กับดักขั้นบันได ที่นำไปสู่ความเสียเปล่า : โดย กล้า สมุทวณิช

ในเกมหมากล้อมนั้น หมากแต่ละตัวเป็นเม็ดกลมๆ ขนาดเท่ากันเหมือนกันหมด ไม่ได้มีรูปร่างแตกต่างหรือมียศมีศักดิ์ที่กำหนดอำนาจพื้นที่และตาเดินเหมือนอย่างในเกมหมากรุก

และเมื่อวางตัวหมากลงไปบนจุดตัดของเส้นตั้งเส้นนอนแต่ละจุดบนกระดานแล้ว หมากตัวนั้นจะไม่ถูกเคลื่อนย้ายอีก คำว่า “เดินหมาก” สำหรับหมากล้อม ก็หมายถึงการวางเม็ดหมากเพียงเท่านั้น

การ “ถูกกิน” สำหรับหมากล้อมจะเกิดขึ้นเมื่อหมากตัวหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ถูกตัวหมากฝ่ายตรงข้ามวางล้อมปิดจุดที่เชื่อมออกจากเส้นทุกเส้นที่ล้อมรอบหมากตัวนั้นหรือกลุ่มนั้น เรียกว่าการ “หมดลมหายใจ” กลายเป็นหมากตายที่ถูกจับไปเป็นเชลย

หากการเอาชนะในเกมหมากล้อมนั้นมิใช่เพียงการล้อมไล่จับกัน แต่มันคือการปิดล้อมพื้นที่เอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยในพื้นที่ซึ่งจะได้แต้มนั้นจะต้องเป็นพื้นที่ของฝ่ายล้อมโดยสมบูรณ์ หมากของอีกฝ่ายนั้นต่อให้วางลงไป ก็จะพบแต่ความตายไร้ลมหายใจในที่สุด

Advertisement

มีรูปแบบการวางกับดักอย่างหนึ่งในเกมหมากล้อมที่ถือเป็นรูปแบบคลาสสิก เรียกว่า “การกินแบบขั้นบันได” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Shichou หรือภาษาอังกฤษว่า Ladder

รูปแบบการกินแบบนี้ คือการที่หมากฝ่ายไล่ไปล้อมหมากฝ่ายหนีในรูปแบบหนึ่งที่จะบีบให้หมากฝ่ายหนีนั้นต้องวางหมากหนีไปได้ทิศทางเดียว และจะถูกไล่ปิดให้ต้องวางหมากตัวต่อไปหนีขึ้นสูงไปเรื่อยๆ คล้ายการไต่บันได จนกระทั่งไปสุดขอบกระดานซึ่งไม่มีที่ให้หนีอีก ฝ่ายไล่จะวางหมากตัวสุดท้ายลงไปเพื่อจับกินหมากฝ่ายหนีทั้งกลุ่ม กลายเป็นความเสียหายมหาศาล เพราะนอกจากฝ่ายไล่จะได้พื้นที่แล้ว ฝ่ายหนียังเสียหมากเชลยไปเป็นจำนวนมากซึ่งจะถูกนำมาคิดลดคะแนนในตอนจบกระดานด้วย

สำหรับผู้สนใจ สามารถดูได้จากคลิปใต้คอลัมน์นี้ จะเห็นภาพและเข้าใจเรื่องการกินขั้นบันไดได้อย่างชัดเจน

Advertisement

ผมนึกถึงรูปหมากแบบการจับกินขั้นบันไดนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ทันทีที่ได้เห็นข่าวเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่า มาตรา 128 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ได้เพิ่มหลักเกณฑ์มากกว่าและต่างไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นเหตุให้การคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะได้ผลลัพธ์ไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมานี้

คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินนี้ จริงๆ แล้วเป็นประเด็นหนึ่งในคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสูตรการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยในประเด็นใกล้เคียงกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นในคำสั่งยกคำร้องว่า กกต.ไม่มีอำนาจขอให้ศาลพิจารณาว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้บัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคำร้องตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ได้แก่การใช้สิทธิโต้แย้งทางศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1)

แต่เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้มาร้องเสียแล้ว ก็เป็นอันว่าเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ

“คำถาม” ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนั้นไม่ใช่การถามว่า จะให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแบบไหนถึงจะถูกต้องด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เป็นคำถามที่ต้นทางเลยว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดสูตร ที่ให้คนตีความเป็นสมการกันได้สองสามทางนี้ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

“คำตอบ” ของศาลรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นไปได้สองทาง คือ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทางใดทางหนึ่ง แล้วเช่นนี้ ส่วนผลของมันเป็นอย่างไร ขอให้ค่อยๆ คิดไปตามลำดับดังนี้

ก่อนอื่น ขอให้ตั้งต้นด้วยการทดรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ไว้ในใจก่อน

มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “…ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว…”

ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายในเงื่อนไขดังกล่าว คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 ดังนั้น กรอบระยะเวลา 150 วันนี้ จึงจะสิ้นสุดในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หรือพูดง่ายๆ คือ ในวันพฤหัสฯหน้านี้แล้ว

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้แล้วจะเกิดผลอย่างไร แต่การที่ไม่อาจดำเนินการเลือกตั้งได้ในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็น่าจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งจะต้องเสียเปล่าหรือเป็นโมฆะเพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น

ดังนั้น เพื่อให้ประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในวันดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็น่าที่จะต้องประกาศออกมาให้ได้อย่างช้าก็วันที่ 8 พฤษภาคม เพื่อให้รู้ว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้นมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่ได้ในกรอบเวลาดังกล่าวก็คงจบกันง่ายๆ ว่าประกาศผลการเลือกตั้งไม่ทันกำหนดระยะเวลา ไม่ว่ากฎหมายเลือกตั้งจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอยู่ในกรอบเวลานี้ ก็มีข้อพิจารณาไปสองทาง

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวนั้น “ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” แล้ว เท่ากับว่า ไม่มีกฎหมายรับรองวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็อาจเท่ากับว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นภายใต้ “กติกา” การคิดคะแนนที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น และไม่สามารถจะคิดคำนวณผล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อออกมาได้ เพราะแม่บทที่ว่าด้วยการคิดคะแนนนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยที่ยากจะมีการแก้ไขในทางใดได้ด้วย เพราะต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเร็วแค่ไหนก็ตาม แต่ภายในเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ ไม่มีทางที่จะตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อแก้ไขความมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นได้ทันแน่

ที่สุด ในเมื่อไม่สามารถคิดคะแนนกันได้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ก็เท่ากับไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งในที่สุด

หนทางต่อมา หากว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ดำเนินกระบวนการคิดคะแนนและจัดสรรปันส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กันต่อไปภายใต้กติกาเดิมแล้ว จะไปเจอขั้นบันไดอะไรต่อไป

เราก็คงต้องลุ้นเอาว่า รอบนี้ กกต.ท่านจะคิดคำนวณและประกาศผลออกมาได้หรือไม่อย่างไร เพราะในเมื่อมีเวลาตั้งสามสี่เดือน นับแต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ท่านยังไม่สามารถคิดสูตรได้เลย แล้วเวลาเหลืออีกไม่กี่วัน แม้ว่าท่านจะประกาศเปิดรับศึกษาทุกสูตรที่มีคนคิดได้แล้ว ก็จะรับประกันได้หรือไม่ ว่าท่านจะสามารถ “คำนวณ” จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้ออกมาได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งเรายังไม่นับสถานการณ์ที่สุดโต่งแต่ก็มีผู้หวั่นใจ คืออาจจะมีกรณีที่ท่านจนแต้มหรือน้อยใจ ก็เลยขอลาออกจากการเป็นผู้คุมกฎบริหารการเลือกตั้ง อาจจะบางคนหรือยกชุดทั้งคณะ ก็จะทำให้เกิดความพังพินาศอีกแบบที่สุดจะคาดเดาได้

ทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้กรอบเวลาวันที่ 9 พฤษภาคมที่งวดเข้ามาเรื่อยๆ แต่อันที่จริงแล้ว การนับว่า การสิ้นสุดระยะ 150 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 นี้นับเมื่อไร ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วนักกฎหมายอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเห็นตรงกันว่า คำว่าจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย

แต่ก็มีบางความเห็นเช่นกันว่า ระยะเวลาประกาศผลการเลือกตั้งนี้ ไม่รวมอยู่ในกำหนดระยะเวลา 150 วัน ก็แล้วใครเล่าจะให้คำตอบได้ว่าตกลงระยะเวลานี้จะสิ้นสุดเมื่อใด ผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจในเรื่องนี้อาจจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะไป “ถามศาล” ก่อนที่มูลคดีหรือปัญหาจะเกิดนั้นก็ไม่ได้ จะต้องรอให้มีปัญหาเกิดขึ้นจริงก่อน จึงจะส่งคำร้องไปศาลได้

แต่ถ้ารอให้ถึงตอนนั้นก็คือเมื่อพ้นเวลาข้างต้นไปแล้ว หากศาลท่านว่าระยะเวลา 150 วันนั้นรวมวันประกาศผลการเลือกตั้งเข้าไปด้วย ก็เท่ากับการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญไปอีก

พูดง่ายๆ ว่า ในทุกทาง โอกาสที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีปัญหาสูญเปล่านั้นมีสูงมาก ไม่ว่าจะพลิกหนีไปทางไหน ก็อาจติดแง่ติดมุมที่จะมีปัญหาได้เรื่อยๆ เหมือนกับรูปหมากการกินขั้นบันไดในเกมหมากล้อมที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้

และหากมองภาพให้กว้างออกไปถึงเกมการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งในภาพรวม ก็เหมือนกับการเล่นหมากล้อมกระดานใหญ่ ที่มีผู้เล่นฝ่ายหนึ่งที่ต้องการสืบทอดอำนาจของผู้ทำรัฐประหารมีแต้มต่อมากมาย สร้างรูปหมากกับดักไว้ได้เองตามจุดต่างๆ ออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดกติกาการเลือกตั้งได้เอง แต่งตั้ง ส.ว.ไว้รอประแป้งแต่งขึ้นเป็นนายกฯไว้ล่วงหน้าได้ค่อนสภา วางรูปเกมไว้ล่วงหน้าว่ากระดานนี้ถูกจัดขึ้นมาเพื่อให้เขาชนะเท่านั้น บีบกลายๆ ให้ฝ่ายตรงข้ามจะต้องวางหมากลงในจุดที่มีแต่จะเสียเปรียบ จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง เพื่อให้ผู้นำของฝ่ายสืบทอดอำนาจสามารถ “อยู่ต่อ” เพื่อจะได้อวดอ้างว่าตนชนะในเกมนี้แบบมีคู่แข่ง ไม่ใช่เล่นเองเป็นแชมป์เองเหมือนที่ผ่านมา

ถึงกระนั้น การจับกินแบบขั้นบันไดที่ปิดทางหนีจนเหมือนจะสิ้นหวังทุกประการก็ยังมีจุดอ่อนช่องว่างอยู่ คือถ้ามีหมากสักตัวของฝ่ายหนีวางขวางเส้นทางขั้นบันไดที่วางไว้ หมากฝ่ายหนีจะเดินไปเชื่อมหมากโดดเดี่ยวตัวนั้น หนีออกไปจากกับดักที่เหมือนไม่มีทางออกนั้นได้ และกลุ่มหมากค่ายกลขั้นบันไดที่วางไว้แยบคาย ก็จะกระจัดกระจายกลายเป็นกลุ่มหมากแตกกระจายที่อ่อนแอจนโดนพลิกเกมกลับมาได้

เพราะเมื่อต้องเล่นในเกมเลือกตั้ง ผู้ชี้ขาดคือ “ประชาชน”

และจะเป็นประชาชนนั้นเองที่อาจจะกลายเป็นตัวหมากพลิกเกมได้ แม้ว่าอาจจะมีหลายคนชอบพูดชอบปรามว่า อย่าเที่ยวเอาตัวลงไปเป็นเบี้ยเป็นหมากในเกมการเมือง

แต่หากเรื่องนี้เป็น “หมากล้อม” มิใช่ “หมากรุก” เราอาจจะเป็นตัวหมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นเบี้ย หลายครั้งในเกมหมากล้อมที่ทั้งกระดานมาตัดสินแพ้ชนะกันเพียงครึ่งแต้มเพราะหมากตัวเดียว

หมากเพียงเม็ดเดียวที่วางพอเหมาะพอดีในจุดชี้เป็นชี้ตาย ก็อาจพลิกสถานการณ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนเช่นผู้ตะกลามสวาปามอำนาจ ก็อาจจะตายเพราะข้าวเม็ดเดียวหลุดลงไปติดในหลอดลมเช่นนั้น

ท่านผู้อ่านที่สนใจ สามารถสแกน QR Code นี้ เพื่อดูคลิปประกอบเกี่ยวกับการจับกินแบบขั้นบันไดในเกมหมากล้อมได้ จากช่อง “ห้านาทีกับหมากล้อม” ใน YouTube

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image