง คือ ความประสงค์ต่อผลที่ผู้กระทำมีอยู่ในขณะที่กระทำ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลแห่งการกระทำนั้นแล้ว ผลนั้นน่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ไม่เป็นข้อสำคัญ โดยเหตุนี้ แม้ผลที่ประสงค์นั้นจะไม่มีทางบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ก็ยังได้ชื่อว่ากระทำโดยเจตนา อาจเป็นความผิดได้ในฐานพยายามตามมาตรา 81 และศาลอาจลงโทษหรือไม่ลงโทษก็ได้ แต่ยังถือว่าเป็นการกระทำความผิด โดยเจตนาอยู่นั่นเอง ความประสงค์ต่อผลนั้นหมายความว่าผู้กระทำมิใช่เพียงแต่กระทำโดยรู้สำนึกเท่านั้น หากต้องประสงค์ให้มีการกระทำ ซึ่งหมายความถึงผลของการกระทำนั้นด้วย การกระทำในลักษณะเช่นนี้ กฎหมายเรียกว่าประสงค์ต่อผล โดยอาจเป็นผลอันเป็นเพียงการกระทำให้สำเร็จตามที่มุ่งหมาย เช่น ให้เจ้าพนักงานได้ทราบความเท็จที่ตนนำมาแจ้ง เป็นต้น

Advertisement

2.เจตนาโดยอ้อม

เจตนาโดยอ้อมตามมาตรา 59 วรรค 2 หมายความถึงการที่ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ ผู้กระทำอาจไม่ประสงค์ให้เกิดผลอันทำให้การกระทำนั้นเป็นความผิดขึ้น แต่ถ้าผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลนั้นแล้วก็ต้องถือว่าผู้กระทำมีเจตนาดุจเดียวกับได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลที่เล็งเห็นนั้นด้วยเหมือนกัน

เมื่อต้องวินิจฉัยความสามารถเล็งเห็นผลจากพฤติการณ์มิใช่จากจิตใจของผู้กระทำนั้นเองเช่นนี้แล้ว จึงมีปัญหาอีกข้อหนึ่งว่าความสามารถเล็งเห็นผลล่วงหน้านั้นจะต้องแน่นอนแค่ไหน เพราะการเห็นผลล่วงหน้านั้นมีความแน่นอนต่างกันได้มาก คำว่า ย่อม เล็งเห็นผลนั้นเอง ทำให้เข้าใจว่าผู้กระทำไม่ต้องเล็งเห็นโดยแท้จริง ถ้าเพียงแต่ตามธรรมดาเล็งเห็นได้ก็พอแล้ว แต่ก็เห็นได้อีกว่าถ้าถือเอาแต่เพียงเล็งเห็นผลได้ตามธรรมดาก็เป็นเจตนาได้ตามมาตรา 59 วรรค 2 นี้แล้ว ข้อที่ควรสังเกตก็คือ กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 43 เดิมใช้คำว่า อาจจะแลเห็นผล แต่กฎหมายใหม่ใช้คำว่า ย่อมเล็งเห็นผล ทั้งๆ ที่กฎหมายใหม่ก็ยังใช้คำว่า “อาจเล็งเห็น” อยู่ในมาตรา 87 วรรค 1 และ 2 จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเพียงแต่เล็งเห็นได้ว่าผลอาจเกิดขึ้นเท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่ตามปกติธรรมดาผลนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ยังไม่พอ จะต้องมีความแน่นอนยิ่งกว่านั้นจึงจะถือเป็นเจตนาได้ แต่จะแน่นอนแค่ไหนยังมีคำอธิบายแตกต่างกันอยู่

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ ยังได้ยกตัวอย่างการวินิจฉัยของกฎหมายบางประเทศ กล่าวคือ

(1) Manual of German Law อธิบายว่าเจตนาหมายความรวมถึงกรณีที่ผู้กระทำเล็งเห็นผลว่า อาจเป็นไปได้ (possible) แม้ไม่ใช่ผลที่จำเป็นต้องเกิด (necessary) แต่ก็กระทำโดยเสี่ยงต่อผลที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น และได้ยกตัวอย่างว่า ถ้าบุคคลหนึ่งวางเพลิงเผาบ้านโดยรู้ว่ามีคนอยู่ในนั้น และจะต้องถูกไฟคลอกตายแน่ได้ชื่อว่าผู้นั้นกระทำโดยมีเจตนาโดยตรง คือประสงค์ต่อผล แต่ถ้าผู้นั้นกระทำโดยคิดว่า อาจเป็นไปได้ว่าคนในบ้านนั้นจะถูกไฟคลอก แล้วยังขืนเสี่ยงกระทำลงไปโดยไม่สนใจว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือไม่ก็เป็นเจตนาโดยอ้อม

(2) ประมวลกฎหมายอาญาโซเวียต (1960) ยูโกสลาเวีย (1951) โปแลนด์ (1932) ถือว่าถ้าผู้กระทำเล็งเห็นว่าผลอาจเกิดขึ้นได้ (possible) และกระทำลงโดยยอมรับผลนั้น ก็ถือเป็นเจตนาด้วย
ด้านความเห็นของศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้แบ่งการกระทำโดยเจตนาเป็น 2 ชนิด คือ การกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผลกับกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล

การกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล ได้แก่ การกระทำโดยรู้สึกนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผลอีกด้วย สาระสำคัญ คือ

(1) ผู้กระทำได้กระทำโดยรู้สึกนึกในการที่กระทำ คือรู้สำนึกในการเคลื่อนไหวหรืองดเว้นการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งนี้การกระทำโดยรู้สำนึกย่อมมีความหมายอย่างเดียวกับความหมายของการกระทำดังกล่าวในตอนต้นนั่นเอง กล่าวคือ ถ้าผู้กระทำ (ก) ได้มีการคิดว่าจะกระทำ (ข) ได้มีการตกลงใจที่จะกระทำตามที่คิดนั้น และ (ค) ได้มีการกระทำตามที่ตกลงใจนั้น ต้องถือว่าผู้กระทำได้กระทำโดยรู้สำนึกดังกล่าวแล้ว และ

(2) ผู้กระทำจะต้องประสงค์ต่อผลอีกด้วย การกระทำโดยรู้สึกนึกนั้นเป็นการกระทำกลางๆ ผู้กระทำอาจประสงค์ต่อผลได้หลายประการ เช่น การยิงปืน ย่อมเป็นการกระทำที่เป็นกลางๆ แต่ผู้กระทำอาจประสงค์ต่อผลได้หลายประการ เช่น ยิงคน ยิงเป้า ยิงนก ยิงสุนัข เป็นต้น

คือสำนึกว่าตนยิงปืนและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลซึ่งหมายถึงประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นๆ ตามที่ผู้กระทำมุ่งหมายให้เกิดขึ้น เช่น ประสงค์ต่อความตายของบุคคลที่ตนยิงด้วยปืนนั้น เป็นต้น

กระทำโดยเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล ได้แก่กระทำโดยรู้สึกนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการทำนั้น ทั้งนี้ แสดงว่าจะถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบ 2 ประการคือ

(1) ผู้กระทำได้กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ
(2) ในขณะเดียวกัน ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

คำว่า “ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผล” นี้ หมายความถึง พิจารณาจากด้านผู้กระทำเอง ทั้งนี้ เพราะบุคคลมีความจัดเจนแห่งชีวิต การศึกษาอบรม สติปัญญา ฯลฯ ไม่ทัดเทียมกัน โดยเหตุนี้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าตามข้อเท็จจริงผู้กระทำนั่นเองได้เล็งเห็นผลล่วงหน้าหรือไม่ ส่วนปัญหาที่ว่า อย่างไรเป็นกรณีย่อมเล็งเห็นผลนั้นมีความเห็นอยู่ 3 ประการ กล่าวคือ

(ก) ผู้กระทำจะต้องยอมรับเอาผลไว้ล่วงหน้า เช่น การยิงนกที่อยู่ใกล้ๆ กับเด็ก เมื่อผู้กระทำเห็นแล้วว่า ถ้ายิงปืนอาจถูกเด็กตายได้และยอมรับเอาผลไว้ล่วงหน้า คือยอมให้เด็กตาย แล้วยิงนกไป ถ้าลูกกระสุนปืนถูกเด็กตายถือว่าได้กระทำโดยเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล คือความตายของเด็ก ถ้าหากผู้กระทำไม่ยอมรับเอาผลหรือความตายไว้ ไม่ถือว่าผู้กระทำมีเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล จะถือได้แต่เพียงว่าผู้กระทำได้กระทำโดยประมาท

(ข) ผู้กระทำเห็นแล้วว่าผลจะเกิดขึ้น แต่ผู้กระทำยังขืนทำ เช่น ยิงนกที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ถ้าเห็นแล้วว่าอาจจะถูกเด็กตายได้ ยังขืนยิง ถ้าลูกกระสุนปืนถูกเด็กตาย ถือว่าผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลคือความตายของเด็ก ฉะนั้น จึงต้องถือว่ามีผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

(ค) ผู้กระทำไม่ใยดีในผลที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หมายความว่าผู้กระทำได้เห็นผลล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดขึ้น ผู้กระทำไม่ถึงกับยอมรับเอาผลนั้นเลยทีเดียว แต่ผู้กระทำคิดว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ช่างประไรจะขอทำให้ได้ เช่น ต้องการได้นกมากิน ถ้าถูกเด็กก็จะวิ่งหนีไป อย่างไรก็ขอให้ยิงนกให้ได้ เช่นนี้ ถือว่าย่อมเล็งเห็นผลแล้ว

ฉะนั้น ถ้าถูกกระสุนปืนถูกเด็กตาย ก็มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

ทั้ง 3 ประการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย มีความเห็นว่า
ความเห็นข้อ (ก) นั้น กว้างไป ตัวอย่าง คนเมาสุราขับรถยนต์เขาเห็นล่วงหน้าว่าอาจทับคนตาย แต่เขาเชื่อมือของเขาโดยได้เคยขับรถยนต์ในขณะเมาสุรามาหลายครั้งแล้ว ไม่เคยทับใคร อย่างนี้ถ้าเผอิญคราวนี้ขับรถยนต์ทับคนตายเพราะเมาสุรา จะถือว่าเขามีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา กล่าวคือ มีเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผลก็จะเป็นการเกินสมควร เขาควรมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาทเท่านั้น

ความเห็นข้อ (ข) นั้นแคบเกินไป คือ จะต้องปรากฏว่า ได้ยอมรับผลไว้ล่วงหน้า ซึ่งโดยปกติบุคคลย่อมไม่อยากกระทำความผิดอาญา ตัวอย่าง ยิงนกที่อยู่ใกล้เด็ก เขาไม่อยากให้ถูกเด็กเลย ฉะนั้นเขาจึงไม่ยอมรับผลคือความตายของเด็กไว้ล่วงหน้า โดยปกติผู้กระทำก็ไม่ยอมรับผลที่ผิดกฎหมายไว้ล่วงหน้า ทั้งนั้นตามความเห็นข้อ (ข) นี้ ย่อมทำให้เจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผลมีความหมายแคบจนเกือบจะใช้ไม่ได้เลย

ความเห็นข้อ (ค) เป็นการเดินสายกลาง กล่าวคือ ไม่ถึงกับว่าผู้กระทำเล็งเห็นผลล่วงหน้าแล้วจึงขืนทำ ความเห็น (ก) เพราะในบางกรณีควรจะถือว่าเป็นแต่เพียงประมาทเท่านั้น ในทางที่กลับกัน ความเห็นข้อที่ (ค) นี้ ก็ไม่ถึงกับที่จะให้ผู้กระทำต้องยอมรับเอาผลไว้ล่วงหน้าซึ่งแคบเกินไป เพียงแต่ผู้กระทำไม่ไยดีในผลที่เกิดขึ้น ตามตัวอย่างเรื่องยิงนกที่อยู่ใกล้เด็ก ผู้กระทำไม่อยากให้ลูกกระสุนปืนถูกเด็กแต่ไม่ใยดีในผลที่เกิดขึ้น โดยทำใจว่าถึงจะถูกเด็กก็ถูกไป จะขอยิงนกให้ได้ โดยคิดว่ายิงถูกเด็กก็จะวิ่งหนีไป ถ้ายิงถูกนกก็จะเอานกมากิน ศาสตราจารย์ ดร.สายหยุด แสงอุทัย เห็นด้วยกับความเห็นข้อ (ค) เพราะผู้ที่ไม่ไยดีว่าผลจะเกิดขึ้นหรือไม่ทั้งๆ ที่เขาเห็นล่วงหน้าว่า ผลอาจเกิดขึ้นได้แม้เขาจะไม่ประสงค์ต่อผล ก็ควรจะถือว่าได้กระทำโดยเจตนา

เมื่อใดจึงควรพิจารณาเรื่องเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล

กรณีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลเป็นกรณีปกติ เพราะบุคคลจะทำอะไร โดยปกติก็ย่อมประสงค์ ต่อผลอันใดอันหนึ่ง การที่บุคคลจะกระทำโดยไม่ประสงค์ต่อผลนั้นเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น เมื่อมีข้อเท็จจริงให้เราต้องพิจารณาว่า ผู้กระทำได้กระทำไปโดยเจตนาหรือไม่ เราก็ต้องตั้งต้นจากเจตนาโดยประสงค์ต่อผลซึ่งเป็นกรณีปกติเสียก่อน ต่อเมื่อปรากฏว่าผู้กระทำไม่มีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลแล้ว

เราจึงจะพิจารณาว่าผู้กระทำได้กระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลหรือไม่ และในทางกฎหมายผู้กระทำจะมีเจตนา โดยประสงค์ต่อผล หรือผู้กระทำมีเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาด้วยกันทั้งนั้น

กล่าวโดยสรุปในการที่บุคคลกระทำความผิดโดยเจตนานั้น อาจจะกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผลอย่างหนึ่ง หรืออาจจะทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำไม่ประสงค์ต่อผล แต่ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้อีกอย่างหนึ่ง มีข้อที่ควรสังเกตว่าเจตนาโดยประสงค์ต่อผลและเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผลนี้มีค่าในทางกฎหมายเท่ากัน เช่น มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาอย่างเดียวกัน แต่เจตนาทั้งสองนี้ ต่างกันที่องค์ประกอบของการกระทำเท่านั้น

ผศ.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image