เดินหน้าชน : เข้าโหมดท้องถิ่น : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมพวกพ้อง ประสบความสำเร็จอย่างสูงประเดิมสนามเลือกตั้งระดับประเทศครั้งแรกเมื่อ 24 มี.ค.62 กวาด 30 ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อที่คาดว่าจะได้อีก 50 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคใหญ่อันดับสาม

ช่วงระหว่างการหาเสียงตามเวทีจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าธนาธรจะไปพูดที่ไหน ตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน กลางและที่ใต้ นอกจากหาเสียงช่วยผู้สมัครแล้ว ยังพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในแบบฉบับของพรรคอนาคตใหม่ โดยเชื่อศักยภาพของแต่ละท้องถิ่นที่ควรได้บริหารโครงการใหญ่พร้อมกับเม็ดเงิน ไม่ใช่รอให้ส่วนกลางเคาะงบมาให้ รวมทั้งการทอนอำนาจการคุมท้องถิ่นจากส่วนกลางให้ได้บริหารกันเองมากขึ้น จึงจะเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง

เมื่อเทียบเดินเวลาของการเมืองแล้ว ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในเดือนมิถุนายนนี้ ก่อนจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งท้องถิ่น ประเดิมทยอยเลือกตั้งกันไปทั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 76 จังหวัด กันก่อน

ธนาธรได้ตอกย้ำถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดว่า “เมื่อใดที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคจะส่งผู้สมัครลงไปทุกจังหวัด ทั้งระดับ อบต. อบจ. และนายกเทศมนตรี เพื่อเราจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่เราได้เขย่าการเมืองระดับประเทศไปแล้ว และผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ จะเดินไปบอกกับประชาชนว่า แต่ละจังหวัดในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้างและจะใช้งบ หรือจัดสรรงบที่ได้มาอย่างไร ถ้าเราทำแบบนี้ได้ก็จะสามารถเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นได้ หมดเวลาแล้วกับการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ตอบสนองชีวิตของประชาชน ส่วน ส.ส.ของพรรคที่อยู่ในสภา จะเข้าไปผลักดันอำนาจให้กลับคืนไปสู่ท้องถิ่น เราจะทำให้ดูว่าประชาธิปไตยกินได้จริงๆ”

Advertisement

เป็นที่น่าจับตาว่า ปรากฏการณ์ “เขย่า” การเมืองท้องถิ่น จะเกิดขึ้นระลอกสองกับอนาคตใหม่อีกหรือไม่ เมื่อดูแนวโน้มแล้ว รวมทั้งความมั่นใจของแกนนำ มีโอกาสสูงที่ “อนาคตใหม่” จะได้นักการเมืองท้องถิ่นของตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศได้เช่นกัน

หากนับ อปท.ทั้ง อบจ. 76 แห่ง เทศบาล 2,442 แห่ง และ อบต. 5,332 แห่ง รวมกับการเลือกตั้ง อปท.รูปแบบพิเศษ ทั้ง กทม.และเมืองพัทยา จะมี อปท.ทยอยเลือกกันทั้งหมด 7,852 แห่ง

ประกอบกับผลการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาของพรรคใหญ่ พรรคกลาง ที่เป็นที่นิยมทั้งพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย เป็นต้น ส่วนพรรคที่เคยยิ่งใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ ลดคะแนนนิยมลงไป กำลังมีการ “ผลัดใบ” เกิดขึ้นในส่วนของหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคที่พร้อมจะขับเคลื่อนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

Advertisement

หลายพื้นที่ในท้องถิ่นที่แต่ละพรรคเคยมีฐานเสียงความนิยมอยู่ โดยเฉพาะ อบจ. หากเป็นเรื่องการแข่งขันกัน หลายพรรคต่างต้องทำงานหนักกันมากขึ้น ภาพรวมของการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาเป็นตัวชี้วัดบางอย่างถึงการแข่งขันในระดับท้องถิ่นอย่างดี คนลงคะแนนเสียงก็ยังเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเหมือนเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งทำหน้าที่ผู้แทนท้องถิ่นก็เชื่อได้ว่า จะมี “คนรุ่นใหม่” ลงประชันอุ่นหนาฝาคั่ง คะแนนเสียงของผู้สมัครบางคนที่มีอยู่จำนวนมากเพียงแต่พลาดชัยชนะจากเลือกตั้งใหญ่ อาจจะเป็นตัวเลือกให้ลงชิงชัยได้ต่ออีกเช่นกัน

ส่วนพรรคการเมืองคงรัดกุมหรือระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้นในการคัดตัว “ผู้สมัคร” เนื้อหาของกฎหมายท้องถิ่นล้วนเข้มข้นขึ้น การมิให้นายก อปท. คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นห้ามเป็นคู่สัญญาที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ อปท.เข้าข่ายต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์แก่กัน ทั้งการรับเหมา การมีกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดจ้างทุกรูปแบบ ฯลฯ

เรื่องเหล่านี้ที่ผ่านมามักเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ในสนามท้องถิ่น ถูกเช็กบิลไปก็มาก

ดังนั้น การที่พรรคอนาคตใหม่และน่าจะมีพรรคอื่นๆ ด้วยที่จะเน้นการกระจายอำนาจให้อยู่ในมือท้องถิ่นมากขึ้นเช่นกัน คงต้องสกรีนกันให้ดีที่สุด เพราะเห็นเป็นตัวอย่างแล้วว่า นโยบายดีๆ ที่นำเสนอเป็นที่พอใจของประชาชน ย่อมมีโอกาสเป็นที่ “ถูกใจ” จึงต้องอย่าให้ “เสียของ” ในส่วนของผู้สมัครอย่างเด็ดขาด

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image