สถานีคิดเลขที่ 12 : ข้อท้าทายต่อกรณี ‘อนาคตใหม่’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ระบุเป็นนัยผ่านการพูดจาต่อสาธารณะและการเขียนบทความ ว่า “พรรคอนาคตใหม่” นั้น เกิดและเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “จังหวะประชานิยมทางการเมือง” พอดี

กระทั่งความนิยมที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่อาจกลายเป็น “พลังประชานิยมทางการเมือง” ระลอกล่าสุดของสังคมไทย

สมมุติฐานข้างต้นได้รับการพิสูจน์ยืนยันแล้วโดยผลการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เกษียรได้ทำนายถึงข้อท้าทายที่รอคอยพรรคอนาคตใหม่อยู่ในฐานะ “พลังประชานิยมทางการเมือง” ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในพรรคเอง และปัจจัยภายนอกพรรค

Advertisement

สำหรับ “ปัจจัยท้าทายภายใน” นั้น พรรคอนาคตใหม่ต้องไม่หยุดตัวเองอยู่ที่การเป็น “ผู้นำกระแสนิยม” ชั่วครั้งคราว หรือไม่เป็นแค่พรรคการเมืองที่เน้นขายนโยบายหรือเป็นแค่พาหนะทางการเมืองส่วนบุคคล ทว่าต้องเติบใหญ่ไปเป็น “พรรคประชานิยมอิงฐานมวลชน” โดยแท้จริง

แต่ “ปัจจัยท้าทายภายนอก” ซึ่งปักหลักรออยู่ก็มิใช่สิ่งที่จะก้าวข้ามไปได้ง่ายนัก กล่าวคือ “พลังประชานิยมทางการเมือง” คงต้องปะทะกับขอบเขตข้อจำกัดของโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น วุฒิสภา, แผนยุทธศาสตร์ชาติ และอำนาจเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกำกับควบคุมองค์กรอิสระต่างๆ อยู่

เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่ทันที่พรรคอนาคตใหม่จะได้จัดการกับ “ปัจจัยท้าทายภายใน” ก็ดูเหมือนจะมี “ปัจจัยท้าทายภายนอก” ปรากฏตัวขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และซัดสาดเข้าหาพรรคอย่างไม่ยอมหยุดหย่อน

Advertisement

จนดูราวกับว่าสำหรับผู้มี/ใช้อำนาจจำนวนไม่น้อย การขจัด/ลิดรอน “พลังประชานิยมทางการเมือง” ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นมาใหม่ๆ ในนามพรรคอนาคตใหม่ ให้รวดเร็วและเด็ดขาดที่สุด อาจเป็นความจำเป็นในเกมการเมืองยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของอาจารย์เกษียร วิธีการตั้งรับ/ต้อนรับ “พลังประชานิยมทางการเมือง” ดังกล่าวที่ปลอดภัยที่สุด ก็คือ

“การเปิดขยายพื้นที่ความเป็นไปได้ภายในกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง (รัฐสภา, รัฐบาล, พรรคการเมือง ฯลฯ) ให้เป็นเวทีเจรจาต่อรองที่เชื่อมโยงกับพลังประชาชนภายนอก เพื่อรองรับการริเริ่มกระบวนการปฏิรูประเบียบอำนาจใหม่มากขึ้น”

ณ ตอนนี้ “อนาคต” ต่อกรณีพรรคอนาคตใหม่ จึงดูคล้ายจะเหลืออยู่เพียงสองหนทางหลักๆ

นั่นคือ (1) การเร่งเผด็จศึกหรือตัดตอนพรรคการเมืองหน้าใหม่ ซึ่งมีโอกาสจะได้จำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 80 คนขึ้นไป

แต่นั่นอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านลบตามคำเตือนของอาจารย์เกษียร เมื่อความผิดหวังของประชาชน (เช่น ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่) จะเพิ่มสูง และทะลักล้นออกนอกกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง ไปสู่การเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นๆ

หรือ (2) การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่เข้าไปทำงานในสภา เพื่อเผชิญหน้ากับ “ปัจจัยท้าทายภายใน” ของตัวเอง

ว่าหลังจากประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งหนแรกแล้ว พวกเขาจะสามารถยืนหยัดอยู่ในระบบการเมืองไทย ผ่านการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง ได้หรือไม่? อย่างไร?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image